xs
xsm
sm
md
lg

รอด LINE ไทยแลนด์ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่ใช่ลอดลายมังกร แต่นาทีนี้ต้องพูดถึง "LINE ประเทศไทย" ที่สามารถขยายธุรกิจได้ร้อนแรงมากในช่วงที่โลกต้องปรับตัวอยู่กับวิถีนิวนอร์มัล ความพิเศษคือ LINE ประเทศไทยสามารถแสดงสกิลที่เหนือกว่าการเอาตัวรอดแบบพื้นๆ ด้วยการโชว์วิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่สะท้อนว่า LINE จะเติบโตก้าวกระโดดในอนาคต

1 ปีที่ผ่านมา LINE ประเทศไทยเปลี่ยนตัวซีอีโอจากอริยะ พนมยงค์ มาเป็น ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทยคนล่าสุดพยายามผลักดันแนวคิด "ไลฟ์ออนไลน์" โดยต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกคน เช่นตื่นเช้ามา ผู้ใช้ LINE จะสามารถอ่านข่าวได้ ดูซีรีส์บันเทิง เรียกแท็กซี่ ซื้อหาของใช้ และสื่อสารกับคนที่รัก

ที่ผ่านมา 1 ปี ดร.พิเชษฐถือว่าวิสัยทัศน์นี้ประสบความสำเร็จน่าภูมิใจ เพราะตัวเลขผู้ใช้ LINE ในประเทศไทยเพิ่มจาก 44 ล้านคนเป็น 46 ล้านคนใน 12 เดือนที่ผ่านมา โดยหวังว่า 1 ปีต่อไปนี้ จะขยายสัดส่วนได้อีกต่อเนื่อง

แม้วิกฤติโควิด-19 จะเกิดการล็อคดาวน์ สร้างความวิตกกังวลให้ธุรกิจ พนักงาน ผู้ค้าขาย และการใช้ชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่ LINE เห็นคือการเปลี่ยนไปสู่โลกดิจิทัล ซึ่ง LINE ประเทศไทยเชื่อว่าตัวเองสามารถตอบโจทย์ "นิวนอร์มัลไลฟ์สไตล์" ได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ

"ช่วงล็อกดาวน์ ผู้ขายบน LINE ประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านเป็น 4 ล้านราย LINE กลายเป็นเครื่องมือที่หน่วยงานเอกชนและภาครัฐเข้ามาร่วมมากขึ้น" ดร.พิเชษฐ ยกตัวอย่างโครงการ Find Food ที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อ โครงการ "ห้าง ททท. ช้อปฟินกินเที่ยวทั่วไทย" ที่นำงานแฟร์ขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์ม LINE ให้ลูกค้าได้ช้อปกันง่ายขึ้น กระจายรายได้ไปยังโรงแรม และธุรกิจบริการทั่วประเทศได้อย่างง่ายดาย หรือแม้แต่ธุรกิจยานยนต์ที่นำแพลตฟอร์ม LINE ไปใช้ประโยชน์ในการสื่อสารข้อมูลรถยนต์กับลูกค้า รวมถึงการทำนัด Test Drive ได้ถึงบ้าน รวมถึงแบรนด์เครื่องสำอางใหญ่ๆ ก็ยังหันมาทำธุรกิจอีคอมเมิรซกันมากขึ้นในช่วงที่หน้าร้านในห้างสรรพสินค้าไม่สามารถเปิดให้บริการได้

LINE จึงพยายามชูว่าตัวเองเป็นแพลตฟอร์มหลักในนิวนอร์มัล โดยเฉพาะด้านการสื่อสารที่ทำให้บริการ LINE Call ผ่านคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้นเกิน 200% เมื่อเทียบเดือนม.ค. และมี.ค. 2563 ยอดขายสติ๊กเกอร์ก็เพิ่มขึ้น ที่ขายดีคือสติ๊กเกอร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกักตัว

ตลอด 1 ปีที่นั่งเก้าอี้ซีอีโอ LINE ประเทศไทย ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ปฏิเสธไม่ประเมินคะแนนให้ตัวเอง
บริการ LINE MAN ก็เติบโต 3 เท่าตัวช่วงล็อกดาวน์ ขณะที่ LINE Shopping เติบโตขึ้น 100% มูลค่าการซื้อเพิ่ม 138% คนดูเพิ่มขึ้น 233% สินค้าส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมคือสินค้าในบ้าน ความงาม สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เสริม นอกนั้นเป็นกีฬา ต้นไม้

"การเติบโตนี้เห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นทั้งด้านการกินและการจับจ่าย ความต้องการนี้ยังอยู่ แต่อยู่บนออนไลน์ และอยู่บนแพลตฟอร์มเรา" ซีอีโอ LINE ระบุ "การเติบโตเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะผู้ใช้ให้การตอบรับดี แต่ในมุมการผลักดันองค์กร เรายังมองเรื่องการเป็นองค์กรที่ดี ที่สามารถรับการเปลี่ยนแปลงและมองเห็นโอกาสในวิกฤติ เรื่องที่ 2 คือความคล่องตัวสูง เราอยู่ในตลาดที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงเร็ว ต้องคล่องตัวถึงทำได้ เรื่องที่ 3 คือจะเน้นศึกษาผู้บริโภค เพื่อจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดี เรื่องที่ 4 คือเราเน้นการยกระดับชีวิต ช่วยพัฒนาการใช้ชีวิตประจำวันให้ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งหมดเป็น 4 เรื่องที่จะผลักดัน LINE ต่อไป"

