xs
xsm
sm
md
lg

จับตาการเงินยุค “โควิด” เตือน OTT จ่อยึดประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดมุมมอง ‘ฐากร’ เผย OTT รุกคืบเข้าระบบการเงินไทยเป็นภัยรุนแรงกว่าที่คิด ต้องเร่งทำ 2 เรื่องคือกำกับดูแลวิธีการใช้จ่ายเงินใน OTT ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านกม.ข้อมูลส่วนบุคคล กับเร่งสร้างหน่วยงานคนรุ่นใหม่รู้เท่าทันเทคโนโลยีมาดูแลเรื่องเงินดิจิทัลบน OTT ชี้รูปแบบการถ่ายเทเงินสดจากบัญชีธนาคารเข้าสู่ e-Wallet ของ OTT ต่างชาติ เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพทาง การเงินไทยเท่านั้น

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวของผู้ให้บริการเหนือโครงข่าย หรือ โอทีที (Over-the-top : OTT) คือการรุกเข้าสู่ระบบการเงินของประเทศไทย หลังจากที่ OTT รุกเข้าสู่หลายๆอุตสาหกรรมภายในประเทศแล้ว

‘จากเดิมบริการ OTT เป็นไปเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของประชาชน อย่างการรับส่งอาหารของ Grab Lineman Food Panda หรือ Get การซื้อขายสินค้าออนไลน์อย่าง Lazada กับ Shopee แต่วันนี้พวก OTT เหล่านี้มีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Wallet เป็นของตัวเอง ซึ่งจากเดิมที่แบงก์ชาติที่มีภารกิจหลัก 2 เรื่องคือการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนกับดอกเบี้ยซึ่งดูแลได้เฉพาะแบงก์พาณิชย์ แต่ปัจจุบันไม่สามารถควบคุมกิจกรรมด้านการเงินของพวก OTT เหล่านี้ได้อย่างเต็มรูปแบบ’

***OTT เติบโตสูง


การเติบโตของ OTT เป็นไปตามกระแสของสังคมไร้เงินสดหรือ cashless society ซึ่งจากสถิติในรายงานดิจิทัล 2020ไทยแลนด์ ของ WeAreSocial และ Hootsuite พบว่า 82%ของกลุ่มตัวอย่างคนไทยอายุ 16 -64 ปีเคยซื้อสินค้าบริการออนไลน์ในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาและจ่ายเงินธุรกรรม e-commerce ต่างๆ ด้วยบัตรเครดิตมากที่สุด คิดเป็น 32% ของจำนวนธุรกรรมทั้งหมด รองลงมาชำระด้วย e-Wallet 25% ตามด้วยการโอนเงินผ่านธนาคาร 20% เงินสด 12%และอื่นๆ 11%

ประเทศไทยมีประชากรบนโลกอินเทอร์เน็ตประมาณ 52 ล้านคน ในจำนวนนี้ 97%ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ผลสำรวจพบว่า โมบายแอปพลิเคชั่น ยอดนิยม 5 อันดับแรกคือ Line Facebook Instagram Lazada และ Shopee แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว


ประเทศไทยมีการใช้งานโมบาย แบงก์กิ้งในระดับสูงมาก จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ พบว่ามีผู้ใช้งานถึง 61.68 ล้านบัญชี คิดเป็นประมาณ 90% ของประชากรไทย มีมูลค่าการทำธุรกรรมชำระเงิน 2.26 ล้านล้านบาท คิดเป็น 98.14% ของการชำระเงินผ่าน ระบบอินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนว่ากิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลส่วนใหญ่ใช้ช่องทางสมาร์ทโฟนเป็นหลัก

สถิติที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งคือช่องทางชำระเงินที่ ธปท. รายงานว่ามีบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money มากถึง 92.32 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้มี 72.72 ล้านบัญชีที่ไม่ใช่ของสถาบันการเงิน คิดเป็น 78.77% ของบัญชี e-Money ทั้งหมด มีมูลค่าการใช้จ่ายรวม 22,134.22 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 18,121.47 ล้านบาท คิดเป็น 81.87% ของการใช้จ่าย e-Money ทั้งหมด มากกว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตที่มีมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านบาท


อย่างไรก็ตามอาจมองได้ว่าไทยประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมการใช้เงินสดน้อยลงหรือ less cash เพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หรือ cashless society และอาจจะเลิกใช้บัตรกดเงินสด (card less) ด้วยซ้ำ เพราะเมื่อพูดถึงเงินสด ไม่ใช่บัตรเครดิต แล้ว คนไทยเริ่มหันไปใช้งาน e-money ของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารมากขึ้นในการชำระเงิน แทนที่บัตรเดบิตไปแล้ว และมีการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนเป็นหลัก

เห็นได้ชัดจากการที่มีบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet ให้เลือกใช้ในแอปพลิเคชั่นแทบทุกอันที่ให้บริการซื้อขายสินค้าและบริการ แม้ว่า e-Wallet ของไทยอย่าง ทรูมันนี่ วอลเลตหรือ ดอลฟิน (Dolfin) ที่ได้รับความนิยม แต่สิ่งที่น่ากังวลในยุคหลังโควิดที่จะมีวัฒนธรรมการซื้อของออนไลน์ สั่งอาหาร เครื่องดื่ม หรือของต่างๆ ผ่านแอปบนมือถือจากที่บ้าน คือ การสร้างแรงจูงใจในการใช้เงินใน e-Wallet ในการชำระเงินสินค้าบริการเหล่านั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า OTT ต่างชาติทำได้ดีกว่าไทยมาก ที่ได้รับความนิยมสูงก็คงหนีไม่พ้น Lazada และ Shopee ซึ่งจะมาแทนที่การจับจ่ายที่ห้างร้านแบบเดิม และ Grab Lineman Food Panda หรือ Get มาให้บริการส่งข้าวส่งน้ำ ส่งของถึงหน้าประตูบ้าน เหล่านี้ล้วนมีระบบ e-Wallet ของตัวเองทั้งสิ้น

ความน่ากลัวคือ ด้วยระบบวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพเนื่องจากเงินลงทุนสูง ทำให้ข้อมูล Big Data ของลูกค้าที่ใช้บริการ OTT ต่างชาติเหล่านี้ถูกใช้ในการกระตุ้นการใช้เงินบนแพลตฟอร์มนั้นๆ อย่างได้ผล ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงตามความต้องการ รวมถึงการเสนอโปรโมชันส่วนลดหากชำระเงินด้วย e-Wallet ของ OTT รายนั้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเม็ดเงินที่ชำระค่าสินค้าบริการในรูปแบบ e-Money ผ่านระบบของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทในเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น เป็นการใช้เงินบน OTT ต่างชาติมากขนาดไหน

ทั้งนี้ ในช่วงโควิด คนไทยส่วนใหญ่ได้ฝากเงินกับ e-Wallet ของ Grab Line Lazada หรือ Shopee ไปบ้างแล้วเพื่อให้ได้ส่วนลดหรือโปรโมชันต่างๆ ด้วยความเก่งกาจของแพลตฟอร์มเหล่านี้ ไม่แพ้ธนาคารของไทยในอดีต จะมีวิธีต่างๆนานา ที่ให้คนฝากเงิน ใน e-Wallet ของตัวเองไว้ให้นานที่สุดเพราะในมุมของผู้ใช้งานเองก็สะดวกสบายเพราะสินค้าและบริการที่ต้อง การซื้อก็อยู่ในนั้นทั้งหมด จึงไม่ลังเลที่จะฝากเงินไว้และใช้ชำระเงินอย่าง ง่ายดายพร้อมส่วนลดต่างๆ แทนที่จะฝากที่ธนาคารแล้วค่อยถอน หรือโอนจ่าย ซึ่งยุ่งยากกว่าและไม่ได้รับโปรโมชันที่ดีเหมือน e-Wallet เพราะดอกเบี้ยเงินฝากไม่ดึงดูดใจเท่ากับโปรโมชัน ส่วนลดโดยตรงอย่างเห็นได้ชัด

***ต้องเข้าใจพฤติกรรมใช้จ่ายประชาชน

ฐากร กล่าวว่าคนที่กำหนดนโยบายการเงินของประเทศในโลกยุคใหม่หลังโควิด ต้องมีความเข้าใจเทคโนโลยีเป็นอย่างดี โดยเฉพาะต้องเข้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของประชาชน ปัจจุบันพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของประชาชนเข้า e-Wallet ของ OTT เกือบหมดแล้ว การฝากเงินก็ฝากใน e-Wallet ของ OTT ดอกเบี้ยก็ไม่ได้ ซึ่งคนอาจไม่ต้องการดอกเบี้ย แต่ต้อง การความสะดวก แล้ว OTT ก็ลดราคาสินค้าให้ถูกลงเพื่อจูงใจ

ดร. ชุติพงศ์ กี่สุขพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์นโยบายเชิงเศรษฐศาสตร์ สำนักค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. ที่ได้ศึกษาและติดตามสถานการณ์ OTT ในประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน วิกฤตโควิด และ New Normal จะเป็นตัวเร่งให้มีเม็ดเงินไหลเข้า e-Wallet ได้เร็วขึ้น ในจำนวนที่มากขึ้น จึงมีความกังวลเรื่องที่ OTT ต่างชาติจะเข้าสู่ระบบการเงินไทยเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลระยะยาวของนโยบายการเงิน

