xs
xsm
sm
md
lg

กำจัด "E-Waste" ภารกิจที่คนไทยต้องช่วยกัน (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธุรกิจโทรคมนาคม ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste มากที่สุด ทำให้บรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายต่างหันมาร่วมกันรณรงค์การกำจัด E-Waste อย่างถูกวิธีเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

เอไอเอส ในฐานะที่เป็นผู้นำในธุรกิจนี้ จึงไม่สามารถปล่อยให้ E-Waste กลายเป็นปัญหาที่สั่งสมในสังคม จึงได้ออกมาประกาศความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันเดินหน้าโครงการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า แนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้นประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ ที่องค์กรธุรกิจต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไป ประกอบด้วย เรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา ในมุมของเศรษฐกิจ เอไอเอสมีการเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมที่มากระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการปกป้องข้อมูลของลูกค้า และองค์กรธุรกิจ ตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน

ขณะที่ในส่วนของสังคม นอกจากเรื่องของการจ้างงาน ยังมีการทำแคมเปญที่ช่วยเหลือสังคมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของภัยคุกคามดิจิทัลต่างๆ ให้แก่เยาวชนทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์

ในมุมของสิ่งแวดล้อม เอไอเอสได้เริ่มโครงการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีมาตั้งแต่ปี 2016 ในการนำ E-Waste ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการโครงข่าย และการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการรับจากคนไทยทั่วประเทศไปกำจัดอย่างถูกวิธีแล้วกว่า 710 ตัน

เพียงแต่ว่าจำนวนดังกล่าวยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยข้อมูลจากสหประชาชาติ ที่ทำการสำรวจปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์พบว่า ในปี 2019 ที่ผ่านมา มีจำนวน E-Waste ทั่วโลกถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 74.7 ล้านเมตริกตันภายในปี 2030 ขณะเดียวกัน ทวีปเอเชียถือเป็นภูมิภาคที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดกว่า 24.9 ล้านเมตริกตัน 


ประเด็นสำคัญคือ จากจำนวน E-Waste กว่า 53.6 ล้านเมตริกตันในปีที่ผ่านมานั้น มีเพียง 17.4% เท่านั้น ที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป ในขณะที่อีกกว่า 82.6% นั้นไม่สามารถติดตามได้ว่านำไปกำจัดในรูปแบบใด ซึ่งอันตรายจะเกิดขึ้นมากที่สุดถ้ามีการนำขยะเหล่านี้ไปฝังกลบ ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งพื้นดิน และแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ในกรณีที่นำไปเผาอย่างผิดวิธีก็จะเกิดอันตรายต่อสภาพอากาศด้วย

“เอไอเอส ให้ความสำคัญต่อบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมในการใช้ขีดความสามารถของบริษัท การพัฒนานวัตกรรมที่จะมาช่วยจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม เพื่อวางเป้าหมายระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโรคร้อน”

ด้วยการกำหนดนโยบายที่รัดกุมตั้งแต่ภายในองค์กร คู่ค้า รวมไปถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านการวางจุดยืนให้เป็นแกนกลางในการเข้าไปร่วมมือกับพันธมิตรในทุกภาคส่วนนำ E-Waste กลับไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของเอไอเอส มีด้วยกัน 3 ส่วนคือ 1.ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากโทรศัพท์มือถือ 2.ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากอุปกรณ์ภายในสำนักงาน และสุดท้าย 3.ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากอุปกรณ์โครงข่ายต่างๆ

แม้ว่าเป้าหมายในระยะยาวของการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ของเอไอเอส คือการกำจัดขยะแบบไม่ฝังกลบ หรือ Zero Landfill แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีในการรีไซเคิล ทำให้ปัจจุบันมีอุปกรณ์บางส่วนอย่างสายไฟเบอร์ออปติก ยังไม่มีวิธีการที่สามารถกำจัดได้ 100% ทำให้ต้องรอการพัฒนานวัตกรรมมาช่วยให้สามารถกำจัดขยะแบบไม่ฝังกลบได้ ทำให้เอไอเอส เริ่มจากการเข้าไปร่วมกับพันธมิตรเพื่อเป็นส่วนกลางในการรวบรวม และนำขยะที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กลับไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีให้ถูกต้องได้มากที่สุด เริ่มจากในองค์กร กับพนักงานของเอไอเอส และมีแผนที่จะทำกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรอย่างการทำแคมเปญบนแพลตฟอร์มอย่าง TikTok เพื่อส่งเสริมการกำจัด E-Waste ให้ถูกวิธี


นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการเข้าไปร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการให้ความรู้เพิ่มเติมแก่นักศึกษาให้เข้าใจถึงปัญหามลพิษที่เกิดจากการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกวิธี ต่อเนื่องไปถึงการเข้าไปร่วมส่งเสริมกิจกรรมในแต่ละจังหวัด สร้างให้เกิดเป็นจังหวัดปลอดขยะอิเล็กทรอนิกส์

“ในแง่ของการดำเนินงาน เอไอเอสมีการปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากก่อนหน้านี้ที่เปิดประมูลให้แก่ผู้ที่ให้ราคาสูงที่สุดนำไปบริหารจัดการ แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นมาเป็นการเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเสนอแผนในการกำจัดอย่างดีที่สุด เพื่อลดปริมาณของเสียให้ได้มากที่สุด”

***สู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน


ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมคือ อุปกรณ์โทรคมนาคมต่างๆ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา เอไอเอส เริ่มมีการนำพลังงานทดแทนเข้ามาใช้งาน

ตั้งแต่การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ตามสถานีฐาน และดาต้าเซ็นเตอร์ โดยปัจจุบันมีสถานีฐานที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วกว่า 1,000 แห่ง พร้อมตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 6,000 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์จากปัจจุบันที่มีอยู่ 9 แห่ง ได้ทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 2 แห่ง

“การที่ปัจจุบันต้นทุนของพลังงานทางเลือกยังสูงอยู่ทำให้การลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานที่แห่งใหม่ ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนของเดิมที่มีอยู่ แต่เชื่อว่าในอนาคตถ้าต้นทุนต่ำลงก็มีโอกาสที่จะขยายการใช้พลังงานทางเลือกในปริมาณที่มากกว่านี้”


อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญคงหนีไม่พ้นการที่รัฐบาลจะเข้ามาร่วมผลักดันให้เกิดการนำพลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทนมาใช้งาน เพื่อสนับสนุนการนำพลังงานสะอาดมาใช้ที่จะช่วยเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ประเทศด้วย

ที่ผ่านมา เอไอเอสได้เริ่มปรับการใช้พลังงานในสถานีฐานในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์ทำความเย็น จากเครื่องปรับอากาศ มาเป็นพัดลม เพื่อช่วยลดทอนของเสีย รวมถึงปรับกระบวนการในการคัดเลือกอุปกรณ์ที่คำนึงถึงเรื่องการกินไฟมากยิ่งขึ้น พร้อมกับปรับเปลี่ยนการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ไปใช้งานคลาวด์ที่ใช้พลังงานน้อยลงด้วย

***E-Waste แลก AIS Points

ทั้งนี้ ในส่วนของการกระตุ้นให้ผู้บริโภครับรู้ได้เร็วที่สุดคือ การนำแคมเปญทางการตลาดมาใช้ เพื่อให้สิทธิพิเศษแก่ลูกค้าที่ใช้งาน ด้วยการเปลี่ยนขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นคะแนน AIS Points โดย E-Waste 1 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ หูฟัง และเพาเวอร์แบงก์ จะได้รับ AIS Points 5 คะแนน โดยแต่ละหมายเลขจะรับ AIS Points ได้สูงสุด 10 คะแนนต่อวัน ตั้งแต่วันนี้-31 ตุลาคมนี้

นอกจากนี้ เอไอเอสยังมีภาคีเครือข่ายทั่วประเทศรวมกว่า 52 องค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ร่วมสร้างการตระหนักรู้ เพื่อร่วมกันลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยด้วย ผ่านจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น