นักวิทยาศาสตร์อเมริกันทดลองใช้ AI ทำนายว่าอะไรที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคู่รักยืนยาวและประสบความสำเร็จ เบื้องต้น ระบบวิเคราะห์ทั้งส่วนความสัมพันธ์และตัวตนของคู่รักแต่ละฝ่าย พบ “ความพึงพอใจส่วนตัวและรายได้” มีความเกี่ยวข้องน้อยกว่าปัจจัยอื่น แปลว่าความรวยกลับมีผลไม่มากในการพิจารณาว่าความสัมพันธ์นั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่
การกำเนิดสุดยอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ที่ออกแบบมาเพื่อทำนายความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและปลอดภัยเป็นฝีมือของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์น (Western University) ซึ่งการันตีว่าสามารถนำระบบแมทชีนเลิร์นนิง หรือการเรียนรู้ด้วยเครื่องมาใช้ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก โดยระบบดังกล่าวลงมือศึกษาหลักการความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ผ่านการนำ AI มาใช้ในชุดข้อมูล 43 ชุด ซึ่งรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่างกว่า 11,196 คู่ เพื่อค้นหารูปแบบความสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จ
ซาแมนธา โจเอล (Samantha Joel) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์น อธิบายว่า การศึกษาครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะวันนี้ผู้คนมองว่าความพึงพอใจในความสัมพันธ์ที่โรแมนติกนั้นมีความหมายสำคัญต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความสามารถในการทำงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลายคนพบว่าเป็นการยากที่จะแยกแยะ วัดผล หรือศึกษาสถิติเพื่อทำนายคุณภาพความสัมพันธ์นั้นได้ ทีมวิจัยจึงนำ AI เข้ามาช่วยในส่วนนี้
น่าแปลกใจมากที่อัลกอริธึม AI ได้ค้นพบว่า คาแร็กเตอร์ของคู่รักทั้ง 2 ฝ่าย เช่น รสนิยม ความพึงพอใจในชีวิต และรายได้ของแต่ละคนนั้นมีความเกี่ยวข้องน้อยกว่าปัจจัยอื่นในการพิจารณาว่ารักของทั้งคู่ประสบความสำเร็จหรือไม่ โดย AI กลับพบว่าความเข้าใจในอีกฝ่าย หรือแนวคิดการยอมรับและมุ่งมั่นอย่างเต็มที่นั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่เชื่อถือได้มากที่สุดในการทำนายความสัมพันธ์
นอกจากความเข้าใจ ตัวทำนายความยืดยาวของความสัมพันธ์ยังอยู่ที่ระดับการชื่นชมซึ่งกันและกัน การรู้คุณค่าของอีกฝ่าย ความพึงพอใจทางเพศ การรับรู้ถึงความพึงพอใจของอีกฝ่าย และความขัดแย้งทางความคิด
นอกจากนี้ ระบบกูรูเรื่องรักเทคโนโลยี AI จึงสรุปว่า “ความแตกต่างส่วนบุคคล” เช่น การเลี้ยงดู หรือเงินเดือน ไม่ใช่เหตุผลหลักที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีนั้นได้รับอิทธิพลจากหลายส่วนประกอบกัน เหมือนกับความรักที่ตบมือข้าวเดียวไม่ดัง ต้องใช้ 2 มือร่วมกัน
ที่น่าสนใจคือ การสำรวจพบว่าตัวตนของคนที่ไม่มีคู่และตัวตนของคนนั้นเมื่ออยู่กับคู่รักจะมีความสำคัญที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากตัวแปรเฉพาะความสัมพันธ์ (Relationships-specific variables) จะมีน้ำหนักประมาณ 2 ถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับตัวแปรเรื่องความแตกต่างของแต่ละบุคคล แต่เมื่อนำข้อมูลเฉพาะความสัมพันธ์ทั้งหมดมาวิเคราะห์ ตัวแปรเรื่องความแตกต่างของแต่ละบุคคลกลับจางหายไปเป็นพื้นหลังหรือแบ็กกราวนด์ที่ไม่โดดเด่นอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาศึกษาความสัมพันธ์ในมนุษย์ยังมีข้อถกเถียง เพราะ AI ไม่ได้เข้าถึงปฏิสัมพันธ์ในทุกแง่มุมของคู่รัก ทั้งคำชมเชย ความชื่นชอบ การกอด หรือการนอกใจ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าการนำ AI มาใช้ในวงการนี้ยังต้องพัฒนาอีกมาก