xs
xsm
sm
md
lg

“พุทธิพงษ์” ชี้ ETDA ต้องกำกับดูแลมาตรฐานดิจิทัล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พุทธิพงษ์” มอบนโยบาย ETDA เพิ่มพันธกิจตรวจสอบและสร้างมาตรฐานดิจิทัล ของประเทศไทย ขณะที่ “ชัยชนะ” ผอ.คนใหม่เผยพร้อมเดินหน้าแผนขับเคลื่อนดิจิทัลเป็นรูปธรรม คาดภายในปี 2565 ต้องมีบริการดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า พันธกิจที่สำคัญของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ต้องทำและไม่เคยทำมาก่อนคือการทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับอุปกรณ์ดิจิทัล เนื่องจากอุปกรณ์ดิจิทัลเป็นอุปกรณ์ที่ไม่เหมือนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์โทรคมนาคม ที่ทั้ง 2 อุปกรณ์นี้มีกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรฐาน ม.อ.ก. ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการตรวจสอบอยู่

ETDA ต้องมีการตั้งทีมงานขึ้นมาตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ ทั้งเรื่องอุปกรณ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์ หากเอไอ หรือบล็อกเชน มีปัญหา ต้องสามารถตรวจสอบได้ แม้ว่า ETDA จะไม่ใช่หน่วยงานตำรวจไซเบอร์ที่มีอำนาจในการจับ แต่ ETDA สามารถตรวจสอบ แจ้งเตือน และหาพันธมิตรในการทำงานเพื่อสร้างมาตรฐานร่วมกัน ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนด้วย ซึ่งประเทศไทยควรมีมาตรฐานดิจิทัลเป็นของตนเอง เหมือนต่างประเทศที่แต่ละประเทศก็มีมาตรฐานของตนเอง เวลาต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยก็ต้องดำเนินการตามมาตรฐานของประเทศไทยเช่นกัน


ด้าน นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า นโยบายและแผนการดำเนินงานก้าวต่อในปี 2564 ETDA จะเดินหน้าดำเนินงานผ่าน 3 โครงการที่จะยกระดับการขับเคลื่อนจากปี 2563 ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ 1.การนำการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศผ่านแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน พร้อมผลักดันแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมให้ทุกภาคส่วนนำไปกำหนดแนวทางการพัฒนาในทิศทางเดียวกัน พร้อมจัดการสำรวจวิจัยที่ทำให้มองภาพอนาคตชัดเจนขึ้นสู่การกำหนดนโยบายทิศทางการดำเนินธุรกิจและการทำการตลาดรวมถึงเสริมสร้างทักษะด้านอีคอมเมิร์ซเพื่อพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุคดิจิทัลไปพร้อมๆ กับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ยกระดับการคุ้มครองโดยการสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับเครือข่ายทำให้การคุ้มครองมีความรวดเร็วขึ้น

2.การเร่งเครื่องกลไกดูแลธุรกิจดิจิทัลด้วยการจัดทำหลักเกณฑ์กฎหมายมาตรฐานรวมถึงแนวปฏิบัติในการดูแลธุรกิจดิจิทัลและบริการที่สำคัญๆ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการใช้บริการธุรกิจบริการด้านดิจิทัลที่เปิดให้บริการไปแล้วและกำลังจะเปิดให้บริการ เช่น บริการด้าน e-Meeting บริการด้าน Digital ID ด้วยระบบการตรวจประเมินที่มีมาตรฐาน และ 3.การเสริมฐานรากแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วมั่นใจปลอดภัยด้วยการพัฒนาแบบจำลองมาตรฐานและแบบจำลองข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานสนับสนุนศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ Digital ID และ e-Signature สร้างความพร้อมความตระหนักแก่บุคลากรภาครัฐผ่านการอบรมพร้อมให้บริการเฝ้าระวังตอบสนองและจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ให้แก่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและบริการออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ

“จากการดำเนินงานข้างต้น ETDA ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2565 ประเทศจะต้องมีภูมิทัศน์ด้านบริการดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน หรือ Digital Services Landscape ที่ครบถ้วนเพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงเกิดระบบนิเวศ Digital ID หรือ Digital ID Ecosystem สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อจะนำไปสู่การใช้งาน Digital ID ในวงกว้างและหน่วยงานรัฐจะต้องมีระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service และระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-office” นายชัยชนะ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น