มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาเสนอเรื่องและความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 1448 ป.พ.พ. ที่ให้การสมรสมีได้เฉพาะ “ชายและหญิง” ตามเพศกำเนิด ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขกฎหมายรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอย่างเสมอภาคต่อไป
วันนี้ ( 17 มิ.ย.) นายพงศ์ธร จันทร์เลื่อน รองประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ พร้อมคณะเข้ายื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 1448 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว” ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 มาตรา 30 เนื่องจากทำให้คู่รักเพศเดียวกัน ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสและเสียสิทธิพึงมีพึงได้ในสวัสดิการของข้าราชการ
โดยนายพงศ์ธรกล่าวว่า กรณีนี้ผู้ร้องเป็นคู่รักชายกับชาย ได้ไปยื่นขอจดทะเบียนสมรสที่ สนง.เขตบางกอกใหญ่แล้วได้รับการปฏิเสธ โดยทางเจ้าหน้าที่อ้างว่ากฎหมายมาตราดังกล่าวให้สิทธิเฉพาะหญิงกับชายเท่านั้นที่จะจดทะเบียนสมรสได้ จึงเห็นว่ากฎหมายมาตรานี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้บุคคลเสมอภาคกันในทางกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม ห้ามมีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ จึงควรมีการแก้ไข
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคู่รักเพศเดียวกันที่ใช้ชีวิตด้วยกัน และประสงค์ที่จะจดทะเบียนสมรสจำนวนมาก แต่กฎหมายไม่รับรอง จึงอยากให้ผู้ตรวจฯ มีคำวินิจฉัยเรื่องนี้เพื่อก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะแก้ไข มาตรา 1448 ด้วยการเปลี่ยนคำว่า “หญิง-ชาย” มาเป็นคำว่า “บุคคล” ก็น่าจะครอบคลุม ดีกว่าการไปออก พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ขณะนี้ทางกระทรวงยุติธรรมกำลังดำเนินการอยู่ เพราะจากที่ได้เข้าไปร่วมยกร่างกฎหมายฉบับนี้พบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีการแก้ไขจนไม่ตอบโจทย์คนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีการกำหนดสิทธิพึงมีพึงได้ของคนที่มีความหลากกลายทางเพศแตกต่างจากคู่ชีวิตหญิง-ชาย โดยเฉพาะสิทธิตามสวัสดิการของรัฐทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง
“ปัจจุบันเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียนสมรส ผู้ร้องทั้งสองคนก็ทำได้เพียงไปตั้งนามสกุลใหม่แล้วเปลี่ยนมาใช้ด้วยกัน แต่ก็ยังมีปัญหาคือ คนหนึ่งเป็นเภสัชกร เป็นข้าราชการ แต่อีกคนทำงานเอกชนเมื่อเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ อีกฝ่ายไม่สามารถใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการของอีกฝ่ายได้เหมือนหญิงชายที่จดทะบียนสมรสกัน”