xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผน AIS - สหพัฒน์ ร่วมทุนวางโครงข่าย 5G ในสวนอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลยุทธ์ในการตั้งบริษัทร่วมทุน ถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่ AIS นำมาปรับใช้ในทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นการเปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นนอกเหนือจากในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพราะเมื่ออยู่ในยุคที่ดิจิทัลเซอร์วิสกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโต และหลายธุรกิจมีความจำเป็นต้องนำไปปรับใช้งานโดยเฉพาะการมาของ 5G ที่เข้ามาช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาล

ย้อนกลับไปในปี 2015 AIS เคยมีมติให้ แอดวานซ์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค หรือ ABN เข้าร่วมทุนกับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ในการตั้งบริษัทร่วมทุนเข้าไปดูแลโครงข่ายใยแก้วนำแสงภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ที่ในเวลานั้นมีพื้นที่โรงงานอยู่กว่า 600 แห่ง

โดยหลังจากที่เข้าร่วมทุน เปิดโอกาสให้ AIS สามารถเข้าไปให้บริการวางโครงข่ายภายในนิคมอมตะฯ พร้อมกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง IoT เข้าไปช่วยบริหารจัดการภายในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อทำให้เกิด Smart Industrial ขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการร่วมทุนพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ในปี 2018 AIS ยังเข้าไปร่วมทุนกับทาง Rabbit LINE Pay และ LINE เพื่อบุกเข้าไปในธุกิจดิจิทัลมันนี่ ด้วยการโอนย้ายฐานลูกค้า mPAY เข้ามาใช้งาน Rabbit LINE Pay ช่วยเปิดโอกาสในธุรกิจการเงินเพิ่มเติม

จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาการเข้าไปร่วมทุนของทาง AIS จะเน้นจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการเข้าไปร่วมมือกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ที่มีวิสัยทัศน์ไปในแนวทางเดียวกันคือต้องการผลักดันเศรษฐกิจให้เกิดการเติบโต และช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

จนมาถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของ AIS ในการเข้าไปร่วมทุนกับทางสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง หรือ SPI ภายในกลุ่มสหพัฒน์ จัดตั้งบริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค ขึ้นมา เพื่อเข้าไปดูแลโครงข่ายใยแก้ว และโครงสร้างพื้นฐาน 5G เพื่อเข้าไปให้บริการภายในสวนอุตสาหกรรมของSPI ที่ครอบคลุมโรงงานกว่า 112 แห่ง

ความพิเศษของดีลนี้ ไม่ใช่แค่การตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาเพื่อดูแลโครงข่ายภายในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการร่วมทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน


สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวย้ำถึงการที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการร่วมกันพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด-19 ที่เอกชนจะเฝ้ารอมาตรการและการลงทุนจากภาครัฐอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ

“ประเทศไทยไม่ได้อยู่ตามลำพังในเศรษฐกิจนี้ เพราะทุกประเทศต่างก็แย่งชิงโอกาสในการเป็นผู้นำ ดังนั้นทำอย่างไรไทยจึงจะนำดิจิทัลเซอร์วิสมาช่วยฟื้นฟูธุรกิจได้มากที่สุด ทำให้ AIS ประกาศแผนเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนโครงข่าย 5G กว่า 45,000 ล้านบาท”
หนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศคือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้มีการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ ซึ่งถ้าแต่ละนิคมฯ มีความล้ำสมัยมากขึ้น ก็จะทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศหันมามองไทยเป็นฐานการผลิต

ขณะเดียวกันการนำเทคโนโลยีมาช่วยก็จะเพิ่มทั้งคุณภาพ และผลิตผลให้เพิ่มขึ้น พร้อมกับประหยัดต้นทุน และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย ซึ่งการมาของ 5G จะเข้ามาตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยยังเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่เปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์

ที่ผ่านมา AIS มองถึงความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจไว้ 3 แนวทางหลักๆ ประกอบด้วยการเข้าไปเป็นพันธมิตรร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ อย่างในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยเฝ้าระวัง และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ก็เข้าไปร่วมมือกับพันธมิตรที่พัฒนาหุ่นยนต์ นำมาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์ช่วยเฝ้าระวัง

แนวทางที่สองคือรูปแบบของส่วนแบ่งรายได้ที่ AIS เข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเชื่อมต่อภายในอาคาร คอนโดมิเนียม ที่พักอาศัย หรือแม้แต่ตามนิคมฯ ต่างๆ และแบ่งรายได้ให้แก่เจ้าของพื้นที่ ซึ่งถ้าเป็นในรูปแบบนี้จะไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนามากนัก แต่จะเน้นการสร้างรายได้มากกว่า

สุดท้ายคือแนวทางการตั้งบริษัทร่วมทุน ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเจอพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน และต้องการร่วมทุนเพื่อให้เป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ร่วมกัน ซึ่งการที่ต่างฝ่ายต่างลงทุนจะช่วยการันตีได้ว่า สิ่งที่ตั้งใจทำจะทำให้เกิดขึ้นได้จริง และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

“การร่วมทุนกันนอกจากการเข้าไปให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสงภายในสวนอุตสาหกรรมแล้ว ก็มีโอกาสที่จะขยายความร่วมมือจากการที่เข้าไปทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นงานใหม่ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการต่อยอดไปยังพันธมิตรของบริษัทที่เข้ามาร่วมทุนด้วย”

