เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) เผยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบ โควิด-19 ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมพร้อมฝ่ากระแส “ความไม่แน่นอน” เพื่อลดความรุนแรงของความท้าทายเฉพาะหน้า และสร้างอนาคตที่ดีกว่าในระยะยาวพร้อมความสามารถในการยืดหยุ่น ทั้งนี้ แม้ว่าอุปสรรคจะเกิดขึ้นในหลายแวดวงอุตสาหกรรม แต่กลับมีโอกาสในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจเกิดขึ้น เพื่อยกระดับการบริการลูกค้า ตลอดจนเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความผูกพันของพนักงาน ในโลก “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่”
นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่าการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในด้านสังคม โรคระบาดดังกล่าวได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต การมีปฏิสัมพันธ์ การทำงาน การสื่อสารกับผู้อื่น รวมทั้งการเดินทางและการท่องเที่ยวของผู้คน ขณะเดียวกันในด้านเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้การเติบโตเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลให้ตัวเลขคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นภาคธุรกิจที่กำลังเริ่มเปิดให้บริการอีกครั้งต้องเผชิญกับความท้าทายว่าจะกลับมาดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างไร
““สภาพเศรษฐกิจย่อมมีผลต่อภาคธุรกิจ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในรูปแบบใด ธุรกิจจะต้องเตรียมพร้อมดำเนินธุรกิจฝ่าความไม่แน่นอนต่าง ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องปรับโครงการสร้างการดำเนินงานเพื่อตอบสนองอย่างต่อเนื่องต่อสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งสามารถทำให้ธุรกิจเกิดภาวะชะงักงัน นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจยังจะต้องบรรเทาความรุนแรงของความท้าทายเฉพาะหน้าด้วยการจัดการให้มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ปลอดภัยและมั่นคง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในยามที่ไวรัสยังคงแพร่ระบาดอยู่ ที่สำคัญที่สุดคือองค์กรธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีการทำงานแบบใหม่ในระยะยาว และต้องมีการปรับธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้น ถือเป็นช่วงเวลาที่องค์กรธุรกิจต้องกลับไปย้อนดูองค์กรทั้งหมดในภาพรวม และคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อมุ่งเน้นความสามารถในการฟื้นตัวและเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะอื่น ๆ ที่อาจจะทำให้ให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง” นายฮาระย้ำ
เอบีมมองว่าในวงการสินค้าสำหรับผู้บริโภค พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากคนเริ่มหันไปจับจ่ายใช้สอยบนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการซื้อของที่ร้านค้า รวมถึงความต้องการอาหารและผลิตภัณฑ์ดูแลบ้านที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ด้านห่วงโซ่อุปทานต้องพบกับภาวะชะงักงันเพราะความต้องการส่งของตรงไปยังผู้บริโภคสูงขึ้น ทั้งยังมีข้อกังวลด้านสุขภาพของแรงงานและข้อจำกัดด้านการขนส่งอีกด้วย สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้บริโภคหันมานิยมประสบการณ์แบบเฉพาะตัวมากขึ้น ในขณะที่ตัวแทนจำหน่ายและผู้จัดหาสินค้ากำลังประสบปัญหาในแง่ความมั่นคงทางธุรกิจและการเงิน ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรธุรกิจเริ่มมีวัฒนธรรมใหม่ในการทำงาน เช่น การทำงานระยะไกล รวมถึงความปลอดภัยส่วนบุคคล และการคำนึงถึงความมีสุขภาพกายควบคู่กับสุขภาพใจที่ดี
สำหรับตัวช่วยที่เอบีมแนะนำเพื่อเสริมความแกร่งให้ธุรกิจทั้งภายใน และภายนอก ได้แก่ “Cost Optimization” “SAP Acceleration” “Remote Working Security Assessment” “RPAaaS” และ “AI Debt Collection” ส่วนตัวช่วยสำคัญในการสร้างมูลค่า ได้แก่ “SAP IBP Starter Pack” “Virtual Showroom Customer Experience” “Product Portfolio Analysis” “Work Style Transformation” “Elastic Business Redesign” “New Customer Journey” “DX Maturity” Assessment” และ “Agile System Development Assessment”
นอกจากนี้ เอบีมยังชี้ให้เห็น 3 กระแสหลักที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ ในยุคโลกหลังโควิด-19 คือการเปลี่ยนแปลงคุณค่าองค์กร ความเร่งด่วนในการเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitization) และการทรานส์ฟอร์มองค์กร โดยสร้างสิ่งใหม่และการเตรียมพร้อม ที่ไม่เพียงแต่เพื่อรับมือกับ “ความปกติใหม่” เท่านั้น แต่ยังเพื่อต่อกรกับภาวะที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักจากเหตุการณ์ที่อาจคาดไม่ถึงในอนาคตด้วย
ทั้ง 3 กระแสหลักที่จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกยุคหลังโควิด-19 คือการเปลี่ยนแปลงคุณค่าองค์กร แม้ว่าลัทธิบริโภคนิยมจะดำเนินต่อไปในอนาคต แต่จะมีการมุ่งเน้นเรื่องคุณค่าทางสังคมเพื่อตอบสนองชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่น ๆ ด้วย กระแสที่สอง คือความเร่งด่วนในการเข้าสู่ระบบดิจิทัลเนื่องจาก โควิด-19 สะท้อนให้เห็นโลกแห่งอนาคต ดิจิทัลจะเป็นศูนย์กลางของการมีปฏิสัมพันธ์ทั้งหมด การเข้าสู่ระบบดิจิทัลจะเป็นเรื่องเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น กระแสที่สาม คือการปรับองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่เป็นการรวมผลของการเร่งดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน กับการปรับกระบวนทัศน์เพื่อดำเนินงานในรูปแบบ “ความปกติใหม่” เป็นตัวกำหนดมาตรฐานใหม่ที่จะนำมาใช้ประเมินบริษัทต่าง ๆ
“ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจจะต้องออกแบบการดำเนินธุรกิจใหม่และสร้างคุณค่ารองรับความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก การสร้างสิ่งใหม่และเตรียมความพร้อมเหล่านี้ ต้องมีขึ้นไม่ใช่สำหรับรับมือกับ “ความปกติใหม่” เท่านั้น แต่ยังใช้สำหรับจัดการกับการที่ธุรกิจหยุดชะงักจากเหตุที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ในอนาคตอีกด้วย” นายฮาระกล่าว