อินทัช เผยผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2563 กำไรสุทธิ 5,712 ล้านบาท ลดลง 2.1% โดยเป็นผลจากการบริษัทที่เข้าไปลงทุนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะเอไอเอส ที่กำไรลดลง 8.3% ส่วนไทยคม ปรับตัวดีขึ้นมาสร้างกำไร 286 ล้านบาท
นายเอนก พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องจากอินทัช ประกอบธุรกิจการลงทุนโดยเข้าถือหุ้นในบริษัทอื่น ดังนั้น เมื่อบริษัทที่เข้าลงทุนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้อินทัชได้รับผลกระทบตาม
โดยกำไรสุทธิของอินทัชในช่วงครึ่งปีแรกลดลง 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 5,721 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้ผลกำไรของเอไอเอสลดลง 8.3% จากการลดลงของรายได้ ขณะที่ไทยคมมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยพลิกจากการรับรู้ผลขาดทุน 69 ล้านบาท มาเป็นกำไร 286 ล้านบาท เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จากเงินชดเชยในไตรมาสที่ 2/2563
เอไอเอส - ลูกค้าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มขึ้น และขยายเครือข่าย 5G เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว
เอไอเอสมีผลกำไรสุทธิในงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 ที่ 14,239 ล้านบาท ลดลง 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 4.5% ในขณะที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีรายได้เติบโตขึ้น 25% เป็นผลมาจากการทำงานที่บ้าน (Work from home) และเรียนที่บ้าน (Learn from home) ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งสิ้น 1.2 ล้านราย มีจำนวนลูกค้าใหม่สูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการ
นอกจากนี้ รายได้จากการให้บริการลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากความต้องการใช้งาน Data center, Cloud และ ICT solution เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลังจากได้รับคลื่น 2600MHz เอไอเอสได้ขยายโครงข่าย 5G ครบ 77 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 50 ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยภายในปี 2563 จะขยายบริการ 5G ให้ครอบคลุมร้อยละ 13 ของประชากรไทย และ 50% ของประชากรในกรุงเทพฯ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้แก่ประเทศ รองรับการใช้งานดาต้าที่เพิ่มมากขึ้น และสร้างการเติบโตในระยะยาว
ไทยคม - ศึกษาและพัฒนาธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม
ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ไทยคมมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 695 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนอยู่ที่ 168 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้เงินชดเชย ประกอบกับการลดลงของค่าเสื่อมราคาของดาวเทียมจากการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 รวมทั้งการด้อยค่าของดาวเทียมดวงอื่นๆ ในปี 2562
ไทยคมมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐเพื่อบริหารดาวเทียมภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และให้ความสำคัญต่อการศึกษาพัฒนาธุรกิจใหม่โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม เช่น ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ โดรนเพื่อการเกษตร และอากาศยานไร้คนขับ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีจากอวกาศสู่ภาคพื้นดิน และสมาร์ทโซลูชันชั้นนำแห่งเอเชีย
โครงการอินเวนต์ - มุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถต่อยอดเทคโนโลยี 5G ในอนาคต
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โครงการอินเวนต์ (InVent) ลงทุนรวม 202 ล้านบาท ใน 3 บริษัทใหม่ ประกอบด้วย บริษัท แอกซินัน พีทีอี ลิมิเต็ด ให้บริการประกันภัยดิจิทัลครอบคลุมสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ บ้าน และอุบัติเหตุส่วนบุคคล บริษัท ดาต้าฟาร์ม จำกัด ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยทางด้านไอที (IT Security) ช่วยปกป้องข้อมูลจากการโจมตีทางไซเบอร์ และบริษัท พาโรนีม ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มโฆษณาในรูปแบบวิดีโอจากประเทศญี่ปุ่น ที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันทีผ่านหน้าจอ ต่อยอดด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทั้งในเรื่อง Objective tracking และ Heat map tool ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของพาโรนีม เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้ตอบสนองต่อโฆษณา (Conversion rate) ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ได้ลงทุนเพิ่มในบริษัทที่ได้ลงทุนไปแล้วคือ บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ พีทีอี ลิมิเต็ด ผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินและออกแบบแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับนักลงทุนโดยตรงเพื่อช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการธุรกิจ ทำให้มูลค่าพอร์ตการลงทุนภายใต้โครงการอินเวนต์ (ที่รวมมูลค่าบริษัทที่ได้ขายออกไป) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ 1,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,051 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 และมีบริษัทที่อยู่ภายใต้การลงทุนของอินเวนต์ในปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 17 บริษัท
สำหรับทิศทางการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 อินเวนต์ยังคงนโยบายการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยี และธุรกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีเกิดใหม่ หรือเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งแสวงหาการลงทุนที่สามารถต่อยอดเทคโนโลยี 5G ในอนาคต ทั้งนี้ การลงทุนของอินเวนต์นอกจากจะลงทุนในประเทศไทยแล้ว ยังแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย