ดีแทคเตือนไทยเสียหายหากไม่มี 5G บนคลื่น 3500 MHz กระทุ้งรัฐวางแผนและเริ่มต้นจริงจังไม่งั้น 5G 3500 MHz จะยิ่งช้าไปอีก ชี้อย่าหวังพึ่งพา “ไว-ไฟฟรีจากดาวเทียมวงโคจรต่ำ” เพราะโอกาสเกิดยากมาก มั่นใจดีแทคไม่ด้อยกว่าคู่แข่งที่ล่วงหน้าหาลูกค้า 5G บนคลื่น 2600 MHz ไปก่อนเนื่องจากตลาดอุตสาหกรรม 4.0 นาทีนี้กำลังอ่วมโควิด-19 เบื้องต้น ไม่รับไม่ปฏิเสธข้อหา “5G ดีแทค” รอจนทุกอย่างนิ่งแล้วค่อยลงทุน บอกเพียงว่าภาพการปั้น 5G 2600 MHz วันนี้เหมือนรถไฟที่มีรางแค่ 1 เมตร ทำให้การลงทุนไม่เซ็กซี่เท่า 3500 MHz
“อธิป กีรติพิชญ์” ผู้เชี่ยวชาญ และวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวผู้จัดการ ว่า ดีแทคมีข้อแนะนำถึง 5G ในประเทศไทยรวม 5 ประเด็น หนึ่งในนั้นคือคลื่น 3500 MHz ต้องกำหนดเป็นคลื่นหลัก 5G ไทยเพื่อใช้งานร่วมกับอีโคซิสเต็มส์ของทั้งโลก โดยมั่นใจว่าประเทศไทยสามารถพลิกฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนผ่านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย 5G ที่ยั่งยืนอย่าง 3500 MHz ซึ่งทั่วโลกใช้กันมากกว่า 70%
“เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการเข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และในขณะที่ประเทศไทยกำลังต้องการซ่อมและสร้างระบบพื้นฐานเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต ประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงความต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติมสำหรับ 5G ที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าและทางเลือกที่หลากหลาย”
อธิป มองว่า ความหวังที่คนไทยจะได้ใช้งาน “ดาวเทียมวงโคจรต่ำ” นั้นริบหรี่เหลือเกิน แม้จะมีบางส่วนเชื่อว่าสามารถใช้ปล่อยสัญญาณเพื่อให้ประชาชนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ฟรี แต่ผู้บริหารดีแทคมองว่าต้องใช้เวลานานมากกว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากอุปสรรคของอุปกรณ์ ข้อจำกัดด้านการกำกับดูแลของหน่วยงานในประเทศ รวมถึงการต้องใช้ความถี่บางอย่างในการรับส่งสัญญาณเพิ่มเติม
ผู้บริหารดีแทคอธิบายว่า ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือจะสื่อสารข้อมูลกับเสาที่อยู่บริเวณใกล้ที่สุด ซึ่งหากไม่สามารถสื่อสารได้ก็จะย้ายไปสื่อสารกับเสาต้นถัดไป ยิ่งเสาอยู่ไกลเท่าไรโทรศัพท์มือถือก็จะร้อนมากเท่านั้นเนื่องจากต้องทำงานหนักขึ้นในการสื่อสารกับเสาที่ห่างไกล นี่เป็นเหตุผลว่าการใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่นอกเมืองจะทำให้แบตเตอรี่โทรศัพท์หมดเร็วกว่าในเขตเมือง
ดังนั้น โทรศัพท์มือถือที่จะสามารถใช้งานกับดาวเทียมวงโคจรต่ำได้จะต้องเป็นโทรศัพท์หรืออุปกรณ์รุ่นเฉพาะที่ไม่ได้วางจำหน่ายในท้องตลาดปัจจุบันโดยจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่สามารถรับสัญญาณในระดับความสูงอวกาศ เพื่อให้โทรศัพท์มือถือสามารถสื่อสารกับดาวเทียมได้โดยตรง
นอกจากอุปสรรคด้านดีไวซ์ ยังมีอุปสรรคด้านการกำกับดูแล เบื้องต้นแม้ กสทช. จะเปิดเสรีดาวเทียมต่างชาติให้ผู้สนใจเข้ามาลงทะเบียน แต่พบว่าขณะนี้มีแต่รายชื่อดาวเทียมวงใหญ่ ยังไม่เห็นรายชื่อที่เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำเลย ขณะเดียวกัน บริการอินเทอร์เน็ตฟรีจากดาวเทียมวงโคจรต่ำอาจทำให้สิทธิการควบคุมของประเทศหายไป และไม่ต้องมีการจัดสรรคลื่นอีก รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดทุกราย ก็จะไม่มีรายได้เพราะประชาชนจะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ฟรี
นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมวงโคจรต่ำยังต้องใช้ความถี่บางอย่างในการสื่อสารสัญญาณ เนื่องจากหากใช้คลื่นความถี่เดิมก็จะมีศักยภาพเท่าเดิม ทั้งหมดนี้ผู้บริหารเชื่อว่าสัญญาณเดียวที่บอกว่าบริการจากดาวเทียมวงโคจรต่ำจะพร้อมให้บริการ คือในประเทศชั้นนำจะไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้จะรับรู้ได้ก่อนว่ามีการดิสรัปธุรกิจแล้ว ซึ่งปรากฏการณ์นี้ยังไม่เกิดขึ้น และขณะนี้ยังมีบริษัทรายใหญ่เข้าประมูลอยู่ตลอดเวลา
ทั้งหมดนี้ทำให้เชื่อว่าอนาคตของการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ยังอยู่ที่ 5G บนคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งหากไม่มี 5G บนคลื่นนี้ ผู้บริหารมองว่าประชาชนคนไทยจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจเหมือนยุคบริการ 3G เนื่องจากโทรศัพท์มือถือ 3G ในท้องตลาดเวลานั้นมักมีชิปเซ็ตที่ทำงานบนคนละคลื่นความถี่ที่โอเปอเรเตอร์ไทยให้บริการ ทำให้ประชาชนเสียเงินซื้ออุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้งาน
ดังนั้น 5G ของประเทศไทยก็ควรเกาะขบวนมาตรฐานโลก โดยเฉพาะ 5G ในระบบโซลูชันอุตสาหกรรม 4.0 (industry 4.0) ขณะนี้พบว่าโซลูชันส่วนใหญ่ถูกออกแบบไปทาง 5G บนคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ ขณะเดียวกัน อุปกรณ์และส่วนประกอบส่วนใหญ่ในอีโคซิสเต็มส์มักเลือกผลิตตามเทคโนโลยีที่ใช้งานแพร่หลายและพร้อมมากกว่า รวมถึงล่าสุด ไอทียูได้ประกาศให้คลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์กลายเป็นมาตรฐานของ 5G แล้ว ทั้งหมดย่อมทำให้ 5G บน 3500 เมกะเฮิรตซ์กลายเป็นเมนสตรีมของ 5G ในที่สุด
ประมูลก่อน ค่อยจัดสรรก็ได้
ปัญหาคือคลื่น 3500 เป็นช่วงคลื่นที่ให้บริการดาวเทียมกลุ่ม C-Band อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนเกินล้านจานทั่วประเทศ ล่าสุด มีการตั้งทีมร่วมมือกันระหว่างโมบายโอเปอเรเตอร์ และผู้ให้บริการดาวเทียมให้เข้ามาทำโครงการแก้ปัญหาการรบกวนสัญญาณที่อาจเกิดขึ้นแล้ว จุดนี้ ดีแทคมองว่าไทยสามารถเปิดประมูลคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ได้ล่วงหน้า แม้จะยังไม่สามารถใช้งานแต่ทุกส่วนในวงการโทรคมนาคมไทยจะได้ประโยชน์ เพราะสามารถวางแผนธุรกิจได้ และสร้างความมั่นใจว่าจะมีคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์เพื่อให้บริการ 5G ในอนาคต
หากมีการประมูลคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์จริง ผู้ที่ได้ประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ไปแล้ว ก็ยังจะต้องเข้าไปปูพรมสร้างเครือข่ายในพื้นที่ EEC ตามที่สัญญากำหนด และจะสามารถปรับให้สามารถใช้งานคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ได้ด้วยการติดอุปกรณ์รับสัญญาณเพิ่มเติม โดยสามารถลงทุนเพิ่มฟังก์ชันให้เสา 2600 เมกะเฮิรตซ์ รองรับ 3500 เมกะเฮิรตซ์ได้ทันที แต่จะต้องมีทีมให้บริการปรับอุปกรณ์และโซลูชันที่ให้บริการลูกค้าไปแล้วด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มากกว่า
ดีแทคมองว่า 5G บนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ปัจจุบันยังขาดการบูรณาการร่วมกัน แม้ช่วง 2G 3G และ 4G ภาครัฐจะสามารถปล่อยให้โมบายโอเปอเตอร์ดำเนินธุรกิจกันเองในประเทศไทย แต่ 5G นั้นไม่ใช่ เห็นได้ชัดจากการประมูลที่เริ่มไปตั้งแต่กุมภาพันธ์ กลับพบว่าโครงการที่ริเริ่มไปยังเงียบ เนื่องจากอีโคซิสเต็มส์ไทยยังไม่มา
“การที่ไทยมาช้าในโลก 3G และ 4G เป็นข้อดี คือทำให้ได้ใช้งานเทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐาน จึงไม่หลงทาง แต่ 5G เรามาเป็นคนแรกในอาเซียน เราไปเลือกความถี่ที่ยังไม่แมส เห็นได้ชัดจากโซลูชันกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 ใช้ 5G บนคลื่น 2600 มากน้อยแค่ไหน และการสนธิกำลังสร้างอีโคซิสเต็มส์ซึ่งอุตสาหกรรมต้องเข้ามาร่วมผลิตและสร้างโครงข่ายทั้งหมด ล้วนเป็นยูสเคสที่ยังไม่แพร่หลาย ดังนั้น รัฐบาลต้องปลดล็อกให้อุตสาหกรรมทำสิ่งที่ยังทำไม่ได้ อย่างเช่นการบินโดรน วันนี้คนทำโดรนด้านการเกษตรไม่รู้ว่าไม่สามารถบินในคลื่นความถี่ที่ต้องการ แต่รัฐกลับไปบอกว่าผู้สร้างโดรนเหล่านี้ทำผิด ซึ่งหากทุกอย่างยังเป็นอย่างนี้ต่อไป จะอันตราย และทำให้ประเทศไทยไปต่อไม่ได้”
ดีแทคยกตัวอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่มีการจัดตั้ง 5G Task Force ในรูปคณะกรรมการ 5G แห่งชาติเพื่อประสานงานด้านการศึกษา การบริหารจัดการเมือง สุขภาพและอีกหลายด้านโดยเฉพาะ ต่างจากไทยที่มักเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยตำแหน่งและไม่ได้ให้เวลาติดตามการพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ 5G อย่างจริงจัง
“ยุค 5G ไม่สามารถเน้นการปักเสา แต่ต้องสนธิกำลังกัน ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซียที่คณะทำงาน 5G ต้องประสานกับผู้ว่าประจำกัวลาลัมเปอร์ ผู้บริหารอาคารปิโตรนาส รวมถึงอีกหลายฝ่ายเพื่อทำให้ KL เป็นสมาร์ทซิตีที่สมบูรณ์”
ผู้บริหารดีแทคยกตัวอย่างอีกว่า วันนี้หากโรงงานในระยองต้องการเพิ่มระบบ automation ในไลน์การผลิตของตัวเอง บริษัทและโอเปอเรเตอร์จะต้องไปดูโซลูชันของผู้พัฒนาโซลูชันอุตสาหกรรม 4.0 ฝั่งยุโรป ว่ามีให้บริการ 5G บนคลื่น 2600 หรือไม่ ซึ่งถ้ามีอยู่แล้วก็สามารถทำได้เลย แต่ถ้าไม่มีก็จะต้องไปหานักพัฒนาฝั่งจีน จึงจะสามารถเป็น “เฟิร์สมูฟเวอร์” หรือผู้ให้บริการคนแรกในอุตสาหกรรม แต่การต้องปรับแต่งระบบอาจจะทำให้ต้นทุนการพัฒนาแพงกว่าและการซ่อมบำรุงทำได้ยากกว่า
สำหรับผู้บริโภค 5G บนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้ผลิตอุปกรณ์ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ผลิตดีไวซ์มักจะผลิตเป็นจำนวนมากทั้งเราเตอร์และอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ ทำให้สุดท้ายแล้ว จะอยู่ที่ผู้ผลิตว่าจะเลือกผลิตอุปกรณ์ที่รองรับ 5G บน 2600 เมกะเฮิรตซ์หรือไม่
ในมุมของดีแทค มองว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการที่คู่แข่งมี 5G บนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์แล้วในขณะนี้ โดยบอกว่าความเชื่อของบริษัทคือแม้ระบบ automation จะเป็นเทรนด์ที่ต้องเกิดขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมจริง แต่ปัญหาในขณะนี้คือโควิด-19 ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจโรงงานมองว่ายังไม่คุ้มค่าในการนำระบบ automation มาทดแทนกำลังคน
ผู้บริหารดีแทคย้ำว่า แผนลงทุนของหลายโรงงานที่ตั้งไว้ในช่วงมกราคมล้วนเปลี่ยนแปลงไปหมดในเดือนสิงหาคม ก่อนหน้านี้ หลายโรงงานต้องการลดต้นทุน และต้องการเพิ่มกำลังการผลิต จึงลงทุนที่ระบบ automation แต่ปัญหาคือวันนี้โควิด-19 ทำให้หลายโรงงานต้องลดกำลังการผลิตลง เพื่อให้สมดุลกับความต้องการในตลาดที่ลดลง
“วันนี้ อุตสาหกรรมจำนวนมากเบนเข็มไปทางการประหยัดต้นทุน ขณะเดียวกัน ก็มีความเชื่อว่า 5G ในขณะนี้ยังเป็นช่วงทดสอบ กลายเป็นความฝังใจว่าเทคโนโลยี 5G ในขณะนี้ยังไม่ final ซึ่งของจริงอาจจะมาในช่วงที่ระบบ automation จะแพร่หลายในวงกว้างช่วงปี 2022 ล่าช้ากว่าเดิม 1 ปี จากที่เคยมีการคาดการณ์ว่าจะแพร่หลายในปี 2021 ดังนั้น หากไทยมีแนวทาง 5G บนคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ที่ชัดเจน ก็จะทำให้ประเทศไทยไม่ตกขบวน และตามเทรนด์ได้ทันเหมือนที่สิงคโปร์มาเลเซียและจีนทำได้”
2600 MHz ไม่เซ็กซี่
ดีแทค ไม่รับและไม่ปฏิเสธว่าบริษัทเลือกที่จะลงทุนใน 5G เหมือนสมัยยุค 3G คือการรอจนทุกอย่างแน่นอนแล้วจึงค่อยเริ่มใช้เงิน จุดนี้ผู้บริหารบอกว่าเพราะบริษัทมีความเชื่อใน 3500 เมกะเฮิรตซ์ว่าเป็นอีโคซิสเต็มสที่พร้อมมากกว่า
"แม้จะมีการลงทุนใน 5G 2600 เมกะเฮิรตซ์ไปแล้ว แต่ก็ยังพบว่าโครงการยังไม่เซ็กซี่พอ เหมือนกับลงทุนรถไฟที่มีรางแค่ 1 เมตร ไม่ใช่รถไฟที่มีรางเป็นทางยาวเห็นอนาคต แต่ถ้าเป็นคลื่นมาตรฐาน เชื่อว่าจะเพิ่มความเร็วในการสมัครใช้บริการ 5G ซึ่งจุดนี้ไม่ใช่เป็นโอกาสเฉพาะที่ดีแทค แต่เป็นโอกาสของคนไทยทั้งประเทศ”
ดีแทค เชื่อว่าการประมูลคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงปีหน้า จะมีความเข้มข้นเนื่องจากช่วงปี 2025 จะเป็นเวลาที่คลื่นซึ่งบริษัทรัฐวิสหกิจถืออยู่หมดอายุลง ดังนั้น ทุกคนจึงอยากได้คลื่นที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งดีแทคมองว่าอาจประมูลก่อนแล้วจึงจัดสรรคลื่นในภายหลังก็ได้
ในขณะนี้ ดีแทค พบว่า กสทช. มีความพยายามในการแก้ปัญหาการรบกวนกันของสัญญาณในคลื่น 3400-4200 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งให้บริการจาน C-Band อยู่ในขณะนี้ คาดว่าในอนาคตผู้ให้บริการจาน C-Band จะสามารถทำรายได้จากบริการปรับเปลี่ยนตัวรับสัญญาณของจานให้ดูดสัญญาณในช่วงคลื่น 3700-4200 เมกกะเฮิร์ตแทน ยังมีผู้ให้บริการทีวีที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานบริการได้ต่อเนื่อง เชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นพร้อมกันก่อนการประมูล
ผู้บริหารดีแทคทิ้งท้ายว่าในทางทฤษฎี โอเปอเรเตอร์ควรถือคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 80 เมก จึงจะสามารถให้บริการ 5G ได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งหมดยังต้องรอดูความชัดเจน เพราะขณะนี้ยังไม่มีการสรุปจำนวนใบอนุญาตในการประมูลคลื่น 3500
ทั้งหมดนี้แสดงว่า กสทช.ควรต้องวางแผนและต้องเริ่มต้นดำเนินการเรื่อง 5G บนคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็จะมี 5G บนช่วงคลื่นมาตรฐานล่าช้าลงไปอีก
"ชีวิตดีๆ" ก็จะเกิดขึ้นช้าลงไปด้วย