โนเกีย (Nokia) เปิดตัวโซลูชันระบบปฏิบัติการเครือข่าย (Network Operating System : NOS) ประเดิมวางจำหน่ายแล้วก่อนจะขยายเต็มตัวในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ระบุโนเกียต้องการปฏิรูปการพัฒนาเครือข่าย Data Center รูปแบบใหม่ประสิทธิภาพสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เบื้องต้น ส่งให้บริษัท แอปเปิล อิงค์ (Apple Inc.) เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่ทดลองใช้โซลูชันใหม่ของโนเกีย โดยประยุกต์ใช้กับระบบ Cloud Data Centers แล้ว
เบซิล อัลวาน ประธานกลุ่ม IP และ Optical Networks ของโนเกีย กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์หลายทศวรรษที่โนเกียได้ให้บริการโอเปอเรเตอร์ด้านการสื่อสาร โนเกียจึงเข้าใจถึงความท้าทายทางด้านวิศวกรรมในการที่จะสร้างและจัดการเครือข่าย IP ในระดับ mission-critical ระดับโลกเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม บริการ Data Center ขนาดใหญ่ก็มีความท้าทายเฉพาะของตัวมันเองเช่นกัน
“โซลูชัน SR Linux ของโนเกียจึงเป็นการคิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมดจากความร่วมมือของพันธมิตรต่างๆ เช่่น บริษัท แอปเปิล อิงค์ ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจทั้งในแง่ความลึกและความความสมดุลที่จำเป็นสำหรับการใช้งานในอนาคต”
โซลูชัน SR Linux เป็นหนึ่งในโซลูชันระบบเครือข่ายสำหรับ Data Center ที่โนเกียพัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์ Webscale ขนาดใหญ่ ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารที่ใช้ระบบคลาวด์ในการให้บริการข้อมูล รวมไปถึงผู้ใช้งานระดับองค์กร โดยหัวใจหลักในการพัฒนาเน้นให้ครอบคลุมถึงความสามารถในการออกแบบ การสร้าง การประยุกต์ใช้ รวมถึงการบริหารจัดการและบำรุงรักษาเครือข่าย Data Center ได้อย่างอัตโนมัติ สามารถรองรับการขยายระบบที่เพียงพอต่อความต้องการและปริมาณข้อมูลมหาศาลจากธุรกิจในยุค 5G และอุตสาหกรรม 4.0 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โนเกียระบุว่า โซลูชันใหม่นี้เปิดกว้างสำหรับผู้ใช้งานและนักพัฒนา มีความยืดหยุ่นสูง มีเครื่องมือและโปรแกรมเสริมที่สามารถทำให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว มีความถูกต้องแม่นยำ ง่ายต่อการบริหารและจัดการเครือข่าย Data Center ขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับโซลูชันใหม่ของโนเกีย ประกอบไปด้วย ระบบปฏิบัติการเครือข่าย SR Linux (Service Router Linux) และแพลตฟอร์ม FSP (NOKIA Fabric Service Platform) โดยมีการร่วมมือกันพัฒนากับบริษัท Webscale ระดับโลกหลายบริษัท อย่างเช่น บริษัท แอปเปิล อิงค์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันได้นำโซลูชันนี้ไปใช้งานกับ Data Center ของตนเอง
อดัม เบ็คเทล รองประธานและหัวหน้าฝ่ายเครือข่ายของบริษัท แอปเปิล อิงค์ กล่าวว่าแอปเปิลอัปเกรดอุปกรณ์ Data Center ด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง
“การใช้เทคโนโลยีระบบใหม่ของโนเกียจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อเครือข่ายและรับส่งข้อมูลในเครือข่าย Viborg ของเราที่ประเทศเดนมาร์ก”
เจาะลึก SR Linux
ด้วยแอปพลิเคชันบนระบบคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล อีกทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI - Artificial Intelligence) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ความเป็นจริงเสมือนและความเป็นจริงเสริม (VR - Virtual Reality, AR - Augmented Reality) มาประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทำให้เครือข่ายข้อมูลที่ใช้ในการเชื่อมต่อระบบคลาวด์ต่างๆ มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น นำมาซึ่งความต้องการระบบเครือข่ายที่จัดการง่าย มีความยืดหยุ่นสูง และมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย
ถึงแม้ว่าระบบปฏิบัติการเครือข่ายได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการรองรับรูปแบบการใช้งานและความต้องการที่เฉพาะเจาะจง รวมไปถึงการประยุกต์ใช้กับโซลูชันใหม่ๆ และความสามารถในการทำงานแบบอัตโนมัติ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการนำไปใช้งานและการเชื่อมต่อเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพตามความต้องการ เป็นเหตุให้ระบบไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เกิดผลกระทบต่อแอปพลิเคชันและโปรแกรมต่างๆ ที่ใช้งานหรือให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอัปเกรดระบบซอฟต์แวร์ในแต่ละครั้ง ผู้ใช้งานหรือผู้ให้บริการจะต้องเสียเวลาเป็นอย่างมากในการตรวจสอบการเชื่อมต่อเครือข่ายทั้งหมด ซึ่งระบบ Network Operation System (NOS) ของโนเกีย ได้พัฒนามาเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ของระบบเครือข่ายรูปแบบเดิมเหล่านี้
โนเกียจึงคิดค้นและพัฒนา SR Linux (Service Router - Linux base) ซึ่งเป็นระบบที่มีความก้าวหน้าทางด้านสถาปัตยกรรมของระบบเครือข่าย สามารถเชื่อมต่อได้ถึงระดับ Micro Service อีกทั้งยังมี NetOps Development Kit (NDK) ที่มีความยืดหยุ่น มีชุดคำสั่งของโปรแกรมที่หลากหลาย สามารถรองรับการปรับแต่งเพื่อให้สามารถใช้งานกับแอปพลิเคชันได้อย่างง่ายดายผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น gRPC (open source remote procedure call) Protobuf (Protocol Buffers) เป็นต้น โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องประมวลผลใหม่และไร้ซึ่งข้อจำกัดทางด้านภาษาคำสั่งหรือการอ้างอิงจากคำสั่งอื่นๆ
นอกจาก SR Linux เป็นที่รู้กันดีในแวดวงอุตสาหกรรมการสื่อสารว่าโนเกียได้คิดค้นและพัฒนา SROS (Service Routing Operation System) ของตนเองมาเป็นเวลายาวนาน โดยมีอุปกรณ์เราเตอร์ของโนเกียที่ทำงานบนพื้นฐานของ SROS ใช้งานอย่างแพร่หลายในเครือข่าย IP สำคัญๆ ทั่วโลก ซึ่ง SR Linux (Service Router - Linux base) นั้นเป็นการพัฒนาต่อยอดจาก SROS ของโนเกีย อีกทั้งยังถือว่าโนเกียเป็นบริษัทแรกที่พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ของเครือข่ายดังกล่าวของอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย
อีกส่วนประกอบที่สำคัญของโซลูชันคือแพลตฟอร์ม FSP (Fabric Service Platform) ที่ประกอบไปด้วยชุดเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้สร้างคลาวด์สามารถโปรแกรมเครือข่ายได้ทั้งแบบกำหนดเองหรือโปรแกรมเงื่อนไขเพื่อให้เครือข่ายทำหน้าที่เชื่อมต่อได้อย่างต้องการ ซึ่งการทำงานรูปแบบดังกล่าวมีความสามารถสูงกว่าแบบการโปรแกรมและบริหารจัดการในอุปกรณ์ทีละตัว แพลตฟอร์ม FSP ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถใช้ในการออกแบบ สร้าง และวางระบบเครือข่ายได้ครอบคลุมทั้งระบบของ Data Center อย่างครบวงจร เหมาะสำหรับการสร้างระบบคลาวด์ และเครือข่ายที่ซับซ้อน อีกทั้งยังใช้ในการตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลเครือข่ายแบบ real-time ได้อย่างครบถ้วน
ที่สุดแล้ว โนเกียจึงนำโซลูชัน SR Linux และ FSP มาใช้งานร่วมกัน ทำให้ได้เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูง มีความยืดหยุ่น สามารถกำหนดการทำงานแบบอัตโนมัติ ซึ่งทำให้การสร้างระบบ และการดูแลรักษาเครือข่ายคลาวด์เป็นไปอย่างง่ายดาย