บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN แจงงบ Q2 ลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ระบาดหนัก ช่วง Q2 กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยตรง ลูกค้าใช้ก๊าซธรรมชาติอัดลดลงจากการผลิตที่ชะลอตัว อีกทั้งภาครัฐยังสนับสนุนเชื้อเพลิงดีเซลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อปริมาณการใช้ NGV อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตจากการปรับกลยุทธ์ Diversify ธุรกิจ 3-4 ปีก่อนหน้ากำลังเริ่มผลิบาน บริษัทเตรียมรอเก็บเกี่ยวจากโรงไฟฟ้ามินบู ขนาดกำลังการผลิต 220 MW ซึ่งจะ COD เฟส 2 และ 3 ภายในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ พร้อมทั้งลุยเซ็นสัญญาโซลาร์รูฟท็อป ตั้งเป้า 20 MW ภายในปีนี้ และมุ่งสู่ 110 MW ภายในปี 2565
นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2/2563 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทดีเซล อีกทั้งยังปล่อยให้ราคา NGV ลอยตัว ทำให้ปริมาณการใช้ NGV ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตอกย้ำให้ธุรกิจสถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์และธุรกิจขนส่ง NGV ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้
นอกจากนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังส่งผลให้ลูกค้าในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ชะลอการผลิตลง ทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติอัด หรือ iCNG ลดลงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้เป้ารายได้ที่วางไว้ลดลงเหลือเพียง 150 ล้านบาท จาก 404 ล้านบาทสำหรับครึ่งปีแรก คิดเป็น 37% ด้านธุรกิจยานยนต์ก็ได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เช่นกัน ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถนำรถมินิบัสที่ผลิตจากประเทศจีนเข้ามาทำการตลาดในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาได้ เนื่องจากติดปัญหาในด้านการขนส่ง เพราะรถมินิบัสดังกล่าวถูกส่งออกจากมณฑล Huangshi อยู่ใกล้กับเมือง Wuhun จึงทำให้ต้องชะลอออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินงาน ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อลดต้นทุนในส่วนต่างๆ ลง ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการขายและการบริหารจัดการ (SG&A) ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งในปลายไตรมาส 2 หลังจากสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ภาครัฐปลดล็อกครบทุกเฟส บวกกับโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง บริษัทคาดว่าจะมีผลช่วยดันให้ดีมานด์การใช้ NGV รวมถึงธุรกิจ iCNG ของบริษัทฯ พุ่งสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมีรายได้จากสัญญารับเหมาซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศเชื้อเพลิง NGV 489 คัน ให้แก่องค์การขนส่งมวลชน หรือ ขสมก. ที่ดำเนินงานร่วมกับบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งสัญญายังเหลืออีก 8 ปี จึงทำให้บริษัทยังคงมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์ COVID-19 แต่ยังสามารถตอบโจทย์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลประกอบการจากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดกาฬสินธุ์ยังทำได้ดีกว่ากว่าที่คาดการณ์ไว้
ทางด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เนื่องจากรัฐบาลพม่าจ่ายเงินล่าช้าออกไป จึงทำให้ต้องปรับการรับรู้รายได้ในไตรมาสนี้ลดลง เนื่องจากได้รับรายได้จริงน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRIC 12 ถึงแม้ว่าในไตรมาสนี้โครงการฯ จะสามารถจ่ายไฟจริงได้เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 105% โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟได้กว่า 110-120% จากที่ประมาณการไว้ในไตรมาสต่อไป รวมถึงกลับมารับรู้รายได้ตามปกติ และสร้างรายได้ให้บริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังเตรียม COD จากโรงไฟฟ้ามินบู กำลังการผลิต 220 MW จากเฟส 2 ซึ่งจะเริ่มสร้างภายในเดือนสิงหาคมและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 ครบทั้ง 4 เฟส
นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีจากการเริ่ม COD ของโครงการ Solar Rooftop ซึ่งบริษัทเริ่มลงทุนในนามของบริษัท Scan Advance Power (SAP) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จำนวน 5 โครงการในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขนาดกำลังการผลิตกว่า 2.4 MW ทำให้บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากไตรมาสก่อนหน้าสู่ระดับ 3.9 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกของบริษัท และพร้อมลุยเดินหน้าหาลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังได้วางแผนเตรียมเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Private PPA) ให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ 20 MW ภายในสิ้นปีนี้ โดยปรับจากเป้าเดิมที่ 30 MW เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้การเข้าไปทำงานมีความยากลำบาก ทั้งที่ดีมานด์การเติบโตของธุรกิจ Solar Rooftop ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจได้ว่าจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้อย่างแน่นอน จะคาดว่าธุรกิจ Solar Rooftop นี้จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนผลกำไรของบริษัทให้เติบโตยั่งยืนตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมทั้งหมดอยู่ที่ 110 MW ภายในปี 2565 เช่นเดิม
ทั้งนี้ สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 จากที่ภาครัฐยังไม่มีนโยบายการสนับสนุน NGV บริษัทฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยนำธุรกิจพลังงานเข้ามาทดแทนและช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ให้มีสัดส่วนมากขึ้น โดยเมื่อเดือนมิถุนายน บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งผู้ถือหุ้นรายอื่นในบริษัท กรีน เอิร์ธ พาวเวอร์ ไทยแลนด์ จำกัด (GEP) ได้มีการเพิ่มทุนเพื่อใช้สำหรับดำเนินการก่อสร้าง Phase 2 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการเพิ่มทุนเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างในส่วนของ Phase 3 และ Phase 4 ต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาตินั้น บริษัท ได้เตรียมความพร้อมไว้ตลอดสำหรับช่วงใดที่มีโอกาสด้านการลงทุนที่เหมาะสม ก็พร้อมที่จะลุยงานได้อย่างทันทีเนื่องจากเราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านก๊าซธรรมชาติอย่างแท้จริง