ดีแทค ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2563 รายได้รวม 19,053 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,436 ล้านบาท จากการปรับตัวนำลูกค้าเป็นศูนย์กลางรับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล โดยจำนวนลูกค้ายังลดลง 1 แสนหลาย เหลือ 18.7 ล้านราย
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเห็นถึงรูปแบบการปรับตัวใช้งานดิจิทัลที่มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเป็นช่วงหลังจากการผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมแล้วก็ตาม
“ดีแทคกำลังเดินหน้าพัฒนาทางดิจิทัลเพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้าและการทํางานภายในองค์กร ซึ่งสอดคล้องกับธุรกิจต่างๆ ที่มีการปรับตัวไปสู่วิธีการทำงานที่สามารถรองรับในระยะยาว และด้วยแรงผลักดันที่แข็งแกร่งในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล”
ผ่านแนวทางยึดมั่นในจุดยืนที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องต่อความต้องการในสิ่งจําเป็นขั้นพื้นฐานของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และด้วยการที่เราเห็นถึงตลาดผู้บริโภคที่มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/63 ดีแทคมีฐานลูกค้าจำนวนทั้งสิ้น 18.7 ล้านราย ลดลง 107,000 รายในไตรมาสนี้ ซึ่งน้อยกว่าการลดลงในไตรมาสที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ จํานวนลูกค้าที่ลดลงเป็นผลจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าและการแข่งขันที่มีความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความไม่แน่นอนในส่วนของรายได้ แต่ EBITDA margin (normalized) ของผลประกอบการ 9 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 46.8 ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 อันเป็นผลมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่ 3/63 มีมูลค่าจำนวน 1.4 พันล้านบาท
นายดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า แม้ว่าการเติบโตของรายได้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนและสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
“ดีแทค มั่นใจในการบริหารจัดการทางการเงินที่มีวินัย ไตรมาสนี้เป็นอีกไตรมาสหนึ่งที่ดีแทคยังคงไม่เห็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวตลอดทั้งไตรมาส เรายังคงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาบริการเพื่อสร้างประสบการณ์เครือข่ายที่ดีที่สุดแก่ฐานลูกค้าคนไทยพร้อมไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน”
ทั้งนี้ ดีแทคได้ปรับแนวโน้มสำหรับปี 2563 ในส่วนของรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC ในปี 2563 จากตัวเลขติดลบหลักเดียวระดับต่ำ เป็นตัวเลขติดลบหลักเดียวระดับกลาง
ในขณะที่คงแนวโน้มที่เหลือเหมือนเดิม คือ EBITDA ในจํานวนใกล้เคียงปี 2562 และค่าใช้จ่ายลงทุนที่ 8-10 พันล้านบาท ส่วนรายได้จากการให้บริการ ไม่รวมค่า IC มูลค่า 1.44 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.7% จากไตรมาสก่อน และลดลง 7.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน