xs
xsm
sm
md
lg

กรมบังคับคดี-บสย. ยกระดับความร่วมมือ รับ-ส่งข้อมูลบุคคลล้มละลายอิเล็กทรอนิกส์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมบังคับคดี ลงนามร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ในการบันทึกความตกลงการรับ-ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสะดวกรวดเร็วของการรับส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดการใช้เอกสาร และคำนึกถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี และนายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ รองผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สายงานปฏิบัติการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมลงนามบันทึกความตกลงการรับ-ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างกรมบังคับคดี กับ บสย. โดยมี นายฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานสารสนเทศและดิจิทัล บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรมบังคับคดี และ บสย. เข้าร่วมในพิธีลงนาม ณ ห้องประชุมคชสาร 2 ชั้น 3 อาคารกรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563

นายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ รองผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สายงานปฏิบัติการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า การลงนามบันทึกความตกลงการรับ-ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างกรมบังคับคดี กับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในวันนี้จะเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับการพัฒนาและต่อยอดความร่วมมือ ซึ่งเห็นความสำคัญของข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลล้มละลาย และการรับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับบุคคลล้มละลาย ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถเปิดเผยได้ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา และกรมบังคับคดีได้มีการเผยแพร่ข้อมูลของบุคคลล้มละลายเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์กรมบังคับคดีได้อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งในปี 2561 กรมบังคับคดีได้เปิดโอกาสให้ บสย.ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน นับเป็นโครงการความร่วมมือครั้งแรกร่วมกัน

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการทำงานเชิงรุก ทันสมัยตอบโจทย์ในยุคดิจิทัล การสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน โดยคำนึกถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่างกรมบังคับคดี และ บสย. ตอบโจทย์การทำงานที่สะดวกรวดเร็วของการรับส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดการใช้เอกสาร และยังเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้มีความรวดเร็วขึ้น เป็นการส่งเสริม สนับสนุนภารกิจของกรมบังคับคดี และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ตรงตามวัตถุประสงค์ 3 ข้อคือ 1.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม 2.เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับบรรดาเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายและประชาชนทั่วไปจากการจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ 3.เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการรับส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดการใช้เอกสาร อันเป็นการบูรณาการและสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน


กำลังโหลดความคิดเห็น