xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตลาด Dell EMC PowerStore สตอเรจมิดเรนจ์แรกนับตั้งแต่ Dell ฮุบ EMC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวถึงภาวะปริมาณข้อมูลทั่วเอเชียแปซิฟิกขยายตัวชัดเจนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
แจ้งเกิด "ผลิตภัณฑ์บริหารจัดการข้อมูลระดับกลาง" ที่เป็นการออกแบบร่วมกันนับตั้งแต่เดลล์ (Dell) ควบรวมกิจการกับอีเอ็มซี (EMC) ในปี 2015 แถมยังเปิดกว้างรองรับ VMware สุดยืดหยุ่น กลายเป็น Dell EMC PowerStore ที่ผสานระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเทคโนโลยีสำหรับยุคหน้าและสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ที่ไม่เคยมีมาก่อนเข้าด้วยกัน เพื่อมอบโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการยุคนิวนอร์มัล

นายนพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวถึงความเป็นมาของโปรดักต์ใหม่ Dell EMC PowerStore ว่าวันนี้องค์กรมีตัวเร่งต้องปรับเทคโนโลยี ให้ใช้ประโยชน์จากดาต้าหรือข้อมูลได้มากที่สุด เพราะข้อมูลเกิดได้ทุกที่ทุกบริการขององค์กร ทำให้ปริมาณข้อมูลทั่วโลกขยายตัวชัดเจนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดจากปี 2019 ที่ปริมาณข้อมูลในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มเป็น 13.31 เพตาไบต์ เพิ่มขึ้น 693% จาก 1.68 เพตาไบต์ที่วัดได้ในปี 2016

ข้อมูลมหาศาลทำให้การสำรวจพบว่าองค์กรส่วนใหญ่พยายามเอาแอปพลิเคชันลงมาจากพลับลิกคลาวด์ เพื่อบริหารกันเองที่สตอเรจของบริษัทหรือออนพริมิส (On premise) เพราะต้องการควบคุมต้นทุน และเพิ่มความปลอดภัย

ทีมไอทียุคนี้จึงต้องใช้เวลาและพลังมากในการจัดการ แถมยังมีความท้าทายเรื่องการทรานสฟอร์มธุรกิจ ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นความแตกต่างของแนวคิดการจัดการข้อมูลช่วงปี 2000 ถึง 2020 ที่เน้นการดูแล ปกป้อง และวิเคราะห์ แต่ปีนี้จะไม่เหมือนเดิมเพราะข้อมูลนั้นจะต้องนำมาใช้งานได้ด้วยโครงข่ายที่บริษัทวางไว้ เรียกว่าต้องมีเครื่องมือทันสมัยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งการจะบริหารได้ในรูปแบบนี้ก็ต้องมีโครงข่ายข้อมูลที่ฉลาด ยืดหยุ่น ตอบสนองความต้องการใหม่ของธุรกิจได้

ดีมานด์ใหม่ ระบบก็ต้องใหม่

เมื่อทั้งหมดนี้ทำด้วยระบบเดิมไม่ได้ เดลล์จึงเปิดตัวแพลตฟอร์มสตอเรจอัจฉริยะสมัยใหม่ (modern infrastructure platform) ที่เน้นตอบความต้องการของลูกค้าองค์กรที่ต้องการนำระบบไปใช้เพื่อการดุแลข้อมูลที่ฉลาดและปรับเปลี่ยนได้ง่าย เป็นส่วนสำคัญให้ “พาวเวอร์สโตร์” ตอบความต้องการด้านไอทีสมัยใหม่

“ระบบนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว ใช้งานมาแล้ว ว่าทันสมัยและตอบความต้องการได้ พาวเวอร์สโตร์เป็นสินค้าใหม่ที่ถูกดีไซน์ใหม่ทั้งหมด ให้เหมาะกับยุคแห่งดาต้า เน้น 3 ด้านคือการบริการข้อมูล ความอัจฉริยะ และความยืดหยุ่น โดยทำความเร็วได้เร็วขึ้น 7 เท่า ลดความหน่วงได้ 3 เท่า เมื่อเทียบกับสตอเรจ อาเรย์ (storage arrays) ในระดับมิดเรนจ์ของ Dell EMC รุ่นก่อนหน้า รองรับเรื่องการขยับขยาย และตอบโจทย์เรื่องเก็บข้อมูล รองรับมัลติคลาวด์ เรียกว่าตอบทั้งด้านจำนวนและประสิทธิภาพ เป็นจุดเด่นที่แข่งกับรายอื่นได้ชัดเจน”

