ดีป้า เปิดแผนงานปีที่ 4 เดินหน้าสร้างคนดิจิทัล ตั้งมหาวิทยาลัยโดรน-เอไอ ตอบโจทย์ความต้องการตลาด พร้อมเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง ชี้ 3 ปีที่ผ่านมา สร้างผลงานไม่เหมือนใคร
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้า กำลังเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งแผนการดำเนินงานจะยังคงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและนำพาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านกลไกส่งเสริมและสนับสนุนที่ถูกพัฒนาขึ้น และคงความเป็นแถวหน้าที่พร้อมทำในสิ่งที่ผู้อื่นยังไม่ริเริ่มดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านมหาวิทยาลัยสู่ยุคดิจิทัล โดยการจัดตั้ง Drone University เพื่อพัฒนาคนให้รู้จักนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ประกอบวิชาชีพ
การจัดตั้ง AI University โดยให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อผลิตบุคลากรตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม การผลักดันเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและไอโอทีในชื่อ dSURE การสร้างแพลตฟอร์มไทยเพื่อคนไทย (National Platform for All) การนำเทคโนโลยี 5G มาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนา Tech Hunting รวมถึง Big Data พร้อมสานต่อการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ
“ดีป้า จะคงความเป็นแถวหน้าด้านการส่งเสริมและพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ตามแนวคิด ‘Premier’ ที่พร้อมทำงานเชิงรุก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนคิดเป็น ทำเป็น และทำได้ อีกทั้งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดีป้า ทำงานสอดประสานกันเป็น “ทีม” โดยมี Think Tank ที่ดำเนินการวิเคราะห์แผนระดับชาติถึงแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การเสนอกฎหมายที่เอื้อต่อระบบนิเวศด้านเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งกำหนดกลยุทธ์และกลไกสำคัญที่ส่งผลให้การดำเนินงานของดีป้า เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัล การยกระดับภาคเศรษฐกิจสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ การขับเคลื่อนชุมชนสู่สังคมดิจิทัล และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับเครือข่ายระดับนานาชาติ
ดีป้า มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” สู่การเป็น “ทุนมนุษย์” (Human Capital) ของประเทศ โดยการส่งเสริมให้เยาวชนไทยเข้าถึงหลักสูตรต่างๆ พร้อมเพิ่มทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (นิวสกิล) ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้าน Coding ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง codingthailand.org และส่งผ่านองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) แก่นักศึกษาจบใหม่ ผู้ว่างงาน รวมถึงผู้ที่ต้องการอัปสกิล-รีสกิลตนเองสู่การเป็นกำลังคนดิจิทัล ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ อีกทั้งมีความพร้อมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป
ขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ “ชุมชน” สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลไปแล้ว 177 ชุมชน โดยสามารถยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้วมากกว่า 137 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านการเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีการผลิตและแปรรูป โดรนเพื่อการเกษตร แอปพลิเคชันสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจให้แก่วิสาหกิจชุมชน เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ด้านการขับเคลื่อนชุมชนสู่สังคมดิจิทัล
ขณะที่ยุทธศาสตร์ด้านการยกระดับภาคเศรษฐกิจสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ดีป้า โดยสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นรับบทเป็น “ทีมลงทุนร่วมสร้าง” สร้างระบบนิเวศด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการดิจิทัลได้พบกัน อีกทั้งร่วมลงทุนและหาตลาดภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับผู้ให้บริการ โดยที่ผ่านมา ดีป้า ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัปสัญชาติไทยไปแล้ว 98 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 6,890 ล้านบาทพร้อมเดินหน้าผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัปไทยสู่ระดับสากล อีกทั้งเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัปไทยเข้าสู่ระดับ Series A แล้ว 4 ราย และมีแผนที่จะสนับสนุนให้เกิด “ยูนิคอร์น” สัญชาติไทยให้ได้ในที่สุด
พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังสร้างมาตรฐานที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้านค้าหาบเร่ แผงลอย ตลาดสด และเกษตรกร สามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ด้วยกลไกต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไปแล้ว 6,407 ราย สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับปีนี้ที่ 4,000 ราย
นายณัฐพล กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อีกทั้งดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น ดีป้า จึงเร่งยกระดับพื้นที่ที่มีความพร้อมจากทั่วประเทศสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตามเกณฑ์ประเมินมาตรฐาน ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทยกระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน รวมถึงการมีส่วนรวมของประชาชนในพื้นที่ในการวิเคราะห์และเฟ้นหาบริการที่เหมาะสมจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัป ก่อนนำมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมามีการประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะแล้ว 40 เมือง และตั้งเป้าที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย จำนวน 100 เมืองภายในปี 2565