‘ฐากร’ ชูไอเดียพลิกไทยเป็นฮับ ‘work from Thailand to the world’ เร่งขับเคลื่อน ‘platform OTT -5G’ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ชี้มีความพร้อมสุดแกร่ง 4 เรื่องสำคัญทั้งระบบสาธารณสุข โทรคมนาคม 5G ค่าครองชีพที่ต่ำกว่าหลายประเทศและเป็นสยามเมืองยิ้ม มนุษย์สัมพันธ์ดีเยี่ยม เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ 5G แห่งชาติ
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19ทำให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ในขณะที่ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับกระแสดิจิทัลมากขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างในโลกดิจิทัลเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมดิจิทัลที่เปลี่ยนไปดังกล่าว จึงอยากเสนอให้รัฐบาล เร่งดำเนินการใน2เรื่องเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
1.เร่งผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเวิร์กฟรอมโฮม หรือ Hub Work From Home(WFH) เนื่องจากในขณะนี้ทั่วโลกต่างปรับเปลี่ยนแนวการทำงานเป็นระบบเวิร์ก ฟอร์ม โฮม ซึ่งปรากฎว่าระบบนี้สามารถผลิตงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เทียบเท่ากับการทำงานในสำนักงาน นอกจากช่วยป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิดได้แล้ว ยังลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของสำนักงานและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพนักงานอีกด้วย
‘เชื้อโควิด-19 เร่งให้ชาวโลกหันมาทำงานในระบบเวิร์ก ฟอร์ม โฮม เร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ก่อนหน้านี้ แนวคิดการทำงานจากบ้านอาจต้องใช้เวลา4-5ปี แต่โควิดส่งผลให้ชาวโลกหันมาใช้พฤติกรรมดิจิทัลเร็วกว่าเดิม’
ฐากร กล่าวว่า เมื่อโลกเปลี่ยนมาใช้แนวเวิร์ก ฟอร์ม โฮม ไทยจึงควรใช้จุดเด่นที่มีอยู่แล้วมาเป็นจุดขายให้กับนักธุรกิจ นักลงทุนหรือพนักงานระดับสูงทั่วโลกมาใช้ไทยเป็นฐานเวิร์ก ฟอร์ม โฮม เพราะไทยมีความพร้อมใน4 เรื่องที่สำคัญได้แก่ 1.ระบบสาธารณสุขที่ประเทศไทยดีที่สุดได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ 2.ระบบโทรคมนาคมดีที่สุดติดอันดับต้นๆของโลก เพราะไทยมี 5Gใช้ประเทศแรกในอาเซียน 3.ค่าครองชีพของไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าหลายๆประเทศ แม้ว่าจะสูงกว่าเวียดนามหรืออินโดนีเซียแต่ต่ำกว่าประเทศอย่างสิงคโปร์ 4.ความเป็นสยามเมืองยิ้ม ประเทศไทยมีความเป็นมิตรไมตรี คนไทยมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
‘ประเทศไทยมีจุดแข็งทั้ง 4 เรื่องซึ่งเป็นต้นทุนที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องลงทุนเพิ่มอะไรเลย ผมมองว่าจุดแข็งนี้จะผลักดันให้ไทยเป็นฮับ Work From Thailand to The World’ฐากรกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งปรับกระบวนการเพื่อรองรับการเป็นฮับเวิร์ก ฟอร์ม ไทยแลนด์ เกี่ยวข้องกับ 3 หน่วยงานของรัฐคือ1.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือตม.ต้องออกใบอนุญาตการเข้าทำงานในประเทศไทย หรือเวิร์กเพอร์มิต (work permit) ให้บุคคลที่ต้องการมา Work From Homeในประเทศไทย 2.กรมการกงศุล กระทรวงการต่างประเทศ ออกวีซ่าให้บุคคลที่ต้องการมาWork From Home และ 3.กรมสรรพากร ต้องออกประกาศว่าผู้มาทำงานต้องแสดงรายได้เป็นของประเทศไทยเพื่อเสียภาษีเงินได้
