ดูเหมือนจะไม่จบง่ายๆสำหรับกรณีพิพาทระหว่างหัวเว่ยและประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอย่าง“โดนัลด์ทรัมป์” ผู้ที่มองว่าบริษัทหัวเว่ยคือภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯโดยเชื่อว่าอุปกรณ์จากแดนมังกรที่นำมาปูทางเครือข่ายสัญญาณ 5G อาจถูกใช้เพื่อทำการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์และแน่นอนว่าบริษัทหัวเว่ยเองก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานั้นมาโดยตลอด
แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้จุดชนวนสงครามครั้งใหม่กับหัวเว่ยโดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐออกกฏข้อบังคับใหม่ในการทำธุรกิจกับหัวเว่ยและบริษัทในเครือให้เข้มงวดมากขึ้นโดยเนื้อหามีใจความสำคัญว่า“บริษัทต่างชาติใดที่ใช้อุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐจะต้องขอใบอนุญาตจากสหรัฐฯก่อนที่จะทำการส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับหัวเว่ย”
นั่นหมายความว่าหัวเว่ยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในการออกกฏข้อบังคับใหม่นี้เนื่องจากอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่หัวเว่ยใช้อยู่นั้นก็มาจากบริษัทที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกานั่นเองจึงเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มมีความกังวลที่จะใช้งานสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยกันมากขึ้น
แต่อันที่จริงแล้วปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคกังวลมากที่สุดยังคงมาจากการขาดGoogle Mobile Serviceที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ทุกรุ่นเพราะอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าสหรัฐฯได้ออกคำสั่งไม่ให้บริษัทในประเทศทำธุรกิจร่วมกับหัวเว่ยมาตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2019
ส่งผลให้แอปพลิเคชั่นและบริการทั้งหมดของกูเกิลไม่สามารถพรีโหลดบนสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยได้จวบจนปัจจุบันถือเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็มแล้วที่สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยไม่สามารถใช้บริการใดๆของกูเกิลได้เลย
อย่างไรก็ตามหัวเว่ยออกมาปลดล็อกให้ตัวเองด้วยการเปิดให้ใช้งานHuawei Mobile Services (HMS)หรือแพลตฟอร์มในการเผยแพร่บริการสำหรับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนหัวเว่ยโดยมี Huawei App Gallery เป็นช่องทางเพื่อการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันซึ่งปัจจุบันนี้มีแอปพลิเคชันอยู่ในแพลตฟอร์มแล้วกว่า 60,000 แอปแต่ก็ยังคงไม่มีแอปพลิเคชันยอดนิยมจากกูเกิลอย่าง Gmail, Google Maps, YouTube, Play Store, Google Drive, หรืออื่นๆที่จำเป็นต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันติดมาด้วย
ไบรอัน หม่า รองประธานส่วนวิจัยอุปกรณ์ของ IDC แสดงความคิดเห็นต่อ CNBC ว่า“ไม่ง่ายที่หัวเว่ยจะสร้างแพลตฟอร์มดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่สมบูรณ์แบบนอกประเทศจีนได้เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกยังคงต้องพึ่งพาบริการของกูเกิลไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันเพื่อการจัดการต่างๆ, แผนที่, การเงินและธนาคารและอื่นๆ”
“ไม่เพียงเท่านั้นในแง่มุมของนักพัฒนาแอปก็เป็นเรื่องยากเนื่องจากพวกเขามีงบประมาณและระยะเวลาจำกัดในการพัฒนาแอปพลิเคชันแต่ละตัวดังนั้นจึงไม่แปลกที่พวกเขาจะต้องเลือกพัฒนาแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์มที่มีฐานผู้ใช้งานจำนวนมากกว่า” ไบรอันหม่ากล่าว
“ถึงแม้ว่าปัจจุบันในHuawei Mobile Services (HMS)มีแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 60,000 รายการแต่หัวเว่ยยังคงขาดแอปพลิเคชันหลักที่ผู้ใช้งานทั่วโลกต้องการโดยเฉพาะแอปพลิเคชั่นสำคัญในตลาดต่างประเทศที่มาจากนักพัฒนารายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอาทิ Netflix, Instagram, Whatsapp และแน่นอนว่ารวมถึงทุกแอปพลิเคชันจากกูเกิลด้วย” นีลชาห์ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัท Counterpoint Research กล่าวเสริม
จนเมื่อไม่นานมานี้หัวเว่ยยังได้เพิ่มช่องทางการค้นหาและดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่านวิดเจ็ตในชื่อ“Petal Search”ที่มีความสามารถในการรวบรวมข้อมูลช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถหาการดาวน์โหลดแอปต่างๆที่ไม่มีใน Huawei App Gallery พร้อมแสดงผลลัพธ์ที่ผู้ใช้งานค้นหาไม่เพียงแต่แอปพลิเคชันนั้นๆแต่ยังสามารถดูข่าวสารพยากรณ์อากาศฟังเพลงหรือใช้จองห้องพักของโรงแรมก็ได้
เรียกได้ว่าช่วยให้ผู้ใช้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้นเนื่องจาก Petal Search นี้จะสามารถค้นหาแอปพลิเคชันจากแหล่งที่มาต่างๆเพื่อให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
ถึงจะเป็นอย่างนั้นแต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนบริการของกูเกิลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทำให้ผู้ใช้หลายคนที่ซื้อสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยตัดสินใจใช้วิธี Sideload ติดตั้งบริการของ Google เข้าไปด้วยตัวเอง
แต่อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งกูเกิลเคยออกมาเตือนผู้ใช้สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยแล้วว่าไม่ควรติดตั้งแอปพลิเคชันและบริการใดๆของ Google ด้วยวิธี Sideload หรือการหาแอปพลิเคชันดังกล่าวมาติดตั้งบนสมาร์ทโฟนด้วยตัวเองแบบผ่าน Google Play Store เพราะแอปพลิเคชันที่ไม่มีแหล่งที่มานอกจากการทำงานจะไม่เสถียรเหมือนกับการใช้งานบนอุปกรณ์ที่ผ่านการรองรับแล้วก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะติดมัลแวร์หรือถูกโจรกรรมข้อมูลจากอาชญากรไซเบอร์ก็เป็นได้
ยังไม่รู้ว่าเรื่องราวเหล่านี้จะชี้ชะตาธุรกิจสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยไปในทิศทางใดเพราะความรู้สึกของผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะวัดประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟนจากแอปพลิเคชันที่ติดตั้งไว้เพื่อใช้งานและเมื่อสมาร์ทโฟนที่มีอยู่นั้นไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ทั้งหมดผู้บริโภคก็คงต้องทบทวนกันต่อไปว่าการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนครั้งต่อไปจะเป็นรูปแบบไหนเพื่อให้ตอบรับไลฟ์สไตล์การใช้งานของตนเองมากที่สุด
สุดท้าย ก็ยังคงหวังว่ากรณีพิพาทระหว่างสหรัฐฯและจีนในครั้งนี้จะไม่ปานปลายและสามารถจบลงได้โดยเร็วเพื่อไม่ให้ผลกระทบใดๆตกสู่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมากไปกว่านี้อีก