ดีแทค เผยชาวเน็ตไทยเสี่ยงเผชิญปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สูงขึ้น เหตุเด็กใช้เวลาออนไลน์สูงขึ้นเฉลี่ย 5 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยพบข้อความสร้างความเกลียดชัง (Hate speech) เฉลี่ย 39 ข้อความต่อนาทีบนโซเชียลมีเดีย กว่าครึ่งเป็นการเหยียดด้านรูปลักษณ์ เพศวิถีและทัศนคติ
ขณะที่สถานศึกษาเป็นบ่อเกิดของปัญหาการแกล้งทางโลกออนไลน์ ด้าน “ครู” ไม่เข้าใจ-รับมือการแก้ปัญหา ขณะเดียวกัน ร่วมมือ “องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” พัฒนาหลักสูตรสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางเพศวิถี มุ่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทค ร่วมมือกับ Wisesight จากการศึกษาผ่าน Social listening tool โดยรวบรวมข้อความต่างๆ ทางโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, ฟอรั่ม และบล็อกข่าวในประเทศ ช่วงเดือน พ.ย. 2561-ต.ค.2562 พบว่า
โลกออนไลน์ของไทยประกอบด้วยข้อความที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ แกล้ง ล้อ และเหยียดราว 700,000 ข้อความหรือเฉลี่ย 39 ข้อความต่อนาทีและมีการขยายความต่อผ่านการรีทวีต ไลก์ แชร์ ทำให้เกิดการขยายข้อความดังกล่าวทั้งสิ้นราว 20 ล้านรายการ
โดยลักษณะการบูลลี่ที่ปรากฎในโซเชียลมีเดียของไทยนั้น 36.4% เป็นการบูลลี่ด้านรูปลักษณ์ ตามด้วย 31.8% เป็นการบูลลี่ทางเพศวิถี และ 10.2% เป็นการบูลลี่ทางความคิดและทัศนคติ ส่วนที่เหลือเป็นการบูลลี่ด้านอื่นๆ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา บุคลิกลักษณะนิสัย รสนิยมความชอบ ฐานะทางการเงิน และครอบครัว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าการแกล้งกันทางออนไลน์นั้นส่วนมากพบในวงการ “การศึกษา” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับ “อนุบาล” ไปจนถึงระดับมัธยม โดยมีเพื่อนเป็นคนที่ปรากฏในข้อความที่พูดถึงการบูลลี่มากที่สุด
ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว ดีแทคได้ร่วมมือกับ Punchup บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการและนำเสนอข้อมูล อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลที่ตั้งค่าส่วนตัวของแพลตฟอร์ม ทำให้ข้อมูลที่รวบรวมนี้อาจไม่ใช่ปริมาณข้อความที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ทั้งหมดบนโซเชียลมีเดีย และด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษาและเทคโนโลยี ข้อมูลนี้จึงอาจไม่ครอบคลุมข้อความที่ใช้คำประชดประชันหรือว่าร้ายในบริบทเฉพาะได้ และมีความเป็นไปได้ที่จะถูกตีความด้วยความหมายที่ต่างออกไป”
นางอรอุมา กล่าวเสริมว่า จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่าโซเชียลมีเดียของไทยในทุกแพลตฟอร์มล้วนประกอบไปด้วยข้อความที่สร้างความเกลียดชังผ่านการแกล้งกันทางออนไลน์ ซึ่งเด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงอย่างมากทั้งการเป็นผู้แกล้งและผู้ถูกกลั่นแกล้ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการสร้างความแข็งแรงทางดิจิทัล (Digital Resilience) ให้สามารถเผชิญและรู้เท่านั้นต่อปัญหา
เปิด 3 กลยุทธ์ dtac Safe Internet สร้างความยั่งยืน
นางอรอุมา กล่าวสำหรับกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืนของดีแทค สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ Responsible business หรือการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ส่วนอีกกลยุทธ์คือ Empowering societies ซึ่งเป็นการนำความเชี่ยวชาญและทรัพยากรทางเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการ dtac Safe Internet ซึ่งปีนี้ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 5 โดยมีความมุ่งหวังในการสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันให้เด็กสามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย เหมาะสม และสร้างสรรค์
โดยประกอบไปด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญ 1.งานพัฒนาศักยภาพบุคลากร หรือ Capacity building เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์ความรู้และจัดอบรมแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน
2.งานผลักดันนโยบายสาธารณะ หรือ Advocacy and public policy เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและครอบคลุมองคาพยพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และ 3.งานสื่อสารสาธารณะและวิจัย หรือ Thought leadership and communication เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนและสังคมต่อปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ ตลอดจนการให้ความรู้ เปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อสังคม
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์อย่างยั่งยืน ซึ่งมักเกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียนเพศทางเลือก ดีแทค จึงได้ร่วมมือกับ “องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” พัฒนาและอบรมหลักสูตร Gender diversity to stop cyberbullying ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักสูตรซึ่งพัฒนาจากองค์ความรู้วิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และลักษณะเพศ (Sexual Orientation, Gender Identity and Expression, and Sex Characteristics หรือ SOGIESC) ซึ่งเป็นแนวคิดในการอธิบายเพศสภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างทางเพศของแต่ละบุคคลให้เกิดทัศนคติที่เหมาะสมและนำไปสู่ทัศนคติและการแสดงออกที่เคารพต่อบุคคลอื่นในสังคมที่มีความหลากหลาย โดยปัจจุบัน ได้ดำเนินการอบรมไปแล้วในหลายโรงเรียนของจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือของไทย