เปิดภารกิจ “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล-รองหนุ่ม” ในฐานะรักษาการเลขาธิการกสทช. สานต่อนโยบาย “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” อดีตเลขาธิการที่พ้นวาระ 9 เรื่องหลัก โดยเฉพาะ 3 เรื่องแรกที่กระทบคนวงกว้างอย่างการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz การเตรียมการประมูลดาวเทียมสื่อสาร และการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน พร้อมทั้งปรับปรุงให้สำนักงานกสทช.เป็นสำนักงานดิจิทัล และการยกระดับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ย้ำหน้าที่สำคัญวันนี้ต้องเร่งสร้างขวัญกำลังใจและความสามัคคีของคนกสทช.ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่รุนแรงของสำนักงาน กสทช.
“ผมคงดำเนินการตามแผนที่ท่านฐากร (ฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการกสทช.) วางเอาไว้ ทั้ง 9 ข้อคือพันธะสัญญาของสำนักงานกสทช. ไม่ว่าจะเป็นการประมูล 5G คลื่น 3500 MHz การเอาสายสื่อสารลงดิน การประมูลดาวเทียม การทำสำนักงานกสทช.ให้เป็นสำนักงานดิจิทัล การทำ ITA ให้ได้เป็น AA คงต้องสานต่อเพราะตอนกำหนดนโยบาย เป็นการทำงานร่วมกันทั้งสำนักงาน” ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการกสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร รักษาการเลขาธิการกสทช.ให้สัมภาษณ์หลังรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา
ในช่วง 6 เดือนที่เหลืออยู่ของปี 2563 ไตรรัตน์ย้ำว่าสิ่งที่อดีตเลขาธิการกสทช.เป็นห่วงคือเรื่องแรก การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะทำงานพิจารณา ประกอบด้วย 1. การเตรียมความพร้อมที่จะประมูล 2.เรื่องการเยียวยา เพราะการนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz มาประมูล มีผู้ที่ได้รับผลกระทบที่จะต้องไปเยียวยา ซึ่งอาจมีสักกี่คนหรือกี่สิบล้านคน 3.เรื่องการ์ดแบนด์ เนื่องจากคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz เป็นการใช้งานร่วมกันระหว่างดาวเทียมสื่อสารกับด้านโทรคมนาคม ซึ่งจะต้องมีการ์ดแบนด์เพื่อป้องกันการรบกวนความถี่ระหว่างกัน
“ทั้งนี้คณะทำงานรายงานมาขั้นต้นว่าการ์ดแบนด์จำนวน 100 MHz น่าจะเพียงพอแล้ว สามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz มาประมูลได้จำนวน 200 MHz แต่ผู้ประกอบการที่ใช้งานจริงระบุว่าการ์ดแบนด์จำนวน 100 MHz หรือข้างละ 50 MHz ไม่เพียงพอต้องเป็นการ์ดแบนด์ 200 MHz หรือข้างละ 100 MHz ถึงจะเหมาะสม ซึ่งก็คงให้ทดลองใช้ไปก่อนว่าการ์ดแบนด์ 100 MHz ขนาดนี้ใช้ได้หรือไม่อย่างไร แล้วจึงมาตัดสินใจอีกครั้ง”
เรื่องที่สองคือเรื่องการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ซึ่งมีโครงการที่สำนักงานกสทช.ร่วมกับการไฟฟ้าฯ ซึ่งต้องมีการหักเสาไฟฟ้า แต่ในช่วงวิกฤตโควิด -19 ต้องปรับแผนลดลงจากเดิมที่มีประมาณ 30 เส้นทางให้เหลือ 10 เส้นทาง ส่วนภูมิภาคจากแผนเดิม 10 เส้นทางก็จะเหลือเพียง 5 เส้นทางรวมทั้งยังมีในส่วนของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ประมาณ 12 เส้นทาง ที่เป็นจุดให้มาเชื่อมโยงแต่ไม่ได้มีหักเสาไฟฟ้าแต่อย่างใด
เรื่องที่สาม คือ วงโคจรดาวเทียม ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะดาวเทียมไทยคม 4 จะหมดสัญญาสัมปทานระหว่างดีอีเอสกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)ในปี 2564 แต่ตัวดาวเทียมสื่อสาร และ สถานีควบคุมดาวเทียมภาคพื้นดินยังสามารถใช้งานต่อได้ ซึ่งดีอีเอสจะดำเนินการต่อโดยให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งสำนักงานกสทช. ก็ต้องรอให้ครม.อนุมัติ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ระหว่างนี้เป็นการเตรียมการที่จะจัดสรรคลื่นความถี่และประมูลวงโคจรดาวเทียมที่ยังว่างอยู่อย่างเช่นที่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออกซึ่งไม่ได้มีสัญญาสัมปทานกับใคร