เบื้องต้น เทคโนโลยี 5G ที่ทาง AIS นำไปติดตั้งให้บริการในพื้นที่ของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นั้นให้บริการครอบคลุมเกินกว่ามาตรฐานที่กสทช. กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว และยังมีการนำเทคโนโลยี 5G ขั้นสูงอย่าง 5G SA (5G Stand Alone) มาให้บริการด้วย
ประโยชน์ของการติดตั้งโครงข่าย 5G แบบ SA คือช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถทำ Network Slicing แบ่งคลื่นความถี่ที่มีอยู่ ให้แต่ละโรงงาน แต่ละแอปพลิเคชันใช้งานตามที่ต้องการ อย่างเช่นโรงงานในสวนอุตสาหกรรมของสหพัฒน์ มีความต้องการใช้งานเครื่องจักร หุ่นยนต์ หรือรถยนต์ไร้คนขับผ่าน 5G ก็จะแบ่งคลื่นความถี่ให้เพียงพอกับการใช้งาน

“ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีการนำ 5G SA มาใช้งาน ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้านิคมอุตสาหกรรมไหนต้องการทำโรงงานผลิตอัตโนมัติก็สามารถทำได้ทันทีเพราะโครงข่ายพร้อมให้บริการแล้ว”

*** จับคู่กับบริษัทเชี่ยวชาญการร่วมทุน

ที่ผ่านมาในมุมของกลุ่มสหพัฒน์ จะมีการเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะการเข้าไปร่วมทุนกับบริษัท ญี่ปุ่นในกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค และสิ่งทอ ซึ่งกลายเป็นว่าการร่วมทุน กับ AIS ในครั้งนี้ ถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่เป็นบริษัทไทยก็ว่าได้


วิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ SPI ให้มุมมองว่า การที่ AIS กล้าลงทุนระดับ 4 หมื่นล้านบาทในช่วงวิกฤตนี้ ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ EEC และการที่เลือกร่วมทุนกับทางสหพัฒน์ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ภายในสวนอุตสาหกรรมต่อไป

“ในมุมของสหพัฒน์ เรามีหน้าที่ในการพัฒนาสินค้าในราคาที่เป็นธรรม และเหมาะสมกับผู้บริโภค และเชื่อว่าถ้ามีการนำ 5G มาใช้ใน 2-3 ปีข้างหน้า จะทำให้ผู้บริโภคได้สินค้าที่คุณภาพดีขึ้นในระดับราคาใกล้เคียงเดิม”

ในมุมของโรงงานอุตสาหกรรม การมีเทคโนโลยีที่แม่นยำเข้ามาช่วยควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ และลดความผิดพลาดในการผลิต ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด ดังนั้นการที่มี 5G เข้ามาช่วยจะทำให้สามารถคาดการณ์ความต้องการของตลาดได้ รวมถึงถ้ามีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผลิตก็จะช่วยเพิ่มปริมาณ และลดระยะเวลาในการผลิตลงได้ด้วย

“อย่างในเครือสหพัฒน์ที่มียอดขายจากผลผลิตในโรงงานหลักแสนล้าน ถ้าการนำ 5G เข้ามาช่วยลดต้นทุนได้ 5% หรือช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โรงงานผลิตได้ ก็จะประหยัดต้นทุนไปได้แล้ว กว่า 5 พันล้านบาท เพียงแต่ในเวลานี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมการสัก 1 ปี ก่อนนำโรงงานผลิตแบบอัตโนมัติมาใช้งาน”

ข้อดีของสวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ คือในแต่ละโรงงานทางกลุ่มสหพัฒน์มีส่วนเข้าไปถือหุ้นด้วย ทำให้สามารถเข้าไปแนะนำเทคโนโลยีที่น่าสนใจให้โรงงานที่ต้องการทรานฟอร์มได้นำไปใช้ และจะช่วยให้ภาพรวมของสวนอุตสาหกรรมมีการเติบโตขึ้นด้วย ทำให้ในเวลานี้แต่ละโรงงานที่ต้องเริ่มเตรียมแผนสำหรับปีหน้าต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะนำ 5G ไปใช้ทำอะไรได้บ้าง อย่างการเข้าไปช่วยเพิ่มความเร็วในการผลิต จนถึงการเข้าไปแก้ปัญหาที่แต่เดิมเคยติดขัดอยู่ ซึ่งจะทำให้ทุกโรงงานตื่นตัว ผลักดันให้รีบนำ 5G มาใช้ประโยชน์ และท้ายที่สุดจะทำให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้


สำหรับบริษัทร่วมทุน สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค (SAN) ที่ตั้งขึ้นจะเข้าไปดูแลโครงข่ายใยแก้ว นำแสง (Fibre Optic) และ โครงสร้างพื้นฐานไอซีที (ICT Infrastructure) ภายในสวนอุตสาหกรรมของ SPI ทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี, อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี, อ.เมือง จ.ลำพูน และ อ.แม่สอด จ.ตาก รวมพื้นที่ประมาณ 7,255 ไร่ ครอบคลุมโรงงาน 112 แห่ง

ทั้งนี้ SAN ตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 300,000 หุ้น เป็นเงิน 30 ล้านบาท โดยทาง ABN ถือหุ้นทั้งหมด 70% คิดเป็นเงินทุน 21 ล้านบาท ในขณะที่ SPI ถือหุ้น 30% คิดเป็นเงินลงทุน 9 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น