“พุทธิพงษ์” หารือกรรมาธิการร่างกม.กสทช. เล็งใช้กม.กสทช.ฉบับเก่าสรรหากสทช.หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงสุญญากาศ ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีกรอบเวลากม.ใหม่ หากยังต้องใช้เวลาอีกนาน จะนำเรื่องสรรหากสทช.ชั่วคราวเสนอครม.พิจารณา
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ. โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญ เป็นประธานการประชุม ซึ่งก่อนการประชุมนายพุทธิพงษ์ ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรรมการธิการจากพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล หารือนอกรอบเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความราบรื่น
เมื่อเริ่มการประชุมนายพุทธิพงษ์ ได้หารือที่ประชุมถึงความจำเป็นที่กระบวนการสรรหากรรมการกสทช.ชุดใหม่ควรเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G เพื่อการพัฒนาประเทศประกอบกับคณะกรรมการกสทช.ปัจจุบันหมดวาระไปนานแล้วและอยู่ระหว่างการรักษาการตามคำสั่งคสช. ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนเทคโนโลยีและการกำกับกิจการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม กิจการโทรทัศน์และกระจายเสียง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทันกับความเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก จึงควรมีการสรรหากรรมการโดยเร็ว หากรอให้การสรรหาเกิดขึ้นภายหลังร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับแก้ไขที่กำลังพิจารณาอยู่ผ่านความเห็นชอบจะทำให้กระบวนการสรรหาล่าช้าเสียเวลาออกไปมาก
ทั้งนี้หลังนายพุทธิพงษ์ได้หารือที่ประชุม กรรมการธิการและที่ปรึกษากรรมาธิการ อาทิ นายประสพสุข บุญเดช ,นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านพรรคเพื่อไทย ฯลฯ ได้แสดงความเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายควรดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้กฎหมายที่เหมาะสม หากมีความจำเป็นต้องสรรหากรรมการกสทช. สามารถใช้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2560 ทำการสรรหากสทช.ไปก่อน เมื่อร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับที่แก้ไขอยู่ปัจจุบันเสร็จสมบรูณ์และมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้กรรมการกสทช.ชุดที่สรรหามาตามพ.ร.บ.กสทช.ปี 2560 หมดวาระลง เพื่อให้มีกระบวนการสรรหาใหม่ โดยเปิดให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วสามารถกลับมาเข้าสู่กระบวนการสรรหาได้อีกครั้ง
ภายหลังการประชุม นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมยังไม่สรุปว่าจะกลับไปใช้พ.ร.บ.กสทช.ปี 2560 ทำการสรรหาไปก่อน เพราะการใช้กฎหมายกสทช.ปี 2560 เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะทำอยู่แล้ว ที่ประชุมเห็นว่าบอร์ดได้ทำหน้าที่และรักษาการมาถึง 9 ปี ประกอบกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ก็ได้ยื่นใบลาออกโดยจะมีผลในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้
กรรมธิการฯ เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับแก้ไข อยู่ระหว่างการพิจารณาควรแก้ไขให้สมบรูณ์ที่สุด เมื่อหารือกันในกรรมาธิการฯแล้วเห็นว่าการแก้ไขร่างฉบับนี้คงต้องใช้เวลาไม่สามารถทำได้เร็ว เพราะยังมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จึงมอบให้สำนักงานกฤษฎีกาไปทำการสรุปกรอบเวลาว่าหากดำเนินการแก้ไขไปตามระยะเวลาจะต้องใช้เวลานานเท่าใด โดยให้นำผลสรุปกลับมาเสนอกับกรรมาธิการฯ หากจะต้องใช้ระยะเวลานานมาก อาจพิจารณาหาแนวทางที่ทำให้การกำกับดูแลกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม การขับเคลื่อนนโยบายดำเนินการไปได้โดยไม่ให้เกิดสุญญากาศ
"มีความเห็นตรงกันที่ต้องการให้มีกรรมการกสทช.ชุดใหม่โดยเร็วที่สุด เรามีทั้งเรื่อง 5G การขับเคลื่อนโทรคมนาคม ทีวีดิจิทัล หลายเรื่องต้องขับเคลื่อน ถ้าให้บอร์ดและเลขาธิการฯ รักษาการไปนานๆ ก็อาจะมีปัญหากับการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดสุญญากาศ โดยอาจจะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ผู้ได้รับการสรรหากสทช.แล้วหากพ้นจากตำแหน่งเพราะพ.ร.บ.ใหม่ประกาศใช้ให้กลับมาสรรหาได้ใหม่ อย่างไรก็ตามกรรมการที่สรรหาเข้ามาจะต้องมาทำหน้าที่ก่อนที่กฎหมายฉบับแก้ไขจะเสร็จสมบรูณ์ อย่างน้อย 1 ปี "
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า การใช้พ.ร.บ.กสทช.ปี 2560 สรรหากรรมการกสทช.เป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารดำเนินการได้เลยไม่จำเป็นต้องถามกรรมาธิการแต่เมื่อมีกระบวนการการเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.กสทช.และมีกรรมาธิการ จึงต้องมาหารือกับกรรมาธิการเพื่อเป็นการให้เกียรติกับสมาชิกที่กำลังพิจารณาได้ให้ความเห็น เมื่อทุกคนไม่อยากให้เกิดสุญญากาศก็สามารถนำพ.ร.บ.ฉบับที่มีอยู่สรรหากสทช.ไปก่อนได้เลย อย่างไรก็ตามการตัดสินใจว่าจะใช้แนวทางไหน ต้องขอรอดูกรอบเวลาที่กฤษฏีกาจะสรุปมาเสนอกรรมาธิการก่อน