ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคที่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว หรือสิทธิส่วนบุคคล หลีกเลี่ยงการใช้งานแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มติดตามตัว ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) คือไม่มั่นใจในเรื่องของการเก็บข้อมูล ว่าจะปลอดภัย และให้ความคุ้มครองข้อมูลได้อย่างเต็มที่หรือไม่
จากการที่ผู้บริโภคเริ่มตั้งข้อสังเกตกันในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับการลงทะเบียนใช้งานเว็บเช็กอิน ‘ไทยชนะ’ แล้วหลังจากนั้นได้รับข้อความโฆษณาเข้ามาบนสมาร์ทโฟน ที่เจาะจงกลุ่มผู้ใช้ iOS ที่มีระบบส่งข้อความหากันอย่าง iMessage อย่างแพร่หลาย แม้ในความเป็นจริงแล้ว การส่ง ข้อความนี้ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับ ‘ไทยชนะ’ อย่างแน่นอน
การตั้งข้อสังเกตเหล่านี้ขึ้นมา แปลให้เห็นถึงมุมมองของผู้บริโภค กับความเชื่อมั่นของแพลตฟอร์มไทยชนะ ว่าจะสามารถเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ โดยเฉพาะ ‘เบอร์โทรศัพท์’ และ ‘สถานที่ที่เข้าไปเช็กอิน’ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวได้มากแค่ไหน แม้ว่าจะมีมาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยรองรับอยู่ทั้งหมดก็ตาม
หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญในแวดวงเทคโนโลยี ต่อเนื่องมาจากการประกาศความร่วมมือระหว่าง แอปเปิล (Apple) และ กูเกิล (Google) ในการร่วมพัฒนาระบบสำหรับติดตาม และแจ้งเตือนความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 (Contact Tracing) ในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา
โดยมีกำหนดช่วงระยะเวลาในการพัฒนาขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์ม ให้หน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเชื่อมต่อ ชุดคำสั่ง (API) เข้ากับแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมานี้ เพื่อใช้ในการติดตาม และแจ้งเตือนผู้ป่วยโควิด-19 ภายในเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นทั้ง แอปเปิล และกูเกิล จะทยอยออกแอปพลิเคชันแจ้งเตือนเพิ่มเติม
ทั้งนี้ หลังจากที่เปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานเข้ามาเพื่อนำชุดคำสั่งไปเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม Contact Tracing นี้ ก่อนพัฒนามาเป็น Exposure Notifications หรือระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดรอบที่ 2
หลังจากเริ่มเปิดให้ยื่นขอการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม เริ่มมีบางรัฐในสหรัฐฯ และอีก 22 ประเทศ ใน 5 ภูมิภาค ยื่นคำร้องเข้ามาเพื่อขอนำ API ดังกล่าวไปเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันติดตามตัวของแต่ละประเทศแล้ว
ก่อนที่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ในการอัปเดตระบบปฏิบัติการ iOS เวอร์ชัน 13.5 ได้มีการเพิ่มเติมเครื่องมือในการแจ้งเตือนความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน ส่วนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ก็กำลังอยู่ในช่วงการออกอัปเดตเวอร์ชันใหม่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันนี้ได้เช่นกัน
***หลักการที่ดีของแอปติดตามโควิด-19
หลักการที่ทั้ง แอปเปิล และกูเกิล กำหนดขึ้นในช่วงแรกคือ ในแต่ละประเทศ หรือในกรณีที่แบ่งการปกครองแยกออกเป็นมลรัฐฯ จะมีเพียง 1 หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขเท่านั้น ที่จะได้รับอนุญาตให้เชื่อมต่อ API เข้ามาได้
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการทำงานของแอปติดตามโควิด-19 จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อมีจำนวนผู้ใช้งานจำนวนมาก ดังนั้นแต่ละประเทศจึงควรมีเพียง 1 แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนไม่เกิดความสับสน และพร้อมที่จะใช้งาน
ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มที่จะเชื่อมต่อเข้ากับ API ดังกล่าวได้ ต้องเป็นแพลตฟอร์มที่รักษา ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ โดยเฉพาะการไม่เก็บข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานได้ทันที รวมถึงการระบุพิกัดสถานที่ด้วย เพื่อป้องกันการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
