ETDA ยุคใหม่พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน ภายใต้พันธกิจ 'Go Digital with ETDA' สร้างมาตรฐานบริการดิจิทัลให้เกิดความน่าเชื่อถือ มั่นใจภายในปี 2565 ประเทศไทยต้องมีมาตรฐานบริการดิจิทัลของตนเอง
'ชัยชนะ มิตรพันธ์' ผู้อำนวยการคนใหม่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อธิบายถึงเป้าหมายสำคัญของพันธกิจ 'Go Digital with ETDA' ว่า นอกจาก ETDA มีหน้าที่หลักคือการส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการแล้ว
อีกภารกิจที่สำคัญคือการกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล และสร้างมาตรฐานบริการด้านดิจิทัลของประเทศไทยให้มีความน่าเชื่อถือ รวมถึงการกำกับดูแลธุรกิจบริการด้านดิจิทัลพัฒนามาตรฐานและกฎหมายด้านดิจิทัล และการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลไอดีเพื่อป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์ด้วย
ปั้น 5 โครงการปูพื้นสู่มาตรฐานดิจิทัล
ในปี 2563 ETDA จึงได้ทำ 5 โครงการสำคัญ เพื่อรองรับพันธกิจดังกล่าวได้แก่
1.โครงการDigital Governance เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นใจ มีกลไกกำกับดูแลที่น่าเชื่อถือผ่านกฎหมายและมาตรฐานสำคัญๆ เช่น ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.Digital ID) รองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลไอดี เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่เชื่อถือได้สะดวกรวดเร็ว และร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจการให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (CA)
รวมทั้งการออกข้อเสนอแนะมาตรฐานแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย ลดความเสี่ยง รวมถึงผลักดันเรื่องระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Meeting ทั้งการออกกฎหมายและมาตรฐานในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยปลดล็อกกฎหมายที่มีอยู่เดิมและช่วยรับรองผู้ให้บริการระบบประชุมเพื่อให้ผู้ใช้เกิดความเชื่อมั่นในระบบที่ใช้งานด้วย นอกจากนี้ ยังได้เปิด Digital Service Sandbox เพื่อทดสอบการใช้นวัตกรรมหรือบริการดิจิทัลใหม่ๆ ให้สอดคล้องข้อกฎหมายหรือมาตรฐานต่างๆ ก่อนการใช้งานจริง
2.โครงการ Speed-up e-Licensing การเร่งเครื่องระบบดิจิทัลในบริการภาครัฐเพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว โดยการพัฒนาบริการของรัฐให้เป็นบริการดิจิทัลผ่านโครงสร้างข้อมูล การออกใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานของภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับบริการดิจิทัลด้วยการตรวจประเมินรับรองระบบสารสนเทศและการใช้บริการ e-Timestamping เพื่อประทับรับรองเวลาของ e-Document
3.โครงการ Digital Transformation ให้ภาครัฐมีระบบดิจิทัลที่มั่นคงปลอดภัยห่างไกลภัยไซเบอร์ด้วยโครงการ Government Threat Monitoring System (TM) เฝ้าระวังภัยไซเบอร์ให้แก่หน่วยงานรัฐ พร้อมเตรียมพัฒนาแพลตฟอร์ม Threat Watch ยกระดับการเฝ้าระวังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงโครงการ Thailand - Commerce Sustainability ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มรายได้ด้วยอี-คอมเมิร์ชอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับเครือข่าย ด้วยการลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพอี-คอมเมิร์ซชุมชนทั่วประเทศ
รวมถึง 4.การพัฒนาหลักสูตรด้านอี-คอมเมิร์ซ เพื่อปูทางความพร้อมให้แก่นักเรียน (ทสรข.) นักศึกษา (มศว, เอแบค) สำหรับป้อนตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล มีการเปิดหลักสูตรออนไลน์เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ได้ผ่านแพลตฟอร์มของ ETDA และสำนักงาน ก.พ. นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันแผนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาให้ทุกภาคส่วน และการเดินหน้าสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย มูลค่าอี-คอมเมิร์ชประเทศไทยและสถิติต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนำไปวางแผนการตลาดและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้
และสุดท้าย 5.โครงการ Stop e-Commerce Fraud ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์เชิงรุกผ่านการนำเครื่องมือ Social Listening มาวิเคราะห์ข้อมูลในโลกออนไลน์ เพื่อนำมาแจ้งเตือนภัยก่อนเกิดเหตุหรือลุกลาม และการจัดอบรมและเสริมสร้างความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่สนใจเพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนด้านไซเบอร์เพิ่มขึ้น