‘คนในกลุ่ม Work From Home ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจระดับสูง เป็นพนักงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกมีเงินเดือนแพงๆ เช่นพนักงานของกูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูป คนเหล่านี้ต้องการทำงานในสถานที่ซึ่งมีเทคโนโลยี 5G ความเร็วสูง มีความเสถียรสามารถทำงานหรือสื่อสารได้รวดเร็ว มีมาตรฐานด้านสาธารณสุข ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดและมีสภาพแวดล้อมที่ดี ด้วยองค์ประกอบดังกล่าวว่าเมืองไทย ณ เวลานี้จึงเหมาะที่จะเป็นฮับ WFH’
ฐากร กล่าวว่า คนที่มาทำงาน Work From Home ลักษณะนี้เรียกว่าเป็นกลุ่มไฮเอนด์ ถ้าเข้ามาทำงานเป็นหลายพันคน อาจสร้างรายได้มากกว่ากลุ่มชาวต่างชาติที่มาใช้แรงงานระดับล่างนับหมื่นคน เพราะไฮเอนด์พวกนี้จะนำทั้งเทคโนโลยี นำเงินตราเข้าประเทศ จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนเร็ว ระบบประเทศไทยดีอยู่แล้ว ต้องใช้จุดเด่นของประเทศไทยประกาศออกไป ต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อนเลย
ทั้งนี้เมื่อเป็นฮับของWFHแล้ว รัฐบาลจะเก็บภาษีเงินได้ และผู้ที่มาทำงานในประเทศไทย ถึง10 ปีอาจอนุมัติให้สัญชาติไทยไปเลย นี่เป็นอีกแนวทางเชื่อว่าจะกู้เศรษฐกิจได้เร็ว เพราะนานาชาติมีความเชื่อมั่นประเทศไทยมาก
2.เรื่อง OTT 5G (Over The Top หรือ บริการสื่อสาร แพร่ภาพและกระจายเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต) ที่ผ่านมาบริการ OTT ชื่อดังหรือเป็นที่รู้จักไม่ว่าจะเป็นยูทูป เฟซบุ๊ก ลาซาด้า ช้อปปี้ ไลน์ และแกร็บ พวกนี้เป็นแพลตฟอร์มของต่างประเทศทั้งสิ้น หากคนในประเทศไทยไปใช้บริการแพลตฟอร์มพวกนี้หมด เงินตราในประเทศก็จะไหลออกนอกประเทศซึ่งไม่เป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะแพลตฟอร์มที่ไทยมีอยู่เช่น วงใน ยังใช้เฉพาะในระดับประเทศ ไม่ได้ขยายสู่ระดับโลก
‘ไทยมีจุดเด่นคือมี 5G ใช้ก่อนใครอื่นในอาเซียน ฉะนั้นเราต้องมีแพลตฟอร์มในระดับเวิลด์คลาสเกิดขึ้นให้ได้ ผมให้ทีมงานของสำนักงาน กสทช.ไปศึกษา เรื่อง OTT พบว่าถ้าเราปล่อยไปอย่างนี้ ประเทศไทยตายแน่ เพราะเงินไหลออกนอกประเทศหมด ต้องรีบจัดตั้งแพลตฟอร์ม OTT ของ5G แต่คำถามคือ แพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์กับประเทศคืออะไร เพราะแพลตฟอร์ม OTT 5G จะต้องเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ทั่วโลก’ ฐากรกล่าวและว่า ที่ผ่านมาแพลตฟอร์มอย่างลาซาด้า ช้อปปี้ แกร็บ เป็นแพลตฟอร์มที่จัดตั้งในยุค 3G ,4G ไทยตามไม่ทันแล้ว แต่เมื่อไทยมี 5G ก่อนใครจึงไม่ควรรอช้า รัฐบาลต้องลงมาเป็นหัวขบวน คณะกรรมการ 5G ต้องรีบเร่งสนับสนุน
ฐากร มองว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมี 3G ช้ากว่าต่างชาติมากกว่า 10 ปี มี 4G ล้าหลัง 4-5 ปี ในช่วงวิ่งไล่ตาม 3G และ 4G เป็นช่วงเวลาที่ OTT เหล่านั้นเกิดขึ้นและพัฒนาอยู่ตลอดเวลาจนทำให้มีคนใช้งานทั่วโลก เมื่อประเทศไทยมี 5G นำหน้าประเทศ อื่นๆในโลกและในอาเซียน ควรถึงเวลาที่ต้องมีแพลตฟอร์ม OTT 5G ของตัวเองได้แล้ว แต่ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ อย่าไปตามแพลตฟอร์มที่เคยมีมาในยุค 3G และ 4Gที่สำคัญที่สุดต้องให้เอกชนเป็นคนทำแล้วรัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่
‘ต้องใช้เทคโนโลยี 5G สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา อย่างเช่นแพลตฟอร์มที่รองรับ smart hospital สามารถใส่อาการคนไข้ให้วินิจฉัยว่าเป็น 1-2-3-4-5 แล้ว AI จะวิเคราะห์เลยว่าคุณเป็นโรคอะไร จะกินยาชนิดไหน และจัดส่งยาถึงมือคนไข้ได้เลย’
ฐากรกล่าวอีกว่า แนวคิดสร้างไทยเป็นฮับ work from home กับแพลตฟอร์ม OTT 5G ทางสำนักงาน กสทช.จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ 5G แห่งชาติ เพราะอาจจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เนื่องจากคณะกรรมการ 5G แห่งชาติ เป็นที่รวมของทุกกระทรวง
‘ประเทศไทยจะเดินหน้าได้ดีที่สุดก็ต้องเอาช่วงวิกฤตแย่งชิงทุกอย่างกลับมาอยู่ที่เมืองไทย เพราะสาธารณสุขเราดีที่สุดในโลก ระบบโทรคมนาคมดีที่สุดไม่แพ้ใครในโลก ค่าครองชีพเราก็ถูกอีก เมื่อมีwork from home คุณไม่ต้องไปทำงานที่อเมริกา ก็เหมือนอยู่อเมริกา คุณไม่ต้องไปทำงานที่เบลเยี่ยมก็เหมือนอยู่เบลเยี่ยม คุณไม่ต้องไปทำงานที่ลอนดอนก็เหมือนอยู่ลอนดอน มาทำงานที่ประเทศไทย แต่ต้องไม่ใช่วีซ่านักท่องเที่ยวนะ ต้องวีซ่าเวิร์กเพอร์มิต แค่นี้จบแล้ว อันไหนต้องปรับปรุงกฎระเบียบต้องรีบ ทำเลย ทุกคนอยากมาทำงานเมืองไทย แล้วรายได้เราจะกลับมาอีกมาก’ ฐากรกล่าวในที่สุด
***คณะกรรมการ 5G แห่งชาติ
สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจประกอบด้วย 1.กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทยในส่วนของการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ภายหลังจากที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้มีการประมูลคลื่นความถี่และมีการลงทุนขยายโครงข่ายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G ดังกล่าว ทั้งนี้ ในการกำหนดทิศทางและนโยบายดังกล่าวจะไม่เป็นการเกี่ยวข้องกับการประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช.
2.สนับสนุนการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าหรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้นเพื่อนำคลื่นความถี่ไปพัฒนาให้มีการใช้งานเทคโนโลยี 5G หรือรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคตตลอดจนเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ 3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคณะทำงานและคณะที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติหรือตามที่ได้รับมอบหมาย และ 4.ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ประกอบด้วยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ประธานกรรมการหอการค้าไทยกรรมการ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย, ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานกรรมการแต่งตั้งจำนวน 5 คน
ขณะที่ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นกรรมการและเลขานุการ, รองเลขาธิการกสทช.สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ, เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