เนื่องจากหลักการทำงานของ Contact Tracing คือการเปิดให้สมาร์ทโฟน สามารถเก็บข้อมูลการเชื่อมต่อบลูทูธ ของผู้ใช้งานที่สัมผัสกัน หรือเข้ามาในระยะที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ นั่นแปลว่า เพียงการเก็บข้อมูลว่าเคยสัมผัสกับผู้ป่วยในระยะใกล้ ก็เพียงพอที่จะแจ้งเตือนผู้ที่มีความเสี่ยงได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้พิกัดสถานที่มาช่วยระบุตัวตนของผู้ใช้
ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ก็จะมีอย่าง ผู้ใช้ต้องยินยอม (Consent) และรับรู้ว่าแอปพลิเคชันที่ใช้งาน มีการเชื่อมต่อข้อมูล และจะได้รับการแจ้งเตือนเมื่อมีความเสี่ยง รวมถึงในกรณีที่ต้องติดตามผู้มีความเสี่ยงจากผู้ป่วย ก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยก่อนที่จะแจ้งเตือนไปยังบุคคลอื่น
***ปัญหาจากแอปติดตามโควิด-19
ในช่วงเดือนที่ผ่านมาทั้ง แอปเปิล และกูเกิล เริ่มได้รับฟีดแบคตอบรับ และการขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในหลายๆ ประเทศ ถึงข้อจำกัดที่พบเจอจากการพัฒนาแอปติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ขึ้นมาใช้งาน ในช่วงที่ทั้ง 2 บริษัทยังพัฒนาระบบ Contact Tracing ไม่เสร็จ
โดยหลายๆ ประเทศ พบเจอปัญหาอย่าง การที่สมาร์ทโฟนของทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ หลายๆ แอปติดตามตัวมีการใช้พลังงานในการประมวลผลสูง ทำให้ส่งผลต่อแบตเตอรีที่ใช้งานของสมาร์ทโฟนของผู้ใช้
จนถึงปัญหาในกรณีที่พบเจอผู้ป่วยชาวต่างชาติ ที่ใช้งานแอปพลิเคชันติดตามคนละตัวกัน ก็จะไม่สามารถเก็บข้อมูลข้ามกันได้ ดังนั้นในระยะยาวเมื่อมีการเปิดประเทศ ระบบติดตามของแต่ละประเทศก็จะไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้
สำคัญที่สุดคือ จำนวนผู้บริโภคที่เข้าใช้งาน เนื่องจากหลายๆ ประเทศต่างพบเจออุปสรรคเดียวกันว่าประชาชน ไม่มั่นใจว่าเทคโนโลยีที่ใช้งานจะไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างแน่นอน
***รู้จัก Exposure Notification
เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทำให้การพัฒนาแอปแจ้งเตือนผู้ที่มีความเสี่ยงในการติด เชื้อโควิด-19 (Exposure Notifications) ที่จะฝังเข้าไปบนไอโฟน และสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการทุกรุ่นที่รองรับนั้น จะมีขั้นตอนที่ได้รับการยินยอมของผู้ใช้ ก่อนการเก็บข้อมูล และแจ้งเตือน
ไม่ว่าจะเป็น การเปิดให้ผู้ใช้เลือกได้ว่า จะเปิดหรือปิดใช้งานระบบ Exposure Notifications เมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ ระบบจะไม่เก็บข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้ ซึ่งรวมถึงในกรณีที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 ก็ตาม ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 สามารถตัดสินใจได้ว่า จะแจ้งให้ระบบทราบข้อมูลหรือไม่ และแน่นอนว่าการเก็บข้อมูลนี้จะไม่มีใครที่สามารถระบุตัวตนของคนอื่นได้ แม้แต่กูเกิล หรือแอป เปิล ก็ตาม
นอกจากนี้ ในการประมวลผลเพื่อตรวจสอบว่าเจ้าของเครื่องมีความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือไม่จะเกิดขึ้นบนสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ ด้วยการดึงชุดรหัสของผู้ป่วยที่ยินยอมเผยแพร่ข้อมูลมาวิเคราะห์ภายในเครื่อง ต่อด้วยระบบนี้จะถูกนำไปใช้งานจากหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานสาธารณสุขที่ได้รับการยืนยันเท่านั้น ซึ่งการนำไปใช้งานจะไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ใดๆ ก็ตาม ส่วนในกรณีที่สถานการณ์แพร่ระบาดจบลงทางแอปเปิล และกูเกิล ก็จะปิดระบบดังกล่าวทันที
แน่นอนว่า ระบบนี้ไม่ใช่เครื่องมือเบ็ดเสร็จที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายได้ แต่เน้นไปที่การติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายต่อไปในวงกว้างมากกว่า
ปิดท้ายที่ ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอ ของ กูเกิล เชื่อว่า ในกรณีที่มีประชาชนทั่วโลกเข้ามาใช้งานระบบ Exposure Notification สัก 10-20% ก็จะสร้างผลกระทบที่มีความหมายต่อสังคมแล้ว แต่แน่นอนว่ายิ่งมีผู้ใช้งานระบบนี้มากเท่าไหร่ การป้องกันการแพร่ระบาดก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น