กูเกิลอัปเดท 4 จุดใหม่ย้ำจุดยืนปฏิบัติต่อข้อมูลของผู้ใช้อย่างรับผิดชอบ หนึ่งในนั้นคือการลุยเปลี่ยนให้การลบอัตโนมัติเป็นค่าเริ่มต้นสำหรับการตั้งค่ากิจกรรมหลักในบัญชีใหม่หลังจากเริ่มเปิดช่องในปีที่แล้ว ปัดการอัปเดทในช่วงเวลานี้ไม่ใช่ผลจากการกดดันของใคร แต่เป็นการอัปเดทตามวงจรปกติหลังจากพัฒนาต่อเนื่องหลายปีตามหลักการที่บริษัทยึดถือ
เกรก แฟร์ (Greg Fair) ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ความเป็นส่วนตัว (Privacy) จากกูเกิล กล่าวถึงที่มาของคุณสมบัติฟีเจอร์ใหม่ด้าน Privacy บนกูเกิลรอบล่าสุดว่า ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ทุกคนคือหัวใจสำคัญของทุกสิ่งที่บริษัททำ ดังนั้นกูเกิลจึงออกแบบผลิตภัณฑ์โดยเน้น 3 หลักการคือการรักษาข้อมูลของผู้ใช้ให้ปลอดภัย การปฏิบัติต่อข้อมูลของผู้ใช้อย่างรับผิดชอบ และการทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลของตัวเองได้
“มีความเข้าใจผิดว่ากูเกิลเก็บข้อมูลของผู้ใช้ไปตลอดกาล แต่ความจริงแล้วทุกคนสามารถเลือกลบข้อมูลของตัวเองได้เต็มที่ และขณะนี้สำหรับผู้ใช้รายใหม่ กูเกิลจะลบข้อมูลส่วนตัวอัตโนมัติให้เลย”
อัปเดทแรกที่กูเกิลประกาศคือหลังจากเปิดตัวให้ผู้ใช้ตั้งค่าลบข้อมูลส่วนตัวแบบอัตโนมัติเมื่อปีที่แล้ว ทั้งประวัติการใช้งาน ตำแหน่งที่อยู่ กิจกรรมการค้นหา ข้อมูลการใช้งานด้วยเสียง และประวัติการใช้งานยูทูบ (YouTube) โดยอัตโนมัติเมื่อข้อมูลมีอายุเกิน 3 เดือน หรือ 18 เดือน ความใหม่คือวันนี้กูเกิลเปลี่ยนให้การลบอัตโนมัติเป็นค่าเริ่มต้นสำหรับการตั้งค่ากิจกรรมหลักในบัญชีใหม่ ทั้งส่วนประวัติตำแหน่ง, กิจกรรมบนเว็บและแอป รวมถึงกิจกรรมบนยูทูบ
สำหรับผู้ใช้รายเดิม กูเกิลระบุว่าจะยังสามารถเลือกการลบอัตโนมัติให้เป็น 3 เดือน หรือ 18 เดือนได้เช่นเดิม ทั้งนี้ ระยะเวลาเก็บรักษาที่มีค่าเริ่มต้นจะไม่ถูกนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นเช่น Gmail, Google Drive และ Google Photos ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัยอยู่แล้ว
เหตุที่กูเกิลกำหนดกรอบเวลาเริ่มต้นลบข้อมูลอัตโนมัติไว้ที่ 3 เดือน เพราะบริษัทมองว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในมุมผู้ใช้ที่จะได้พิจารณาการใช้ของตัวเอง
อัปเดทที่ 2 ถูกพัฒนาเพื่อล้างความเชื่อว่าผู้ใช้กูเกิลควบคุมข้อมูลตัวเองไม่ได้เต็มที่ โดยกูเกิลการันตีว่าทุกคนมีอำนาจควบคุมข้อมูลตัวเอง เพราะกูเกิลพัฒนาเครื่องมือทรงพลังให้ทุกคนสามารถจัดการข้อมูลส่วนตัวในบัญชีได้
สิ่งใหม่ที่กูเกิลทำคือการเปิดช่องให้ผู้ใช้ควบคุมข้อมูลส่วนตัวบนกูเกิลแอคเคาท์โดยตรงจากหน้าเสิร์ช (Search) โดยเมื่อลงชื่อใช้งานกูเกิลแอคเคาท์ใด ก็จะสามารถเสิร์ชคำถามว่า “กูเกิลแอคเคาท์ของฉันปลอดภัยไหม?” (Is my Google Account secure?) หรือคำว่า “ตรวจสอบความเป็นส่วนตัวบนกูเกิล” (Google Privacy Checkup) ซึ่งระบบจะแสดงส่วนตั้งค่าให้ในหน้าผลการเสิร์ช เพื่อให้ผู้ใช้ตั้งค่าได้เลยทันที
อัปเดทที่ 3 คือการเพิ่มคำแนะนำเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้ดีขึ้น เป็นการอัปเดทที่ต่อเนื่องบนส่วน “Privacy Checkup” ที่กูเกิลย้ำว่ามีผู้ใช้กว่า 200 ล้านคนเข้ามาหาข้อมูลทุกปี
อัปเดทที่ 4 คือการเข้าสู่โหมดไม่ระบุตัวตนหรือ Incognito mode ที่ง่ายขึ้น จุดนี้กูเกิลการันตีว่าจากนี้ไปทุกคนสามารถเข้าสู่โหมดไม่ระบุตัวตนได้ง่ายขึ้นในแอปยอดนิยมของบริษัท ทั้งกูเกิลเสิร์ข กูเกิลแมปส์ และยูทูบ เพียงกดที่รูปโปรไฟล์ค้างไว้ สามารถใช้งานได้แล้ววันนี้บน Google App สำหรับ iOS และจะเปิดให้ใช้งานได้ในเร็ว ๆ นี้สำหรับ Android และอื่น ๆ
นอกจากนี้ กูเกิลยังย้ำว่าความเชื่อเรื่องกูเกิลคอยฟังบทสนทนาของผู้ใช้นั้นไม่ใช่ความจริง เพราะกูเกิลสร้างระบบผู้ช่วยหรือกูเกิลแอสซิสเทนท์เพื่อให้รอพร้อมทำงานจนกว่าจะได้ยินเสียงเรียก “เฮ้กูเกิล” ดังนั้นระบบจะไม่ได้ถูกตั้งค่าเริ่มต้นให้บันทึกเสียงใดๆ และผู้ใช้สามารถไปที่กูเกิลแอคเคาท์เพื่อดูหรือลบข้อมูลที่เคยโต้ตอบผ่านแอสซิสเทนท์ได้อย่างโปร่งใส
ขณะเดียวกัน กูเกิลยังหยิบความเชื่อที่หลายคนมองว่ากูเกิลเอาข้อมูลผู้ใช้ไปหารายได้ มาอธิบายว่าแท้จริงแล้วบริษัทใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อพัฒนาบริการสำหรับทุกคน และมีเพียงข้อมูลส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกนำมาประเมินเพื่อเสนอโฆษณา โดยที่กูเกิลได้รับความยินยอมจากผู้ใช้แล้ว
ส่วนสุดท้ายที่ผู้บริหารกูเกิลยืนยัน คือการยืนยันว่ากูเกิลจะไม่มีทางนำข้อมูลผู้ใช้ไปขาย ทั้งกับนักโฆษณาและใครทั้งนั้น โดยคำยืนยันนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากที่กูเกิลเคยย้ำมาตลอด คู่กับการประกาศว่าบริษัทมีการลงทุนต่อเนื่องเพื่อรักษาข้อมูลผู้ใช้ให้คงความเป็นส่วนตัวอยู่เสมอ
เมื่อถามว่าทำไมกูเกิลถึงใช้เวลานี้ในการประกาศอัปเดทฟีเจอร์ด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ผู้บริหารกูเกิลย้ำว่าไม่มีอะไรเกี่ยวกับกรอบเวลาเป็นพิเศษ เนื่องจากบริษัทสานต่องานด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลมานานแล้ว และต้องการให้อัปเดทฟีเจอร์ด้านนี้เป็นวงจรปกติ ทั้งหมดนี้ไม่มีการเอ่ยถึงแรงกดดันจากคู่แข่งหรือกระแสสังคมแต่อย่างใด
ประเด็นความเป็นส่วนตัวของกูเกิลถูกมองเป็นจุดอ่อนที่คู่แข่งมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า เห็นได้ชัดจากที่แอปเปิล (Apple) ประกาศเปิดตัวแอปใหม่ที่สามารถแปลเสียงและข้อความได้อัตโนมัติ โดยจะใช้ระบบการเรียนรู้ด้วยเครื่องที่อยู่บนอุปกรณ์หรือ ”on-device machine learning” ซึ่งแทนที่ส่งข้อมูลไปยังศูนย์ข้อมูลของ Apple การแปลก็จะทำบนเครื่องไอโฟนนั้นเลย วิธีนี้ผู้บริหารแอปเปิลย้ำว่าการแปลบนอุปกรณ์จะดีกว่าในเชิงความเป็นส่วนตัว เพราะไม่มีข้อมูลผู้ใช้หลุดรอดออกจากสมาร์ทโฟนในระหว่างกระบวนการแปล คำพูดนี้ถูกโยงถึงกูเกิลชัดเจน เพราะกูเกิลแปลภาษาโดยอาศัยศูนย์ข้อมูลระบบคลาวด์สำหรับการแปล แม้ขณะนี้จะมีให้บริการแปลภาษาในโหมดออฟไลน์ ซึ่งสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและจำกัดการเก็บข้อมูล แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็ยังเลือกใช้งานแบบคลาวด์ ทำให้แอปเปิลชูความเด่นเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ได้ดีกว่า.