ชื่อเต็มของพาวเวอร์สโตร์คือ Dell EMC PowerStore ถูกชูจุดขายเป็นมิติใหม่ของโครงสร้างพื้นฐานสตอเรจทันสมัย ที่เด่นเรื่องความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพสูง เป็นแพลตฟอร์มสตอเรจที่ได้รับการกำหนดโครงสร้างด้วยการออกแบบให้เป็นแบบ Data-Centric พร้อมระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ และสถาปัตยกรรมที่ปรับเปลี่ยนได้ ให้ความเร็วที่สูงกว่า 7 เท่า ตอบสนองได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับสตอเรจ อาเรย์ (storage arrays) ในระดับมิดเรนจ์ของ Dell EMC รุ่นก่อนหน้า




"พาวเวอร์สโตร์เป็นสินค้ากลุ่มมิดเรนจ์ ที่สามารถใช้เป็นสตอเรจได้เลย เป็นระบบสแตนอะโลนที่ประยุกต์ได้ทุกธุรกิจ ไม่จำกัดขนาดเล็ก กลางหรือใหญ่ แต่จะเจาะกลุ่มองค์กรที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพการทำงานด้านข้อมูล รองรับหลากหลายทั้งไฟล์ ทั้งไมโครเซอร์วิส ไม่มีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับความต้องการ ทำให้ราคาเริ่มต้นของพาวเวอร์สโตร์ ขึ้นอยู่กับความต้องการด้วย"

เมื่อระบบเดิมทำงานไม่ได้ เดลล์จึงเปิดตัวแพลตฟอร์มสตอเรจอัจฉริยะสมัยใหม่ (modern infrastructure platform)
นอกจากนี้ยังมี AppsOn ฟังก์ชั่นใหม่ที่เป็นหนทางเดียวที่ช่วยให้เวอร์ชวลเวิร์กโหลดบน VMware และแอปพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์สามารถทำงานโดยตรงบนอาเรย์ที่สร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ (purpose-built array) เพื่อการเข้าถึงดาต้าที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และด้วยเวลาในการตอบสนอง (response times) ที่เร็วกว่าเดิม

ยังมีเดลล์ อีเอ็มซี ฟิวเจอร์-พรูฟ โปรแกรม (Dell EMC Future-Proof Program) ที่ได้รับการปรับขยายให้ครอบคลุมการอัพเกรดระบบในทุกเวลา (Anytime Upgrades) เพื่อให้ลูกค้ามีอิสระในการขยายโครงสร้างพื้นฐานตามการกำหนดและความต้องการของตัวเอง

โควิด-19 ไม่มีผล

สำหรับมุมมองตลาดสตอเรจครึ่งปีแรก นพดลระบุว่าลูกค้าเดลล์ส่วนใหญ่ต้องการเอาเทคโนโลยีไปใช้ทำธุรกิจช่วงการระบาดของโควิด-19 จึงมีการวางแผนและจัดลำดับความสำคัญเพื่อการลงทุนในครึ่งปีหลัง ว่าต้องเตรียมพร้อมอย่างไรในการทำธุรกิจในยุคที่ไม่ปกติ และรอบรับกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหมด ภาวะนิวนอร์มัลนี้จะทำให้ธุรกิจเน้นมองที่การลงทุนเรื่องตอบโจทย์ให้บริษัทยังทำธุรกิจได้ในขณะที่ยังเกิดปัญหาได้อย่างปกติที่สุด ทั้งเรื่องการทำงานจากระยะไกล และที่เดลล์โฟกัสคือพาวเวอร์สโตร์ จะเป็นสถาปัตสาหกรรมใหม่ที่สนองลูกค้าในอนาคตอันใกล้ได้

“ครึ่งปีหลังหรือจากนี้ไป ธุรกิจจะมองเทคโนโลยีที่บริหารจัดการได้ ยืดหยุ่น คล่องตัวสูง ให้ทำธุรกิจในยุคนิวนอร์มัลได้”

