xs
xsm
sm
md
lg

ส่องแนวคิด “เอไอเอส ไฟเบอร์” เมื่อผู้ตามสร้างมาตรฐานใหม่เน็ตบ้านเมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศรัณย์ ผโลประการ
เมื่อมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามากำหนดมาตรฐานให้ตลาดไฟเบอร์บรอดแบนด์ ทำให้ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านกลับมาคึกคักมากขึ้น ผู้ให้บริการแต่ละรายต่างเร่งนำเสนอจุดเด่น และแข่งขันกันทางด้านราคามากขึ้น

การก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ของ เอไอเอส ไฟเบอร์ กลับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ มาเป็นการเติบโตแบบยั่งยืน หลังจากที่ในช่วงสิ้นปี 62 ที่ผ่านมาสามารถกวาดลูกค้าไปได้แล้วกว่า 1 ล้านราย ตามหลังเบอร์3 ในตลาดนี้ไม่ไกลนัก

แนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนของ เอไอเอส ไฟเบอร์ คือการกลับมาโฟกัสในส่วนของคุณภาพมากขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้ถูกคู่แข่งที่เป็นเจ้าตลาดงัดกลยุทธ์การปรับลดราคามาแข่งขัน จนทำให้ทุกฝ่ายเจ็บตัวไปตามๆ กัน

เป้าหมายหลักของ เอไอเอส ไฟเบอร์ในปีนี้ จึงไม่ใช่การเข้าไปกวาดเพิ่มจำนวนลูกค้าให้กลายเป็นผู้นำในแง่จำนวนผู้ใช้งานจากตลาดอินเทอร์เน็ตบ้าน แต่หันกลับมาให้ความสำคัญกับความเร็ว ความสเถียร และความครอบคลุมในการใช้งาน เพื่อทำให้เกิดการเติบโตแบบแข็งแรง

โดยหวังให้เรื่องพื้นฐานเหล่านี้ กลายเป็นมาตรฐานต่อผู้ให้บริการเน็ตบ้านทุกราย ให้ย้อนกลับมามองถึงการนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน คำนึงถึงประสิทธิภาพในการใช้งานเน็ตบ้านได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในบ้านจริงๆ ไม่ใช่แค่ในระยะใกล้จุดกระจายสัญญาณเท่านั้น

ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสจำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส ไฟเบอร์ ขอเริ่มต้นปี 2563 ด้วยการออกมากำหนดมาตรฐานให้แก่เน็ตบ้าน โดยเฉพาะเรื่องของการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1 Gbps ที่ต้องใช้งานได้ทุกจุดภายในบ้าน

“ตอนนี้เอไอเอส ไฟเบอร์ถือเป็นผู้นำในส่วนของการให้บริการ Mesh Wi-Fi ภายในบ้านของลูกค้า เพื่อให้การใช้งานเน็ตบ้านได้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด และคิดว่าควรเป็นมาตรฐานที่ทุกผู้ให้บริการควรหันมาใส่ใจร่วมกัน”


ขณะเดียวกันมองว่า เมื่อเกิดการแข่งขันทางด้านราคานั้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระยะยาว ที่มีทั้งขาดทุนจากการให้บริการ และทำให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ไม่ได้ ดังนั้นจึงควรหันกลับมาสร้างคุณค่าในการให้บริการ

“เชื่อว่าหลังจากนี้ตลาดจะเริ่มมีการปรับตัวไปสู่การที่ลูกค้าพึงพอใจที่จะเสียค่าบริการในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพมากกว่าเน้นเรื่องของราคาถูก แต่ไม่ได้ประสิทธิภาพในการใช้งานที่แท้จริง”

จากข้อมูลล่าสุดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเอไอเอส ไฟเบอร์ ยังถือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เบอร์ 4 ในตลาดด้วยฐานลูกค้า 1 ล้านราย และมีโอกาสที่จะขยับขึ้นไปเป็นเบอร์ 3 ได้ถ้ายังสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้ต่อเนื่อง

ส่วนเบอร์ 1 ในตลาดเวลานี้คือทรู ที่มีฐานลูกค้าราว 3.5 ล้านราย ตามด้วย 3BB อยู่ที่ 3.4 ล้านราย ส่วนทีโอที อยู่ที่ 1.4 ล้านราย ซึ่งในปีนี้ เอไอเอส ไฟเบอร์ มีแผนที่จะขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุม 77 จังหวัด จากเดิมที่ครอบคลุม 58 จังหวัด


สำหรับกลยุทธ์ในการบุกตลาดของ เอไอเอส จะเริ่มจากกลุ่มลูกค้าในหัวเมืองหลักก่อน โดยแบ่งการทำตลาดเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.การทำครอสเซลล์ไปยังกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานเบอร์โทรศัพท์เอไอเอส ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดเวลานี้ ในการนำเสนอแพกเกจแบบบันเดิลที่ลูกค้าจะได้รับส่วนลดเพิ่มเติม

อีกส่วนก็คือ 2.กลุ่มลูกค้าที่ต้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์คุณภาพสูง ที่จะได้รับการการันตีว่าสามารถใช้งาน Wi-FI ได้ครอบคลุมทั่วบ้านทั้งหลัง จากการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการติดตั้งไฟเบอร์ ไปคอยให้บริการแก่ลูกค้าในชื่อ “เอไอเอส ไฟเบอร์ กูรู” ที่ปัจจุบันให้บริการแล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ


เป้าหมายของลูกค้ากลุ่มแรกคือการเข้าไปสนับสนุนธุรกิจหลักของเอไอเอส ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพราะเมื่อมีการใช้งานบริการมากขึ้น โอกาสที่จะผูกให้ลูกค้าใช้งานต่อเนื่องก็จะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวคิดแรกเริ่มในการพัฒนาบริการเอไอเอส ไฟเบอร์ขึ้นมา

ขณะเดียวกัน เพื่อให้อัตราค่าใช้บริการเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้องมีการนำเสนอแพกเกจที่มีความหลากหลาย และเน้นเรื่องคุณภาพในการให้บริการขึ้นมา โดยเฉพาะแพกเกจความเร็วระดับ 1 Gbps ที่ถือเป็นฐานลูกค้าในกลุ่มพรีเมียม

“นอกจากการเข้าไปเสริมเพื่อรักษาฐานลูกค้าของโมบายแล้ว สิ่งที่เอไอเอส ไฟเบอร์ทำถัดมาคือการสร้างรายได้ให้ธุรกิจโดยไม่เป็นภาระของฝ่ายธุรกิจมือถือ หน้าที่ของเอไอเอส ไฟเบอร์ จึงไม่ใช่แค่การทำกำไรโดยไม่สนใจธุรกิจโมบาย”

***ชูจุดขาย Super Mesh Wi-Fi ความเร็ว 1 Gbps

จากก่อนหน้านี้ที่เอไอเอส เคยให้ข้อมูลว่า ปัญหาหลักในการใช้งานไฟเบอร์ของลูกค้า คือสัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า ซึ่งกลายเป็นว่าปัญหามาจากการที่สัญญาณ Wi-Fi ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในบ้าน จึงทำให้เริ่มมีการนำตัวกระจายสัญญาณเข้ามาทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับพันธมิตรอย่าง Nokia นำWi-Fi Beacon 3 และ Beacon 1 เข้ามาเป็นทางเลือกให้ลูกค้า

ขณะเดียวกันก็พัฒนาเราเตอร์รุ่นพื้นฐานให้รองรับการกระจายสัญญาณแบบ Mesh Wi-Fi ประเดิมด้วยAIS Fibre Mesh Wi-Fi ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อจำกัดของเราเตอร์รุ่นนี้คือสามารถทำความเร็วในการเชื่อมต่อได้สูงสุดที่ราว 350 Mbps เท่านั้น แต่กลายเป็นว่าเอไอเอส ได้มีการเพิ่มความเร็วให้ลูกค้าขึ้นไปเป็น 500 Mbps - 1 Gbps ทำให้เราเตอร์รุ่นเดิมไม่รองรับ


ล่าสุดจึงได้เข้าไปร่วมพัฒนากับทางหัวเว่ย (Huawei) เพื่อนำ AIS Super Mesh Wi-Fi เข้ามาเป็นเราเตอร์พื้นฐานในการให้บริการแก่ลูกค้าที่สมัครใช้งานแพกเกจ Super Mesh Wi-Fi ที่สามารถกระจายสัญญาณได้สูงสุด 1 Gbps พร้อมรองรับการเพิ่มจุดกระจายสัญญาณเพิ่มเติมด้วย

ดังนั้นจึงกลายเป็นว่าลูกค้าที่เลือกติดตั้งใช้งานแพกเกจ Super Mesh Wi-Fi ที่มีความเร็วให้เลือกทั้ง500/200 Mbps และ 1 Gbps / 200 Mpbs ให้เลือกใช้งาน ซึ่งจะได้เราเตอร์ 2 ตัวเพื่อนำไปกระจายสัญญาณให้ครอบคลุมทั่วบ้าน

“ตั้งแต่เอไอเอส เริ่มนำเสนอ Mesh Wi-Fi ออกสู่ตลาด เห็นได้ว่าผู้บริโภคเริ่มให้การตอบรับที่ดีมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่เปิดให้ลูกค้าเอไอเอส สามารถนำพอยต์มาแลกรับ Mesh Wi-Fi ได้ฟรี ก็เพิ่มปริมาณการใช้งานขึ้นหลายเท่าตัว”

***ข้อจำกัด Mesh Wi-Fi

อย่างไรก็ตาม ในการให้บริการ AIS Super Mesh Wi-Fi ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความเร็วในการใช้งาน เนื่องจากถ้าต้องการให้เราเตอร์ทั้ง 2 ตัว (เพิ่มได้สูงสุด 8 ตัว) กระจายสัญญาณที่ความเร็วสูงสุด 1 Gbps เท่ากันทั้งหมดนั้น จะต้องเชื่อมต่อระหว่างเราเตอร์ด้วยสายแลน ซึ่งทำให้เกิดความไม่สะดวก


วิธีการนำเสนอของ AIS Super Mesh Wi-Fi จึงไม่ได้เน้นว่าต้องให้ผู้ใข้งานได้ความเร็ว 1 Gbps ครอบคลุมทั้งบ้าน แต่ต้องการให้สามารถใช้งานได้ลื่นไหล อย่างน้อยต้องรองรับการสตรีมมิ่งคอนเทนต์4K ได้หลายๆ จุดพร้อมกัน เพราะถือเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นแน่นอนในปีนี้

ดังนั้น ในการเชื่อมต่อ Mesh Wi-Fi แบบไร้สาย ในบริเวณใกล้เคียงเราเตอร์ ก็จะสามารถทำความเร็วได้100 - 300 Mbps ซึ่งถือว่าเพียงพอกับการใช้งานแล้ว ประกอบกับการที่ปัจจุบันดีไวซ์ที่รองรับการใช้งานWi-Fi ความเร็ว 1 Gbps จะมีเฉพาะโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปเซ็ตรุ่นใหม่เท่านั้น ส่วนสมาร์ทโฟนมีเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่รองรับ 1 Gbps เพราะอย่าง iPhone 11 Pro ยังได้อยู่ที่ราว 850 Mbps เท่านั้น

ข้อดีของการที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านที่มีแบนด์วิดท์ขนาด 1 Gbps จึงอยู่กับการใช้งานหลายๆ ดีไวซ์พร้อมๆ กัน อย่างเช่นการใช้งานในครอบครัวขนาด 4-5 คน ก็สามารถแบ่งความเร็วในการใช้งานได้ทำให้ประสบการณ์ในการใช้งานเน็ตบ้านดีขึ้น และที่สำคัญคือครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในบ้านด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น