xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผน ‘มรกต’ ทำไมทีโอทีต้องรุกธุรกิจดาวเทียม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีโอทีจับมือมิวสเปซ หวังเดินหน้าธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ กางแผนเตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้และบุคลากร ชูเป็นผู้ให้บริการเกตเวย์ภาคพื้นดินตลอดจนบริการ Space IDC และ Space Digital Platform ในอนาคต มั่นใจเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำจะเป็น Disruptive Technology ที่จะมาทดแทนอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์มีสายและบริการดิจิทัลรูปแบบอื่นๆ ย้ำหากทีโอทีไม่รีบทำวันนี้ พรุ่งนี้อาจไม่มีที่ยืนในตลาด

หากพูดถึงโครงการท่อร้อยสายใต้ดิน ไฟเบอร์ออปติก หรือเสาสื่อสารโทรคมนาคม หลายคนคงเห็นภาพว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สามารถให้บริการในส่วนไหนอย่างไรได้บ้าง แต่หากพูดถึงธุรกิจดาวเทียม โดยเฉพาะดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit - LEO Satellite) อาจทำให้หลายคนสงสัยว่าทำไมทีโอทีจึงต้องโดดสู่ธุรกิจดาวเทียมและรูปแบบการทำธุรกิจจะเป็นอย่างไร 

“มรกต เธียรมนตรี” รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ฉายภาพให้เห็นถึงความจำเป็นของทีโอทีที่ต้องรุกเข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่เชื่อว่าจะเป็นเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้ ซึ่งหากทีโอทีไม่ตระหนักและเตรียมตัวเข้าสู่ธุรกิจไม่กี่ปีข้างหน้าอาจไม่มีที่อยู่ให้ทีโอทีในตลาดโทรคมนาคมก็เป็นได้


ดาวเทียมวงโคจรต่ำ เป็นดาวเทียมระยะสูงจากพื้นโลกไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร ใช้ในการสังเกตการณ์สํารวจสภาวะแวดล้อม และการถ่ายภาพไม่สามารถใช้งานครอบคลุมบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ได้ตลอดเวลาเพราะมีความเร็วในการเคลื่อนที่สูงแต่จะสามารถบันทึกภาพครอบคลุมพื้นที่ตามเส้นทางวงโคจรที่ผ่านไปตามที่สถานีภาคพื้นดินจะกําหนดเส้นทางโคจรอยู่ในแนวขั้วโลก (Polar Orbit) ดังนั้นดาวเทียมวงโคจรต่ำขนาดใหญ่บางดวงจึงสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเวลาค่ำหรือก่อนสว่างเพราะดาวเทียมจะสว่างเป็นจุดเล็กๆ เคลื่อนที่ผ่านในแนวนอนอย่างรวดเร็ว

โดยปกติแล้วดาวเทียมวงโคจรต่ำ 1 ดวง จะโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 1-2 รอบ แต่ละรอบกินเวลาไม่เกิน 10-30 นาที ดังนั้น หากต้องการให้การบริการที่ต่อเนื่องระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำจะต้องมีปริมาณบนท้องฟ้าที่มากพอในลักษณะ Constellation Satellite และเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็สามารถนำจรวดที่ขนส่งดาวเทียมที่ใช้แล้วกลับมาใช้งานซ้ำๆ ได้หลายครั้งไม่เหมือนในอดีตที่ต้องปล่อยให้เสียไป


ดังนั้น ดาวเทียมวงโคจรต่ำจึงได้เปรียบกว่าดาวเทียมในอดีตทั้งเรื่องการลดต้นทุนและความสามารถในการปล่อยดาวเทียมแต่ละครั้งได้มากกว่า 50 ดวงพร้อมกัน ประกอบกับการแข่งขันเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการเป็นผู้นำกับเทคโนโลยี 5G ที่ผู้ใช้บริการมีความต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทุกแห่ง

ดาวเทียมวงโคจรต่ำจะมีความเร็วในการรับส่งที่ดีกว่าซึ่งจะเห็นได้จากผู้ประกอบการระดับโลกต่างกำลังดำเนินโครงการสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำหลายบริษัท ได้แก่ Starlink มีแผนปล่อยดาวเทียมวงโคจรต่ำ 11,943 ดวง ในปี 2570 ซึ่งความเร็วที่ได้ในการให้บริการจะเร็วกว่าการส่งผ่านสายไฟเบอร์ 50%, OneWeb ปล่อยดาวเทียม 2,622 ดวงที่วงโคจร 1,200 กิโลเมตร, Kuiper (ของอเมซอน) 3,236 ดวงและซัมซุง 4,600 ดวงที่วงโคจร 1,400 กิโลเมตร

***ส่องโอกาสทางธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ

“มรกต” เล่าให้ฟังว่า ทีโอทีมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมครบทุกด้านทั้ง ท่อร้อยสายใต้ดิน เสาสัญญาณสื่อสารโทรคมนาคม และสายไฟเบอร์ออปติก ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญที่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำต้องการ ดังนั้น การจะก้าวไปสู่ธุรกิจดาวเทียมจึงเป็นโอกาสที่ดีของทีโอทีที่จะมุ่งไปสู่บริการ Space IDC และ Space Digital Platform


