โนเกียลุยติดตั้งเครือข่าย IP Network ด้วยเทคโนโลยี MPLS (Multi-protocol Label Switching) ให้กับกลุ่มทรู เพื่อรองรับการให้บริการเครือข่ายแบบแยกส่วน (Network Slicing) ซึ่งเป็นบริการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ความยืดหยุ่นและรวดเร็วสำหรับลูกค้าที่ใช้บริการ ย้ำเครือข่ายแบบ IP/MPLS รูปแบบใหม่เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นเพื่อให้การให้บริการ 5G อย่างเต็มประสิทธิภาพพร้อมรองรับแอปพลิเคชันต่างๆในอนาคต
จิระชัย คุณากร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการโครงข่าย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะทรู 5G จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมที่จะผลักดันประเทศให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตัลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะได้เห็นการใช้งาน 5G สำหรับอุตสาหกรรมจำนวนมากเกิดขึ้นที่นี่
“ด้วยโซลูชั่น IP/MPLS ของโนเกีย ทรูจะมี Transport Network ที่ก้าวหน้า สามารถรองรับเครือข่ายแบบแยกส่วนซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจและการใช้งานเทคโนโลยีอัจฉริยะทรู 5G แบบใหม่ๆ เป็นการต่อยอดประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่าสำหรับของลูกค้าของเรา”
เดวิด ออกซฟอร์ด ผู้อำนวยการบริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) กล่าวว่าทรูเป็นลูกค้าสำคัญในกลุ่มธุรกิจ IP and Optical Networking ของโนเกียมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยโนเกียเป็นผู้ให้บริการหลัก
“สำหรับโซลูชั่น IP/MPLS ในอุปกรณ์ 2G/3G/4G มาโดยตลอด ด้วยเครือข่าย IP/MPLS ล่าสุดที่สนับสนุนการใช้งาน 5G ของโนเกียนี้ ทรูจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายให้มีความเร็วและความเสถียรที่เพิ่มขึ้น และมีความหน่วงที่ต่ำลง”
ความร่วมมือของทั้งคู่เกิดขึ้นในวันที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดันเทคโนโลยี 5G เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ 5G ให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลักๆ ของประเทศซึ่งรวมถึงกลุ่มทรู ทั้งนี้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นโครงการพัฒนาที่เป็นหัวหอกสำคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งรัฐบาลได้วางแผนให้พื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน การขนส่งและโลจิสติกส์ประจำภูมิภาค ตลอดจนเป็นประตูเชื่อมผ่านไปยังทั่วทั้งทวีปเอเชีย
สำหรับโซลูชั่น IP/MPLS ของโนเกีย มีฟังก์ชั่นเครือข่ายแบบแยกส่วน (Network Slicing) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการใช้งานเครือข่าย 5G ฟังก์ชั่นนี้จะทำให้ทรูสามารถแบ่งส่วนของเครือข่ายหลักออกเป็นส่วนๆ (slice) แต่ละส่วนเป็นอิสระต่อกัน โดยสามารถกำหนดขีดความสามารถ (performance) ของแต่ละส่วนเพื่อให้เหมาะกับความต้องการใช้งานที่แตกต่างกันได้ เครือข่ายแบบแยกส่วนจะทำให้เกิดการ ใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ที่เฉพาะ เจาะจงสำหรับลูกค้าของทรูในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิต พลังงาน การดูแลสุขภาพ การดูแลความปลอดภัยสาธารณะ เป็นต้น