สถ.เร่งท้องถิ่นทั่วประเทศ ปรับใช้คลื่นความถี่ 420.200 MHz เชื่อมสัญญาณ “หอกระจายข่าวไร้สายชุมชน” หลัง กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ ปรับใช้คลี่นความถี่ ย่าน 380-510 MHz จากผู้ได้รับอนุญาต ในกิจการเคลื่อนที่ทางบก และกิจการประจำให้แล้วเสร็จสิ้นปีนี้ ย้ำ หากไม่ดำเนินการปรับเปลี่ยนให้แล้วเสร็จ จ่อเสนอ กสทช.ยกเลิกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย
วันนี้ (31 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีหนังสือที่ สทช 2409/13296.08 แจ้งมายัง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ในการปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่ 420.200 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เพื่อการเชื่อมโยงสำหรับการกระจายเสียงตามสาย (หอกระจายข่าวไร้สาย) ของ อปท.ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2563
ล่าสุด สถ.ทำหนังสือแจ้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ระบุว่า คณะกรรมการ กสทช. ได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลี่นความถี่ ย่านความถี่ 380-510 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการเคลื่อนที่ทางบกและกิจการประจำที่ที่มีหลักฐานการอนุญาต และมีการใช้คลื่นความถี่ในย่านความถี่นี้
โดยให้ปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่ให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบก และกิจการประจำที่ ย่านความถี่ 401-405.9 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) 406.2-410 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 430-450 เมกะเฮิรตซ์ ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2563
“ซึ่งการใช้ คลื่นความถี่ 420.200 MHz จากกรมไปรษณีย์โทรเลข คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) หรือคณะกรรมการ กสทช. แล้วแต่กรณีไป เพื่อใช้งานเชื่อมโยงสำหรับการกระจายเสียงตามสายในการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้แก่ประชาชนของ อปท. ก็จะต้องดำเนินการ ปรับเปลี่ยนให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2563 ด้วยเช่นกัน”
ทั้งนี้ ประกาศ กสทช.ดังกล่าว เป็นการแจ้ง อปท.ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 420.200 MHz ความกว้างแถบความถี่ไม่เกิน 16 kHz (ระยะห่างของช่องความถี่ที่อยู่ติดกันเท่ากับ (Channel spacing) 25 kHz) ไปแล้ว
ให้ปรับเปลี่ยนไปใช้คลื่นความถี่ 430.225 MHz ความกว้างแถบความถี่ไม่เกิน 11 kHz (ระยะห่างของช่องความถี่ที่อยู่ติดกันเท่ากับ (Channel spacing) 12.5 kHz) ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขอื่นๆ ให้เป็นไปตามที่ อปท.ได้รับอนุญาตอยู่เดิม และให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. นี้โดยเคร่งครัด
“หาก อปท.ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 420.200 MHz ไปแล้ว ไม่ดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่ ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี พ.ศ. 2563 สำนักงาน กสทช. จะเสนอคณะกรรมการ กสทช.ให้พิจารณา ยกเลิกการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 420.200 MHz ตามควรแก่กรณีต่อไป ทั้งนี้ อปท. ที่ถูกยกเลิกการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 420.200 MHz ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยใด ๆ สำหรับการถูกยกเลิก การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว”
ทั้งนี้ เมื่อ อปท. ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่แล้วเสร็จ ให้แจ้งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นหนังสือให้สำนักงาน กสทช. ทราบ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึง วันที่ 31 ธ.ค. 2563 ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จะส่งพนักงานไปตรวจสอบการปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่ ของ อปท.นั้นๆ ว่า เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตหรือไม่
โดย อปท. สามารถยื่นหนังสือแจ้งการปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่ดังกล่าวต่อสำนักงาน กสทช. พร้อมเอกสารและหลักฐานได้ที่ สำนักงาน กสทช.ภาค สำนักงาน กสทช.เขต ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบได้
ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 กระทรวงมหาดไทย มีการสำรวจ “หอกระจ่ายข่าว” ทั่วประเทศ พบว่า มีกว่า 81,318 แห่ง สามารถใช้งานได้ 73,793 แห่ง และใช้การไม่ได้ 7,525 แห่ง” โดยมีการจัดสรรงบประมาณไปดำเนินการซ่อมแซมกว่า 200 ล้านบาท