เนื่องจากเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำและธุรกิจที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในอนาคตจะเป็นลักษณะ Disruptive Technology ที่มีโอกาส อย่างมากที่จะเข้ามาแทนที่การให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทางสายที่มีความยุ่งยากในการติดตั้งและบํารุงรักษา มีต้นทุนสูงสำหรับการสร้างโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกไปยังพื้นที่ห่างไกล รวมถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะมาแทนที่อินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ (IDC) และดิจิทัลแพลตฟอร์มภาคพื้นดิน สำหรับบริการที่ต้องการความรวดเร็วในการรับส่ง (Delay Sensitive Services) หรือดีเลย์ต่ำเช่น Automate Driving, Remote Operation, IoT, Edge Computing

ทีโอทีจึงต้องเริ่มศึกษาพร้อมไปกับการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งแสวงหาพันธมิตรที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นยามนี้ โดยปัจจุบันทีโอทีมีคณะทํางานที่ดําเนินการศึกษาเรื่องนี้อยู่ประกอบไปด้วยผู้บริหาร และพนักงานมากกว่า 50 คน และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทีโอทีมีความพร้อมในการเข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำไม่ว่าจะเป็นการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำแก่ลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร การให้บริการเกตเวย์ภาคพื้นดิน การให้บริการ Space IDC และ Space Digital Platform ในอนาคต

***จับมือมิวสเปซ สร้างความเข้มแข็งธุรกิจดาวเทียม


เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา ทีโอทีได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท มิวสเปซ แอนด์ แอดวานซ์เทคโนโลยี จำกัด โดยเบื้องต้นมีขอบเขตการศึกษาและวิจัยความเป็นไปได้และโอกาสทางธุรกิจในการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ

สําหรับโครงการแรกที่ทีโอทีจะดําเนินการร่วมกับมิวสเปซ คือ โครงการส่งอุปกรณ์จําลองที่สามารถทํางานบน Space Environment โดยทีโอทีได้สร้าง Server Payload ประกอบด้วย Web Server, IoT Platform และ Big Data Device เพื่อการส่งอุปกรณ์ขึ้นไปทดสอบกับ Blue Origin จรวดของบริษัทในเครืออเมซอน ซึ่งได้ผ่านการทดสอบแล้วทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์


ทั้งนี้ ทีโอที ยังให้โอกาสเยาวชนของชาติในโครงการ TOT Young Club ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนโปรแกรมและติดตั้งไปพร้อมกับอุปกรณ์ของทีโอทีเพื่อทําการรันโปรแกรมจริง นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างสรรค์โดยนักเรียนมัธยมไม่ใช่โปรแกรมเมอร์มืออาชีพมีโอกาสรันและทํางาน บนสภาพแวดล้อมอวกาศในจรวด Blue Origin

การทดสอบดังกล่าวขึ้นไปอยู่ในสภาพแวดล้อมอวกาศสูงประมาณ 100 กิโลเมตร จากพื้นโลกโดยแคปซูลที่บรรจุ Server Payload จะถูกปล่อยออกจากจรวด BlueOrigin และลอยอยู่ในสภาวะอวกาศ ประมาณ10 วินาที จากนั้นจะกลับมาสู่พื้นโลกและข้อมูลการทดสอบจะถูกส่งกลับมาให้ทีโอทีทําการวิเคราะห์ในอีก 3 เดือนหลังจากนั้น

ความร่วมมือในโครงการนี้ แม้ยังไม่สามารถสร้างรายได้หรือเป็นการทดลองทำธุรกิจ แต่ทีโอทีจะได้ความรู้และความเข้าใจในหลายส่วนของการปฏิบัติงานจริงของระบบดาวเทียม เช่น การกรอกข้อมูลเชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ การส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทําธุรกิจดาวเทียมของทีโอทีในอนาคตและเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์แก่บริษัทในการให้โอกาสด้านการศึกษาเทคโนโลยีอวกาศแก่เยาวชนอีกด้วย

สำหรับการจัดตั้งสถานีแม่ข่ายรับ-ส่งสัญญานดาวเทียม (Satellite Gateway) หรือเกตเวย์นั้น ทีโอทีอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดตั้ง เพื่อรองรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม VSAT Service ย่านความถี่ Ku-Bandในพื้นที่ห่างไกล เพื่อดูความคุ้มค่าในการลงทุน


นอกจากนี้ ทีโอทีและมิวสเปซมีแผนที่จะทําการทดสอบการให้บริการ Space IDC และ Space Digital Platform เพิ่มเติมโดยจะส่งอุปกรณ์ขึ้นไปกับยานอวกาศ Crew Dragon หรือจรวด Falcon9 ของบริษัท SpaceX ภายในต้นปี 2564 และมีแผนที่จะขยายจํานวนเกตเวย์เพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้งานอินเทอรเ์น็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่างๆ ในอนาคตที่จะมีมากขึ้น

ในส่วนของความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ทีโอทีและมิวสเปซจะมีการแลกเปลี่ยนทัศนะเทคโนโลยีและความรู้ด้านอวกาศรวมถึงการแสวงหาพันธมิตรกับหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น กองทัพอากาศ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้ง GITSDA เพื่อพัฒนาโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำของคนไทยต่อไป

“การเซ็นเอ็มโอยูกับมิวสเปซนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมของทีโอทีซึ่งจะสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดาวเทียม การให้บริการ VSAT Services บนย่านความถี่ KU-Band ระหว่างทีโอที กับมิว สเปซ หากสามารถสร้างฐานลูกค้าได้มากพอจะทําให้เพิ่มอํานาจในต่อรองกับพันธมิตร ผู้ประกอบการโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำระดับโลก เช่น Starlink และ Kuiper ได้ในอนาคตอันใกล้” มรกต กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น