ศบค.เปิดตัวแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ป้องกันกรอกเบอร์โทร.ผิด-คิวอาร์โคดปลอม ช่วยเช็กอินเช็กเอาต์ง่ายขึ้น รองรับคลายล็อกเฟส 3 แค่สแกนก็เช็กอินอัตโนมัติ หากลืม-ไม่สะดวกเช็กเอาต์ จะโชว์ลิสต์ร้านค้า ให้กดเช็กเอาต์ตามหลังได้ แต่ควรเช็กเอาต์ให้เร็วที่สุด เผยแอนดรอยด์ได้แล้ว ส่วน IOS รอเสาร์-อาทิตย์นี้ ยันไม่มีส่ง SMS ให้ดาวน์โหลด เปลี่ยนแบบประเมินเป็นรูปภาพ ช่วยประเมินเร็วขึ้น 3 เท่า
วันนี้ (28 พ.ค.) นพ.พลวรรธน์ วิทูลกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มไทยชนะ ว่า แพลตฟอร์มไทยชนะเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. ขณะนี้รองรับภาษาอังกฤษแล้ว และจะเพิ่มภาษาพม่า มาเลเซีย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น และ ลาว คิดว่า จะครอบคลุมประชาชนและเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศช่วยแปลเมนูต่างๆ ออกมาเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย อย่างไรก็ตาม เราได้รับคำแนะนำต่างๆ ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความง่าย การใช้งานที่สะดวกสบายกับชีวิตประจำวัน เช่น กรณีไปชอปปิ้ง ถือของจำนวนมาก ต้องยกโทรศัพท์มาสแกนกลับ รวมถึงกลับไปถึงบ้านแล้วลืมว่าเช็กเอาต์แล้วหรือไม่ หรือกรณีกังวลเรื่องคิวอาร์โคดปลอม ทั้งนี้ ประจวบเหมาะกับการผ่อนคลายระยะที่ 3 เพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ศบค. ทีมงานและผู้ผลิตก็ให้ความสำคัญ จึงนำมาสู่การพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน
“แอปพลิเคชันไทยชนะนี้ จะวิ่งในแพลตฟอร์มไทยชนะ ผู้ประกอบการหากลงทะเบียนถูกต้อง คิวอาร์โคดยังใช้ได้อยู่ ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ส่วนประชาชนจะได้รับความสะดวกขึ้น คือ 1. แอปฯ สามารถเช็กเอาต์หลังใช้บริการเรียบร้อยแล้วเมื่อไรก็ได้ เช่น ถือของยังไม่สะดวกเช็กเอาต์ ก็รอเอาของไปวางในรถให้เรียบร้อย ก็ค่อยเช็กเอาต์ได้ แต่คนถามว่า มาเช็กเอาต์ทีหลังจะเป็นอะไรหรือไม่ ก็ถือเป็นการเพิ่มความสะดวก แต่ขอให้พยายามเช็กเอาต์ให้ไวที่สุด มิเช่นนั้น หากมีเคสขึ้นมาอาจติดเข้าไปในการสอบสวนโรคด้วย ทั้งที่ไม่อยู่ในช่วงนั้นแล้ว 2. ป้องกันคิวอาร์โคดปลอม จะอ่านออกเฉพาะคิวอาร์โคดไทยชนะเท่านั้น 3. ป้องกันการกรอกเบอร์โทรศัพท์ผิดหรือกรอกเบอร์มั่วๆ และ 4. ประเมินร้านค้าได้อย่างรวดเร็ว” นพ.พลวรรธน์ กล่าว
นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า แอปพลิเคชันจะเริ่มให้ดาวน์โหลดในแอนดรอยด์ก่อนในวันที่ 28 พ.ค. โดยต้องเป็นเวอร์ชัน 5.0 ขึ้นไป ส่วนระบบ IOS มีกระบวนการจะต้องอัปโหลดดาวน์โหลดส่งโคดไปตรวจเช็ก ต้องใช้เวลาสักพัก อาจจะดาวน์โหลดแอปฯ ได้วันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ซึ่งจะต้องเป็น IOS เวอร์ชัน 9.0 ขึ้นไป ทั้งนี้ ยืนยันว่า จะไม่มีการส่งเอสเอ็มเอสให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแต่อย่างใด การดาวน์โหลดแอนดรอย์ต้องเข้าในระบบ Play Store ส่วน IOS ดาวน์โหลดผ่าน App Store เท่านั้น
นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า เมื่อดาวน์โหลดมาแล้วเริ่มต้นด้วยการลงทะเบียน ซึ่งป้องกันการกรอกเบอร์ผิดหรือให้เบอร์ไม่จริง เมื่อใส่เบอร์โทรศัพท์เข้าไป จะได้เอสเอ็มเอส เป็น OTP ให้กรอกตัวเลขยืนยัน หากตรงกันกระบวนการลงทะเบียนจะสำเร็จ ก็จะเข้าหน้าจอถัดไป และเมื่อเข้าแอปฯ ไทยชนะทุกครั้งก็จะเข้าสู่หน้าจอนี้ตลอด โดยหน้าจอหลักนั้น จะมีเมนูสำคัญ คือ สแกน QR ซึ่งเพิ่มความสะดวก เพราะเมื่อสแกนคิวอาร์โคดแล้วไม่ต้องกดเช็กอินเช็กเอาท์ หากไม่เคยไปร้านนี้มาก่อน หรือเคยเช็กเอาต์ไปแล้ว เมื่อสแกนจะเช็กอินให้อัตโนมัติ
นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับการเช็กเอาต์มี 2 รูปแบบ คือ สแกนคิวอาร์โคด โดยจะเช็กเอาต์ทันที หรือหากยังไม่สะดวกเช็กเอาต์ตอนนั้น เมื่อเข้ามาในแอปฯ หน้าจอจะแสดงลิสต์กิจการหรือร้านค้าที่เราเช็กอินไปแล้ว ซึ่งจะแสดงแค่ภายในวันนั้นวันเดียว โดยด้านหลังร้านค้าจะมีปุ่มให้กดเช็กเอาต์ออก เมื่อกดก็จะเช็กเอาต์ทันที และจะเข้าสู่หน้าประเมิน หากไม่ต้องการประเมินก็เลื่อนลงมาด้านล่างสุดว่าไม่ประเมิน ส่วนการประเมินปรับเปลี่ยนเป็นรูปภาพหรือไอคอน ซึ่งช่วยให้เข้าใจได้ทันที มีเพียง 4 รูปภาพ และให้เลือกปุ่มถูกหรือผิดเท่านั้น ช่วยให้เพิ่มความเร็วในการประเมิน 3 เท่า
นอกจากนี้ ในหน้าจอหลักยังมีช่องให้ค้นหาร้านด้วย ส่วนกรณีเช็กอินแล้วพบว่าคนเต็มร้าน แต่เจ้าหน้าที่ให้เข้าไปในร้านได้ ก็ต้องพิจารณาว่าร้านเต็มจริงหรือไม่ หากเห็นว่าแออัดก็ไม่ควรเข้า ส่วนข้อเสนอตอบประเมินบางข้อได้หรือไม่ เพราะอยู่ในร้านไม่นานพอจึงไม่ได้เห็นมาตรการทุกอย่าง ก็จะขอรับไว้พิจารณา และยืนยันว่าแอปฯ ใช้พื้นที่น้อย สำหรับแพลตฟอร์มไทยชนะคนใช้แล้ว 14 ล้านคน โดย กทม.ใช้งานถึง 90% แล้ว