ธนาคารไทยโกยรางวัลโอเพ่นซอร์สจากงาน Red Hat APAC Innovation Awards 2020 แท็กทีมครบทั้งธนาคารออมสิน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด และทีเอ็มบี ที่ถูกยกย่องว่าใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สของเร้ดแฮทดำเนินธุรกิจได้น่าสนใจ ด้านเร้ดแฮทการันตีธนาคารส่วนใหญ่กำลังใช้โอเพ่นซอร์สมากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจโทรคมนาคมและภาคการผลิตที่เร้ดแฮทมีโอกาสเติบโตสูง ปัจจัยบวกคือ ระบบมาตรฐานเปิดรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกได้เต็มร้อย ปัดภาวะธนาคารกำไรหดตัวไม่ได้เสริมให้โอเพ่นซอร์สคึกคักกว่าเดิม
นายเบนจามิน เฮนแชลล์ ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเร้ดแฮท กล่าวถึงงาน Red Hat Forum Asia Pacific 2020 ว่าเป็นงานประชุมที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี สำหรับปีนี้ เร้ดแฮทจัดงานในรูปแบบออนไลน์เพราะสถานการณ์โควิด-19 โดยมีการมอบรางวัล Red Hat APAC Innovation Awards เหมือนเช่นทุกปี บทสรุปจากการจัดงานปีนี้คือ สถานการณ์โรคระบาดทำให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและถูกเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างมาก ทำให้แม้จะมีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถดถอย แต่ก็จะมีกระบวนการเร่งที่ทำให้ธุรกิจต้องลงทุนเพื่อขับเคลื่อนดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันมากขึ้น
“การสำรวจพบว่า มูลค่าการลงทุนระบบไอทีไทยปี 2020 จะอยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท ลดลง 9.3% จากปีที่แล้ว แต่การลงทุนในระบบพลับลิกคลาวด์จะยังเติบโต สะท้อนว่าการลงทุนคลาวด์จะอยู่ในแผนของหลายธุรกิจไทย”
เร้ดแฮทยกตัวอย่างภาคการศึกษา ที่ถูกโควิด-19 เร่งให้เกิดการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน เพื่อให้การเรียนการสอนยังทำได้โดยที่ทุกคนไม่ต้องเดินทางมารวมกันที่โรงเรียน ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ต้องการนวัตกรรมที่จะตอบวิถีนิว นอร์มอลได้ ซึ่งซอฟต์แวร์มาตรฐานเปิดหรือโอเพ่นซอร์สอย่างเร้ดแฮทจะช่วยให้ธุรกิจสามารถนำเสนอบริการได้เร็วและทรงประสิทธิภาพ รองรับการเติบโตของธุรกิจได้หลากหลายและยืดหยุ่น
ในฐานะที่เร้ดแฮทเป็นผู้ให้บริการโอเพ่นซอร์สโซลูชัน บริษัทมองว่า 3 อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มนำโอเพ่นซอร์สไปใช้งานมากที่สุดคือ ธุรกิจด้านการเงิน โทรคมนาคม และการผลิต โดยธุรกิจธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทประกันภัยนั้นต้องบริหารจัดการการให้สินเชื่อ การบริหารความเสี่ยง รวมถึงการสร้างบริการใหม่ด้านการเงิน โอเพ่นซอร์สจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้ลูกค้าจำนวนมากได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน โดยตอบโจทย์การสร้างแอปแบบไมโครเซอร์วิส ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำให้ธนาคารพัฒนาระบบขึ้นมาให้บริการได้รวดเร็วทั่วแพลตฟอร์ม ดังนั้น โอเพ่นซอร์สจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินให้บริการบนโลกไฮบริดได้
ด้านบริษัทโทรคมนาคม มีความท้าทายเรื่องการจัดการข้อมูลมากมายบนระบบดิจิทัล ต้องช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงิน เล่นโซเชียล และกิจกรรมอื่น โอเพ่นซอร์สจะช่วยให้บริษัทโทรคมนาคมสามารถประสานระบบงานกับพันธมิตรรายอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ และการเป็นโอเพ่นซอร์สจะทำให้บริษัทสามารถปรับระบบให้ทันสมัยและรับกับเทคโนโลยี 5G ในอนาคตได้ง่าย
“โอเพ่นซอร์สสำคัญมาก เพราะทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เป็นหัวใจของการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันวันนี้”
สำหรับรางวัล Red Hat APAC Innovation Awards ประจำปีนี้ ธนาคารออมสิน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด และทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลด้านการพัฒนาคลาวด์-เนทีฟ ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และด้านโครงสร้างพื้นฐานไฮบริดคลาวด์ คละกันไป โดยนายสราวุธ ณ นคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวางแผนและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารออมสิน ย้ำว่า ภาวะกำไรของธนาคารที่ลดลงไม่ได้เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการใช้งานโอเพ่นซอร์สที่เพิ่มขึ้น
“ตัวเลขกำไรและไอทีเกี่ยวข้องกันน้อยมาก การที่บริษัทนำเอาไอทีมาใช้มักมีจุดประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่าย ธนาคารจึงมีการพัฒนาระบบงานบนโอเพ่นซอร์สอย่างต่อเนื่อง เพราะโอเพ่นซอร์สมีนวัตกรรม รองรับสถาปัตยกรรมไมโคเซอร์วิส มีประโยชน์เรื่องการขยายบริการ เรียกว่าโอเพ่นซอร์สช่วยให้บริการของธนาคารขยายตัวได้”
นายสุทธิกานต์ รุ่งศรีทอง หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ยืนยันอีกเสียงว่า การที่ธนาคารเริ่มใช้โอเพ่นซอร์สมากขึ้นไม่ได้เป็นเพราะเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเพราะใช้แล้วให้บริการแก่ลูกค้าได้ดีขึ้น
นอกจากธนาคารไทยที่ได้รับรางวัล ผู้บริหารเร้ดแฮทย้ำว่า ธนาคารอื่นทั่วอาเซียนที่เป็นผู้ให้บริการรายหลักล้วนใช้งานโอเพ่นซอร์ส เหตุผลที่ทำให้ธนาคารส่วนใหญ่กำลังใช้โอเพ่นซอร์สมากขึ้นคือการเป็นมาตรฐานเปิดนั้นต่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมส่วนใหญ่ เช่น ระบบคลาวด์ ระบบไอโอที และระบบรถขับเคลื่อนตัวเอง ที่สำคัญ การที่คลาวด์โพรไวเดอร์ใหญ่ของโลกล้วนถูกพัฒนาบนโอเพ่นซอร์ส ดังนั้น โซลูชันมาตรฐานเปิดจึงเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดการพัฒนาในหลากหลายอุตสาหกรรม
สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ผู้บริหารเร้ดแฮทมองว่า ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่ง ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสที่จะเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในยุคที่ภาคการผลิตต้องปรับตัวให้เป็นดิจิทัลโดยเร็ว เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ดีกว่าเดิม