ยกระดับการขับเคลื่อนภารกิจเป็นรูปธรรม
ชัยชนะ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2564 นั้น ETDA ยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ สนับสนุนภารกิจของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ในฐานะเลขานุการ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2562 มาตรา 43 ในการกำหนดยุทธศาสตร์ ทิศทาง รวมถึงนโยบายในการขับเคลื่อนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้เกิดขึ้น และมีความมั่นคงปลอดภัยโดยเฉพาะการเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563-2565 ที่มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2563 นี้
พร้อมจัดการสำรวจวิจัยที่ทำให้มองภาพอนาคตชัดเจนขึ้นสู่การกำหนดนโยบายทิศทางการดำเนินธุรกิจและการทำการตลาด รวมถึงเสริมสร้างทักษะด้านอี-คอมเมิร์ซเพื่อพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุคดิจิทัลไปพร้อมๆ กับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ยกระดับการคุ้มครองโดยการสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับเครือข่ายทำให้การคุ้มครองมีความรวดเร็วขึ้น
ผสมผสานความร่วมมือกับหน่วยงานในเครือข่ายผลักดันการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่พร้อมสนับสนุนการเติบโตของธุรกรรมออนไลน์ 2.การส่งเสริมให้เกิดระบบการบริการอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นช่องทางให้ประชาชน รัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงบริการออนไลน์จากรัฐและเอกชนได้ 3.การพัฒนามาตรฐานและกฎเกณฑ์ เพื่อดูแลความเสี่ยงในการใช้งานเทคโนโลยีพร้อมสร้างความเชื่อมั่นด้วยมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ 4.การสนับสนุนงานวิจัยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ติดตามความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเพื่อให้พร้อมดูแลเมื่อใช้งานในประเทศ และ 5.การพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่การเร่งเครื่องกลไกดูแลธุรกิจดิจิทัลด้วยการจัดทำหลักเกณฑ์กฎหมายมาตรฐานรวมถึงแนวปฏิบัติในการดูแลธุรกิจดิจิทัลและบริการที่สำคัญๆ ก็ต้องเดินหน้าให้เป็นรูปธรรมด้วย ETDA ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการใช้บริการธุรกิจบริการด้านดิจิทัลที่เปิดให้บริการไปแล้ว และกำลังจะเปิดให้บริการเช่นบริการด้าน e-Meeting บริการด้าน Digital ID ด้วยระบบการตรวจประเมินที่มีมาตรฐาน
มีการพัฒนากฎหมายและกลไกกำกับดูแลธุรกิจดิจิทัล โดยต้องมีกฎและกติกาที่ทำให้เกิดความแน่นอนในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีมาตรฐาน มีแนวปฏิบัติหรือคู่มือที่มีลักษณะเป็นเหมือน Soft Law ที่ใช้เป็นแนวทางในการกำกับโดยการกำกับดูแลของ ETDA จะไม่เน้นที่การควบคุมด้วยกฎกติกาแต่จะให้ความสำคัญต่อการดูแลในลักษณะ Friendly Regulator ที่จะคอยส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจดิจิทัลซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหม่หรือยังไม่เกิดขึ้น ให้ก้าวไปด้วยกัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลไม่ให้เกิดความเสี่ยงและต้องมีความน่าเชื่อถือด้วย
นอกจากนี้ ยังต้องมีการเสริมฐานรากแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วมั่นใจปลอดภัยด้วยการพัฒนาแบบจำลองมาตรฐานและแบบจำลองข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานสนับสนุนศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ จัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ Digital Idและe-Signature รวมถึงสร้างความพร้อมความตระหนักแก่บุคลากรภาครัฐผ่านการอบรมด้วย
'ETDA ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2565 ประเทศไทยจะต้องมีภูมิทัศน์ด้านบริการดิจิทัลที่ได้มาตรฐานครบถ้วนเพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงเกิดระบบนิเวศ Digital ID สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อจะนำไปสู่การใช้งาน Digital ID ในวงกว้าง และหน่วยงานรัฐจะต้องมีระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์และระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้มาตรฐานกฎเกณฑ์และการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงของ ETDA ที่จะพาทุกภาคส่วน Go Digital ไปพร้อมกัน'