xs
xsm
sm
md
lg

ส่องโอกาส 'Huawei' ในวันที่ตลาดโลกไม่เป็นใจ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดิมในปี 2020 นี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ หัวเว่ย (Huawei) เคยวางเป้าหมายในกลุ่มธุรกิจสมาร์ทโฟนว่าจะต้องขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกให้ได้ แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จะสามารถชิงส่วนแบ่งในจังหวะที่แบรนด์อื่นได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นมาเป็นผู้นำได้

แต่กลายเป็นว่าในไตรมาสล่าสุด เมื่อกำลังการผลิต และกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มกลับมา หัวเว่ย ที่ปัจจุบันมีตลาดหลักอยู่ในจีนนั้น มีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเติบโตที่ถดถอยลง

สถานการณ์ของหัวเว่ย ในตลาดโลกนั้นไม่สู้ดีมาตั้งแต่การประกาศสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ ทำให้ทางสหรัฐฯ ออกมาสั่งแบนไม่ให้ทำธุรกิจร่วมกับหัวเว่ย ภายใต้ข้อโจมตีเรื่องการร่วมมือกับรัฐบาลจีนล้วงข้อมูลของผู้ใช้งานในต่างประเทศ จากการส่งข้อมูลการใช้งานทั้งอุปกรณ์โครงข่าย และสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ กลับไปที่ประเทศจีน ซึ่งทางหัวเว่ยได้ออกมาพิสูจน์แล้วว่าข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นความจริง

อย่างไรก็ตาม จากการสั่งแบนดังกล่าวทำให้ธุรกิจของหัวเว่ย ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งการที่โอเปอเรเตอร์ในสหรัฐฯ และยุโรปหลายๆ ประเทศเลิกสั่งอุปกรณ์โครงข่ายจากหัวเว่ยไปติดตั้งใช้งาน ทั้งๆ ที่ปัจจุบันหัวเว่ย ถือเป็นผู้นำในตลาด 5G อย่างเห็นได้ชัด ประโยชน์จึงมาตกกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทำให้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์โครงข่าย 5G และนำมาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้แล้ว โดยเฉพาะในประเทศไทย


จุดสำคัญที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และหัวเว่ย ได้รับผลกระทบในตลาดโลกมากที่สุด คือการที่สหรัฐฯ บีบไม่ให้หัวเว่ย ใช้งานบริการต่างๆ ของกูเกิล ที่เรียกรวมๆ ว่า Google Mobile Service (GMS) ไม่ว่าจะเป็น YouTube Gmail รวมถึง Maps และบริการอื่นๆ ที่เป็นของกูเกิล จะไม่สามารถติดตั้งแบบบันเดิลมาให้ใช้งานบนสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย

แนวทางแก้ไขของหัวเว่ยที่เกิดขึ้นคือการพัฒนา Huawei Mobile Service ขึ้นมาให้ผู้บริโภคใช้งานแทน เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศจีนไม่มีการใช้งานกูเกิลอยู่แล้ว ก็มีบริการอื่นๆ เข้ามาทดแทน เพียงแต่ว่าในการใช้งานของผู้บริโภคในต่างประเทศนั้นอยู่กับบริการของกูเกิลมาโดยตลอด เมื่อไม่มี GMS จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดปัญหาและเลือกที่จะไม่ใช้งาน

โดยเห็นได้จากรายรับของหัวเว่ยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเติบโตขึ้นราว 9.9% แม้ว่าจะยังรักษาการเติบโตได้อยู่ หลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด-19 แต่เมื่อเทียบกับการเติบโตในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 24% นั้น ถือว่าหัวเว่ย เติบโตลดลงอย่างชัดเจน

ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกนั้น ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา หัวเว่ย ขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ด้วยส่วนแบ่งราว 20% ในขณะที่ซัมซุง ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดลดลงไม่ถึง 20% แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในช่วงไตรมาส 3 ซัมซุง สามารถกลับขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดได้แล้ว

ความแข็งแกร่งในตลาดสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย เกิดขึ้นจากยอดขายสมาร์ทโฟนในจีน ที่หัวเว่ย มีส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้น 51% ทำให้ในช่วงไตรมาส 2 ที่ตลาดจีนฟื้นตัวกลับมา ช่วยผลักดันให้หัวเว่ยขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้ แต่เมื่อสถานการณ์โดยรวมทั่วโลกดีขึ้น ซัมซุง ก็กลับมาทวงตำแหน่งผู้นำอีกครั้ง

