นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ โพสต์รูปภาพแฉโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านเกษตรนวมินทร์ หลังพบแบบบันทึกพฤติกรรมรายบุคคลที่มีการลงโทษนักเรียนที่มีการเบี่ยงเบนทางเพศ วอนโรงเรียนรีบปรับปรุงแก้ไข
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นายศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “SirisakPosh ChaitedSpice” วิจารณ์โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านเกษตรนวมินทร์ เกี่ยวกับแบบบันทึกพฤติกรรมรายบุคคลของนักเรียน ที่ผู้โพสต์กล่าวหาว่าเป็นการละเมิดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียนหลากหลายเพศเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ พบว่าภาพที่ผู้โพสต์ได้นำมาเปิดเผยนั้นได้มีการระบุข้อความเกี่ยวกับความผิดระดับร้ายแรง โดยหนึ่งในนั้นมีความผิดด้าน “ชู้สาว-เบี่ยงเบนทางเพศ” ซึ่งคณะกรรมการระดับโรงเรียนจะพิจารณา “ภาคฑัณฑ์” นักเรียน และจะได้รับผลการประเมิน “ไม่ผ่าน” คุณลักษณะอันพึงประสงค์
โดยทางผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า “ความจริงแล้วโลกมนุษย์ใบนี้ไม่มีใครที่เบี่ยงเบนทางเพศ มีแต่คนที่มีความหลากหลายทางเพศ... ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าคำว่าเบี่ยงเบนทางเพศอาจเป็นความรู้เก่า และแบบประเมินนี้คงผลิตออกใช้มานานจนไม่ได้แก้ไข ซึ่งท่านๆอาจตามไม่ทันว่าสมัยนี้เขาไม่ใช้กันแล้ว แต่ถึงอย่างไร หากท่านเข้าใจว่า คนที่เบี่ยงเบนทางเพศ คือ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ #LGBTIQANs แล้วละก็ ท่านก็ไม่มีสิทธิที่จะนำศักดิ์คุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนเพศหลากหลายมาระบุเป็นพฤติกรรมที่มีความผิดร้ายแรง ต้องโดนภาคทัณฑ์ และไม่ผ่านการประเมินในภาคเรียนนั้นๆ เพราะความหลากหลายทางเพศนั้น คือ ความเป็นมนุษย์ มีคุณค่าและศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับเพศชาย หญิง หาใช่พฤติกรรมที่เบี่ยงเบน วิปริตผิดแปลก จนท่านต้องออกแบบประเมินให้นักเรียนเหล่านี้ กลายเป็นผู้กระทำผิดร้ายแรง/โดนภาคทัณฑ์/ไม่ผ่านประเมิน แต่มันคือความเป็นมนุษย์ ความเป็นอัตลักษณ์ เพศสภาพ การแสดงออก เพศวิถีและรสสนิยมทางเพศ ที่นักเรียนแต่ละคนมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเองที่ แสดงเจตน์จำนงค์ของตนเองออกมา ซึ่งทุกคนควรให้ความเคารพในสิทธิของนักเรียนแต่ละคน ไม่ใช่ออกแบบประเมิน กดทับและลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศเช่นนี้ เพียงเพราะเค้าเหล่านี้มิได้ประพฤติตามเพศกำเนิด หรือตามความคิดความเชื่อ ความคาดหวังของสังคมเท่านั้น
ขออธิบายเพิ่มเติมให้ผู้อำนวยการ ผู้บริหารและครูทุกท่าน ทราบว่า
1. องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศแก้ไขคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ หรือ
ICD 10 (เมื่อ17 พ.ค. 2533 )ได้ถอดถอนคนรักเพศเดียวกันออกจากความเจ็บป่วยทางจิตออกด้วย ว่าคนรักเพศเดียวกันไม่ใด้เจ็บป่วยทางจิต
2. องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศแก้ไขคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ หรือ ICD ฉบับล่าสุดที่เรียกว่า ICD-11 (18 มิ.ย. 2561)ว่า การมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดไม่ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิต โดยการที่เพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด ได้ถูกลบออกหมวด 'ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม' และย้ายไปอยู่ในหมวด 'กรณีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเพศ' แทน
3. รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 กล่าวว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
4. ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 กันยายน ปี พ.ศ. 2558
5. กระทรวงศึกษาธิการได้มีการเพิ่มเติมแก้ไขตำราแบบเรียนสุขศึกษาและพลศึกษาครอบคลุมตั้งแต่ชั้น ป.1 จนถึงม.6 ทั้งหมด 12 ชั้นเรียน ในส่วนที่เรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศทุกมิติ ตอนนี้สมบูรณ์แบบ 100% พร้อมใช้ในเทอมการศึกษาใหม่ นี้คือปี 2562 แล้ว (ประกาศวันที่ 17 พ.ค. 2562)
6. เรามีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่เป็นกฏหมายจารีตที่สำคัญที่สุดด ซึ่งประเทศต่างๆ จำต้องเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ได้ตราไว้ในปฏิญญาฉบับนี้ โดยที่ปฏิญญาฉบับนี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของสนธิสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ อีกหลายฉบับ ดังนั้น ผู้อำนวยการและผู้บริหารจะต้องรีบปรับปรุง แก้ไข ตัดคำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” ออกจากแบบประเมินนี้ทันที”