ไตรรัตน์ กล่าวว่า ทั้ง 3 เรื่องแรกเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับคนในวงกว้าง ส่วนงานที่เกี่ยวกับสำนักงาน กสทช. ที่ต้องรีบทำคือต้องปรับปรุงสำนักงานกสทช.ให้เป็นสำนักงานดิจิทัลตามที่ตั้งใจไว้ โดยที่กระบวนการดำเนินการอาจแตกต่างจากหน่วยงานอื่น เพราะหน่วยงานอื่นอาจเป็นการซื้อของเข้ามาเพื่อให้ดูเหมือนเป็นเทคโนโลยีเป็นดิจิทัล แต่นั่นเป็นแค่ tools หรือ เครื่องมือเท่านั้น
แต่จริงๆแล้ว การเป็นดิจิทัลคือการเชื่อมโยงระหว่าง data กับ flow หมายถึง ผู้บริหารต้องมี data แล้วกระบวนการทำงานที่จะต้อง flow ให้ได้ ดังนั้นสิ่งที่สำนักงานกสทช.ทำคือ 1.ต้องกำหนดกรอบแนวคิด (mindset) ของเจ้าหน้าที่กสทช.ก่อน ต้องให้เข้าใจว่าดิจิทัลคืออะไร เมื่อเกิดกรอบแนวคิด ก็ใส่ skill เข้าไปให้เพื่อให้มีความรู้ในการทำอะไรที่เป็นดิจิทัล และเมื่อคนข้างนอกมาติดต่อสำนักงานกสทช.ก็ติดต่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีให้ 2.กระจายการให้บริการต่างๆไปสู่ภูมิภาคให้มากขึ้นจากทั้งหมดที่มีอยู่ 80 กว่าบริการ ซึ่งปัจจุบันมี 13 บริการที่ภูมิภาคสามารถให้บริการได้แล้ว ก็จะเพิ่มอีก 11 บริการอย่างการขอใบอนุญาตมี/ตั้ง/ใช้ โดยต้องทยอยทำ เพราะบางบริการติดด้วยอำนาจของการอนุมัติ เพราะเป็นอำนาจของบอร์ด กสทช.แต่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้
“ปี 64-65 สำนักงานกสทช.ต้องเป็นสำนักงานดิจิทัล หมายความว่า ข้อมูลทั้งหมดที่สำนักงานกสทช.มี (data) กับกระบวนการทำงานต่างๆ (flow) เมื่อผู้บริหารอยากได้ข้อมูลตรงนี้ flow ต้องสามารถทำให้ผู้บริหารดึงข้อมูลออกมาได้เร็ว อันนี้ก็จะเป็นดิจิทัล จะช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหาร อุปกรณ์ต่างๆเป็นแค่เครื่องมือ (tools) เข้ามาช่วยเสริม อย่างเช่น การยื่นขอใบอนุญาตเดิมจะต้องไปหลายสำนัก ก็ทำแบบดิจิทัลคือพอยื่นข้อมูลเข้ามาก็กระจายไปทุกสำนักแล้วรวบรวมข้อมูลกลับมาเพื่อรอการตัดสินใจทีเดียว”
และ 3. การปลูกฝังให้เจ้าหน้าที่ให้รู้ว่าการทำงานในสำนักงานกสทช.ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบาย หรือ การกำกับดูแลต่างๆ ต้องอยู่บนความจริงไม่ใช่ความฝัน
“ผมเรียนรู้มาจากท่านฐากร ผมก็พยายามบอกน้องๆทุกคนให้ทำงานบนความจริงไม่ใช่ความฝัน ด้วยศักยภาพของบุคลากรกสทช.ไม่น่าหนักใจ ในฐานะรักษาการไม่ใช่ตัวจริง ผมแค่เตรียมความพร้อม อย่างงานที่เป็นนโยบายหลักๆ อย่าง การประมูลวงโคจรดาวเทียม การประมูลคลื่น 3500 MHz ที่ผมมองว่าอาจจะไม่ได้ประมูลในปีนี้ เราก็เตรียมความพร้อมให้ดีที่สุดเมื่อกรรมการกสทช.ชุดใหม่มา และ เลขาธิการกสทช.คนใหม่มาก็สามารถกำหนดวันประมูลได้ทันที” ไตรรัตน์กล่าวและย้ำว่า
“ปีนี้สำนักงานกสทช.เปลี่ยนผ่านเยอะมีทั้งผู้ช่วยเลขาธิการใหม่ มีทั้งผู้เชี่ยวชาญพิเศษใหม่ รองเลขาธิการใหม่ และบอร์ดใหม่ตามมาอีก เราไม่เคยเปลี่ยนแปลงรุนแรงขนาดนี้ ช่วงนี้ต้องสร้างความมั่นใจ ท่านฐากร อยู่กับเรามานานเหมือนเป็นมาสคอต พนักงานทุกคนก็รัก พอหมดวาระไปก็ใจหายกันเยอะ ผมมีหน้าที่ต้องประคับประคองจิตใจให้ทำงานต่อไปให้ได้ งานต้องอยู่ด้วยระบบ เราอย่าไปคิดว่าต้องอยู่ด้วยบุคคล เราก็รักท่านแต่จะใจหายแล้วไม่ทำงานก็เป็นไปไม่ได้ ต้องให้ทำงานกันต่อไป”