ยุทธศาสตร์หลักคือผู้บริโภค

ซีอีโอ LINE เชื่อว่าพร้อมจะเติบโตไปกับผู้ลงโฆษณาทุกเจ้า โดยโฟกัสที่การตอบโจทย์ผู้บริโภค เบื้องต้นยอมรับว่าแม้จะเห็นการชะลอเม็ดเงินโฆษณา แต่เชื่อว่าหลังโควิดแล้วจะมีพื้นที่ให้มูลค่าตลาดโฆษณาออนไลน์ขยายตัวมากขึ้น ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถทำงานกับแบรนด์ แล้วตอบโจทย์ให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ดี

"ตัวผมคนเดียวผลักดันองค์กรไม่ได้ พนักงานและเพื่อนร่วมงานเป็นกลไกสำคัญที่จะพาเราไปได้ แต่ที่เห็นชัดคือ LINE ไม่ได้ตอบโจทย์แต่เอกชน เพราะสามารถเป็นแพลตฟอร์มช่วยหน่วยงานราชการได้ ผมคิดว่าที่เราเรียนรู้กันมา คือ LINE เป็นนิวนอร์มัลไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ได้ เราให้คำมั่นได้ว่าจะมุ่งมั่นผลิตแพลตฟอร์มที่ตอบไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนไทยทุกคน"

ซีอีโอ LINE ย้ำว่าความท้าทายของ LINE วันนี้ไม่ใช่คู่แข่งทางการค้า เพราะการมีคู่แข่งทำให้ตลาดโตขึ้น และเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลก็ยังมีช่องทางโต แต่ความท้าทายหลักคือ LINE จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ทั้งมุมผู้ใช้และผู้โฆษณา ซึ่งเชื่อว่าจะทำได้เพราะการศึกษาพฤติกรรมของทั้ง 2 ฝ่ายจนได้โซลูชันที่เหมาะสม


ก้าวต่อไปของ LINE ที่คนไทยจะได้เห็น คือการไปที่ตลาดโซเชียลมีเดีย ผู้บริหารมองว่าเป็นก้าวที่ปกติเพราะ LINE ต้องการจะเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน จึงมีแนวโน้มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่อื่นที่ตอบโจทย์คอร์ปอร์เรท ให้องค์กรเข้าถึงผู้บริโภคได้ดีขึ้น รวมถึงบริการที่ช่วยองค์กรขนาดเล็ก และบริการด้านการเงินหรือฟินเทค ซึ่งขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะเล่ารายละเอียด

สำหรับนโยบายรักษาความเป็นส่วนตัว ซีอีโอ LINE ระบุว่าเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญตั้งแต่แรกเริ่มธุรกิจช่วง 9 ปีที่แล้ว และยังคงเป็นนโยบายระดับโลกที่บริษัทจะทำตามกฏหมายของท้องถิ่นนั้นโดยคิดถึงสิทธิผู้บริโภคเป็นหลัก ขณะที่มาตรฐานความปลอดภัยบนแชตของ LINE ก็ไม่ด้อยกว่าใคร

แผนการลงทุน LINE ประเทศไทยนับจากนี้จะขยายตัวต่อเนื่อง จากบุคลากรไทยทั้งหมด 500 คนในขณะนี้ (รวม LINE Game) เนื่องจาก LINE มองว่าตลาดอาเซียนยังมีพื้นที่ให้โตอีก รวมถึงตลาดดิจิทัลแพลตฟอร์ม และเอสเอ็มอีที่มีโอกาสให้ LINE เติบโต

เมื่อถามถึงการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ ซีอีโอ LINE เชื่อว่าจะผลักดันให้ธุรกิจไปรอดได้เพราะเทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหาในช่วงที่ผู้คนไปไหนไม่ได้ ขณะที่ภาพรวมการแข่งขันในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะดุเดือดแน่นอน แต่บริษัทก็เชื่อในศักยภาพของตัวเอง

"LINE ประเทศไทยมียอดรายได้อยู่ที่อันดับ 2-3 ตลอดเวลา แข่งขันกับไต้หวัน บริษัทแม่จึงให้ความสำคัญกับการแข่งขันในตลาดไทย มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นที่ไทยอาจเป็นตลาดเล็กกว่าประเทศอื่น ดังนั้นสำหรับ LINE เราให้ความสำคัญกับตลาดไทยมาก"

ตลอด 1 ปีที่นั่งเก้าอี้ซีอีโอ LINE ประเทศไทย ดร.พิเชษฐ ปฏิเสธไม่ให้คะแนนตัวเองว่าสอบได้คะแนนเต็ม หรือคะแนนพอใช้ต้องปรับปรุง

"ผมให้คะแนนตัวเองก็คงแปลก ต้องถามผู้ร่วมงาน แต่ผมทำงานเต็มที่ 150% ตั้งแต่วันแรก เห็นการเปลี่ยนแปลง เราอยู่ในตลาดที่แข่งขันสูง ต้องแข่งกับคนที่ใหญ่กว่า ซึ่งเป็นหน้าทื่ของผมที่จะทำให้บริษัทแข่งขันได้ งานต่อไปที่จะโฟกัสคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแข่งกับบริษัทที่ใหญ่กว่า เพื่อให้ LINE เป็นองค์กรที่คนเก่งอยากมาทำงานด้วย"

สรุปว่าไม่ใช่แค่รอด แต่ LINE ต้องรุ่งเรืองด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น