หัวเว่ยประกาศกลางงานประชุมสุดยอดธุรกิจพลังงานระดับโลก Global Power Summit 2020 กระตุ้นหลายประเทศสร้างสมาร์ทกริดที่เชื่อมต่อเต็มรูปแบบ ย้ำบริษัทพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกกำลังมองหาวิธีปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ ด้วยการปรับใช้ศูนย์ข้อมูลและสร้างแพลตฟอร์มการจัดการขึ้นใหม่ ให้การผลิตพลังงานน่าเชื่อถือ มีเสถียรภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม
เดวิด ซุน (David Sun) รองประธาน หัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ บีจี และประธานหน่วยธุรกิจพลังงานทั่วโลก มั่นใจว่าหัวเว่ยสามารถช่วยให้ลูกค้ารับมือกับความท้าทายในอุตสาหกรรมเหล่านี้ และคว้าโอกาสทางธุรกิจได้ผ่านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลหรือดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน โดยย้ำว่าหัวเว่ยสามารถรวมเทคโนโลยี 5G, IoT, สาย optical, IP, คลาวด์คอมพิวติง, บิ๊กดาต้า และเทคโนโลยี AI เข้ากับระบบพลังงานแบบไร้รอยต่อ
ล่าสุด หัวเว่ยร่วมกับพันธมิตรเปิดตัวโซลูชั่นบริการอัจฉริยะบนเทคโนโลยี AI ซึ่งรองรับทั้งการตรวจสอบ การกระจาย การผลิต และการบริโภคพลังงาน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้สามารถตรวจจับการเชื่อมต่อโครงข่ายและระบบบริการอัจฉริยะของเทอร์มินอลผลิตพลังงานในรูปของสมาร์ทกริดได้
สมาร์ทกริด (smart grid) นั้นเป็นแนวคิดระบบบริหารการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีไอที ความอัจฉริยะของ smart grid อยู่ที่ความสามารถคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้า จากหลายแหล่งให้เหมือนมาจากโรงไฟฟ้าโรงเดียวกัน สมาร์ทกริดจะช่วยให้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง ฟอสซิล และพลังงานทดแทนสามารถผสมผสานสอดคล้องกับปริมาณการใช้งานจริงได้เหมาะสมแบบเรียลไทม์เมื่อมีการผลิตไฟฟ้า ทำให้ลดความสิ้นเปลืองจากการผลิตไฟฟ้าแล้วไม่ได้ใช้งาน
การประชุม Huawei Global Power Summit ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 7 ซึ่งหัวเว่ยเชิญลูกค้าทั่วโลก รวมถึงพันธมิตร และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า มาหารือเกี่ยวกับผลกระทบและการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่โควิด-19 ในปีนี้ ซึ่งในภาพรวม หัวเว่ยย้ำว่าตลาดพลังงานไฟฟ้ายังคงแสดงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ในยุคนิวนอร์มัล ทำให้อุตสาหกรรมต้องสร้างสมาร์ทกริดด้านพลังงานที่เชื่อถือได้ ประหยัดต้นทุน มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการยกระดับการผลิตและนำส่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพและสมเหตุสมผล
หัวเว่ยย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือบริษัทพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกกำลังพยายามใช้ศูนย์ข้อมูล และสร้างแพลตฟอร์มการจัดการขึ้นใหม่ รวมถึงการให้บริการที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นผ่าน “อินเทอร์เน็ตพลังงาน” (energy Internet) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม ทั้งหมดนี้ถือเป็นการทรานสฟอร์มหรือการเปลี่ยนผ่านตัวเองไปสู่รูปแบบการดำเนินงานใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีทั่วไปไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้
ดังนั้น หัวเว่ยจึงกระตุ้นว่าอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกจำเป็นต้องคิดหาวิธีการปรับให้เข้ากับแนวโน้มใหม่ โดยเฉพาะสมาร์ทกริดที่สามารถตรวจจับปัญหาด้านความปลอดภัยแบบเรียลไทม์ และตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยคาร์บอนได้
ทั้งหมดนี้เป็นความสำคัญของ 5G, AI, บิ๊กดาต้า และการประมวลผลแบบคลาวด์ในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า โดยตัวอย่างสำคัญที่หัวเว่ยยกมาคือมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน ซึ่งตั้งเป้าหมายบรรลุการใช้พลังงานรักษ์โลก 100% ซึ่งเมื่อร่วมกับหัวเว่ย ทางมณฑลสามารถยกระดับการประมวลผลแบบคลาวด์ แล้วสร้างศูนย์ข้อมูลพลังงานใหม่ที่ขับเคลื่อนโดย AI และความสามารถด้านบิ๊กดาต้า ทำให้ขณะนี้บริษัทพลังงานไฟฟ้าระดับจังหวัดของจีนสามารถคาดการณ์ผลผลิตพลังงานหมุนเวียนได้อย่างแม่นยำและง่ายดายตามการพยากรณ์อากาศ ซึ่งจากการทดลองในปีที่แล้ว มณฑลชิงไห่สามารถใช้พลังงานสะอาดสร้างไฟฟ้าได้ 100% ติดต่อกัน 15 วันทีเดียว