นายประหยัด รุ่งสมัยทอง ผู้อำนวยการฝ่าย Presales เดลล์ เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย มั่นใจว่าโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลให้การลงทุนไอทีช้าลง เพราะตัวดันการลงทุนไอทีไทยปีนี้คือ 5G เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดข้อมูลมหาศาล ยังมีความแพร่หลายของระบบ IoT และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะขยายตัวสูงเพราะโควิด-19 ทำให้ผู้คนเดินทางไม่ได้ จึงนิยมซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ ดังนั้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจึงไม่ชะลอตัว เพราะองค์กรต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัว โควิด-19 จึงเป็นตัวเร่ง ไม่เช่นนั้นก็อยู่รอดไม่ได้

“การเปิดตัวพาวเวอร์สโตร์ในเวลานี้เป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะลงทุนแล้วจะทำให้ธุรกิจต่อสู้กับการดิสรัปได้”

Dell EMC PowerStore
ผู้บริหารเดลล์ฟันธงว่าภาพรวมการลงทุนไทยสดใส เพราะวันนี้องค์กรใหญ่ในไทยมีการตั้งประธานฝ่ายข้อมูล และประธานฝ่ายความปลอดภัยของข้อมูลขึ้นมาทำงานคู่กัน ยังมีการแต่งตั้งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง แปลว่าองค์กรใหญ่ของไทยให้ความสำคัญกับการหาวิธีรู้ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของลูกค้าในเชิงลึก

พ.ร.บ. ข้อมูลฯ เลื่อน แต่การลงทุนไม่เลื่อน

ที่สำคัญ ตลาดมัลติคลาวด์จะขยายตัวชัดเจนในไทยช่วงปีนี้ และการเลื่อนกำหนดบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วน บุคคล (PDPA) จะไม่มีผลด้านลบ เพราะองค์กรไม่ได้จำกัดว่าลงทุนมัลติคลาวด์เพื่อตอบโจทย์เฉพาะเรื่อง พ.ร.บ. เพียงแต่ พ.ร.บ. จะมีส่วนบ้างเท่านั้น

“แต่เรื่องของเทรนด์ เรื่องการทำทรานสฟอร์เมชัน และการถูกกระตุ้นให้ธุรกิจต้องปรับตัวได้รวดเร็วขึ้น ตรงนี้จะมีผลมากกว่า ทำให้ธุรกิจหันมาลงทุน การเลื่อน พ.ร.บ. ไม่ได้มีผล องค์กรไม่ชะลอการลงทุน เพราะองค์กรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ ให้รองรับปัจจุบันมากกว่า” นายประหยัดระบุ “การดึงเวลาน่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะธุรกิจให้ความสำคัญ และเร่งที่จะลงทุนให้เทคโนโลยีมาไดร์ฟให้องค์กรโต”

เป้าหมายของเดลล์ในปีนี้คือต้องการไดร์ฟการเติบโตและตอบโจทย์ลูกค้า (ไม่ระบุตัวเลขที่ตั้งเป้าไว้) บนจุดเด่นของเดลล์เรื่องการเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยตอบโจทย์ใหญ่ของลูกค้า และมีโซลูชันให้องค์กรปรับเป็นบริษัทดิจิทัลได้ โดยสิ่งที่เดลล์ได้เรียนรู้จากช่วงโควิด-19 คือองค์กรไหนที่ปรับตัวได้เร็วกับสภาพที่ไม่คุ้นเคย หากปรับพัฒนาได้ทัน และมีเทคโนโลยีที่ทำได้ยืดหยุ่น รองรับความต้องการที่มากขึ้น ก็จะทำธุรกิจได้ดี เพราะโควิด-19 เป็นทั้งตัวเร่งและทำลายวิธีการทำงานแบบเดิมทั้งหมด ทุกคนจึงมีจุดเริ่มเท่ากัน

ความท้าทายใหญ่ที่สุดของเดลล์ในครึ่งหลังปี 2020 จึงไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ผู้บริหารระบุว่าเป็นการทำอย่างไรให้ธุรกิจใช้เทคโนโลยีของเดลล์จนปรับธุรกิจให้เติบโตได้

“เราเตรียมพร้อมโซลูชันแพคเกจ เพราะรู้ว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลายากลำบาก ลูกค้าต้องการคู่คิด ช่วยวางแผนลงทุนไอที ให้ทันสมัย และต้องมองว่าทำให้ทันกับความต้องการ ความท้าทายคือการทำให้ลูกค้าประสบความสำเร็จให้ทำธุรกิจต่อไปได้”.


กำลังโหลดความคิดเห็น