ความกดดันของหัวเว่ย ยังไม่หมดไป เพราะการที่โดนกีดกันจากสหรัฐฯ ทำให้บริษัทต่างชาติยุติการทำการค้ากับหัวเว่ย โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนชิปเซ็ตสมาร์ทโฟน ทำให้ปัจจุบัน หัวเว่ย เหลือชิ้นส่วนหน่วยประมวลผลที่สามารถนำมาผลิตเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เพื่อวางจำหน่ายในปี 2021 ได้เพียงราว 50 ล้านเครื่องเท่านั้น จากที่คาดการณ์ว่าในปีนี้จะขายสมาร์ทโฟนได้ราว 190 ล้านเครื่อง ลดลงจากปี 2019 ที่จำหน่ายสมาร์ทโฟนได้กว่า 240 ล้านเครื่อง


หนึ่งในแนวคิดที่เกิดขึ้น และมีโอกาสทำให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย กลับมาเติบโตในตลาดต่างประเทศอีกครั้ง คือการที่หัวเว่ย อาจขายสมาร์ทโฟนแบรนด์ Honor ให้นักลงทุนในต่างประเทศ และมุ่งนำเทคโนโลยีของหัวเว่ย มาใช้กับ Honor ที่ไม่ได้กีดกันทางการค้าแทน กับอีกแนวทางคือการมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ของตัวเองต่อไป

***ผู้นำเทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟน


ความเคลื่อนไหวล่าสุดของหัวเว่ย คือการเปิดตัวสมาร์ทโฟนในตระกูล Mate 40 ซีรีส์ พร้อมกับนำเสนอนวัตกรรมของหัวเว่ย ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะชิปเซ็ต Kirin 9000 ซึ่งเป็นชิปเซ็ตที่ผลิตขึ้นบนสถาปัตยกรรมแบบ 5 นาโนเมตรรุ่นแรกที่มาพร้อมกับการเชื่อมต่อ 5G

ในจุดนี้ Kirin 9000 ได้ออกมาแสดงศักยภาพด้วยตัวเลขจำนวนทรานซิสเตอร์ประมวลผลที่อยู่ในชิปกว่า 15,300 ล้านตัว แซงหน้าชิป Apple A14 Bionic ของแอปเปิลที่ผลิตบนสถาปัตยกรรมแบบ 5 นาโนเมตรเช่นเดียวกัน แต่มีจำนวนทรานซิสเตอร์อยู่ที่ 11,800 ล้านตัว

แน่นอนว่าชิปเซ็ต Kirin 9000 ที่เปิดตัวในปีนี้ จะเป็นหน่วยประมวลผลหลักในการทำตลาดสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยในช่วงปี 2021 ในกรณีที่หาผู้ผลิตชิปเซ็ตสมาร์ทโฟนเพิ่มได้ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในคำสั่งแบน หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ




อีกนวัตกรรมที่หัวเว่ย นำเสนอคือเรื่องของกล้องถ่ายภาพดีไซน์ใหม่อย่าง Space Ring Design ด้วยการนำกล้อง 5 เลนส์มาใช้งาน ประกอบไปด้วย กล้องหลัก Ultra Vision Camera ความละเอียด 50 ล้านพิกเซล กล้องมุมกว้าง Ultra Wide Cine Camera กล้อง Telephoto 12 ล้านพิกเซล ใช้งานคู่กับกล้องซูม SuperZoom Camera 8 ล้านพิกเซล พร้อมเซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุแบบ 3 มิติ มาช่วยในการโฟกัส

จะเห็นได้ว่าการพัฒนากล้องของ Mate 40 ซีรีส์ จะเน้นที่การถ่ายวิดีโอให้ดียิ่งขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ สมาร์ทโฟนของหัวเว่ย ได้รับการยอมรับว่าเป็นสมาร์ทโฟนถ่ายภาพนิ่งที่ดีที่สุดในโลกไปแล้ว การปรับปรุงกล้องให้ถ่ายวิดีโอได้ดีขึ้น จะช่วยผลักดันให้กล้องบน Mate 40 ซีรีส์ ใช้งานโดยรวมได้ดีขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบชาร์จเร็ว 66W และชาร์จไร้สาย 50W ของ Huawei SuperCharge ทำให้สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้รวดเร็วขึ้น มีฟีเจอร์การนำเซ็นเซอร์ 3D ของกล้องหน้ามาใช้ในการตรวจจับการสั่งงานแบบไม่สัมผัสหน้าจอ

โดยรวมแล้ว Mate 40 ซีรีส์ ยังคงเป็นสมาร์ทโฟนที่น่าใช้ เมื่อดูจากนวัตกรรมที่หัวเว่ยนำเสนอมา แต่ด้วยปัจจัยสำคัญอย่าง GMS ทำให้การใช้งานสำหรับผู้ใช้ทั่วไปอาจจะไม่สะดวกเท่าไหร่ หลังจากนี้คงต้องรอดูผลของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับคำสั่งแบนหัวเว่ย หรือไม่ น่าจะเป็นทางออกที่เร็วที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น