‘ภารกิจหลักของแบงก์ชาติในการกำหนดนโยบายจะไม่ได้ผล เพราะพฤติกรรมประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมดิจิทัลแล้ว เมื่อ OTT รุกเข้าภาคการเงิน มายุ่งกับการกู้เงิน สภาพหนี้ของประเทศ ตัวเลขกระตุ้นเศรษฐกิจ มี e-Wallet เป็นของตัวเอง เหมือนถ้ารัฐแจกเงินจำนวนหนึ่งให้ประชาชน จากเดิมที่เงินจำนวนนั้นก็จะหมุนเวียนในประเทศจากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แต่โลกยุคใหม่ประชาชนจะนำเงินจำนวนนั้นโอนเข้า e-Wallet ของ OTT ซึ่งแบงก์ชาติคุมไม่ได้เพราะ 1.ถึงแบงก์ชาติคุมอัตราแลกเปลี่ยน แต่ไม่ได้คุมสกุลเงินดิจิทัลหรือคุมรูปแบบ coins ของ OTT ที่ใช้แลกเปลี่ยนสินค้า 2.ดอกเบี้ย แบงก์ชาติก็คุมเฉพาะธนาคารพาณิชย์ OTT ไม่ได้ให้ดอกเบี้ยประชาชนที่โอนเงินเข้า e-Wallet แบงก์ชาติก็ทำอะไรไม่ได้’

ชุติพงศ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ว่าบัญชี e-Wallet จะอยู่ภายใต้สายตาของ ธปท. แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเมื่อเงินบาทถูกเปลี่ยนไปเป็นสกุลดิจิทัลต่างๆ ที่ไม่อยู่ในกระดานอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เงินดอลลาร์สหรัฐ หรือเงินเยนญี่ปุ่น และเงินสกุลเหล่านั้น สามารถใช้ซื้อขาย ชำระค่าสินค้าและบริการได้ไม่แตกต่างกันแล้ว เราจะกำหนดนโยบายการเงินอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ ขาดประสิทธิภาพไปในที่สุด

ตัวอย่างเช่นหากว่าคนมีรายได้มากขึ้นหรือได้รับเงินสนับสนุนตามมาตรการของรัฐ และเอาเงินไปฝากใน e-Wallet ของ Line เพื่อใช้ซื้อสติกเกอร์ ต้องแลกเงินบาทเป็น Line Coin ซึ่ง Line เป็นคนควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเอง กิจกรรมแบบนี้อาจจะเล็ดลอดสายตาของหน่วยงานกำกับดูแล และไม่สามารถติดตามเส้นทางการเงินเพื่อเก็บภาษีเข้ารัฐได้หรือดำเนินนโยบายการเงินที่มีประสิทธิภาพได้

อีกตัวอย่างที่น่ากังวลคือเมื่อ Coin ของ OTT สามารถซื้อสินค้าบริการได้เหมือนเงินจริง เช่น Shopee Coin ที่ใช้เป็นส่วนลดราคาสินค้าที่ขายใน Shopee ได้จริง ซึ่งมีทั้งสินค้าในไทยและส่งจากต่างประเทศ หมายความว่า เราไม่ต้องใช้เงินบาทแลกเป็นดอลลาร์หรือสกุลต่างๆ และโอนชำระเงินให้ธนาคารผู้รับในต่างประเทศ แต่ใช้ Coin และสั่งซื้อสินค้าของประเทศไหนก็ได้ ผ่านเว็บจากที่บ้านและรอขนส่งเอกชนอย่าง Kerry หรือ JT Express นำส่งถึงมือ ไม่ว่าประเทศไทยจะทุ่มเงินมากมายเท่าใด หากไม่เข้าใจระบบการเปลี่ยนเงินและใช้เงินในโลกดิจิทัลใหม่ บน OTT ต่างชาติ ก็จะไม่ได้ผลในที่สุด

ซึ่งจะทำให้การอัดฉีดเงินในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลหลังโควิด เป็นเหมือน‘ให้เงินเติมน้ำมันให้รถฝรั่ง’ คนขับ คนซื้อน้ำมันอาจเป็นคนไทย แต่รถยนต์ที่ใช้มีแต่ของญี่ปุ่น หรือยุโรป ไม่มีของไทย ยังไงก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย คนไทยก็จะเป็นคนซื้อน้ำมัน ไม่ใช่คนผลิตรถได้เอง ยังอยู่ภายใต้กับดักผู้มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ต่อไป

‘การเข้ามาของ OTT ต่างชาติที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ช่วยส่งข้าวส่งของ ช่วยเลือกสินค้าบริการให้เรา เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์กับประเทศไทย แต่เมื่อไหร่ที่เข้าสู่ระบบการเงินของประเทศได้เต็มรูปแบบ ก็น่ากังวลอย่างมาก’

***ต้องเร่งทำ 2 เรื่อง

ฐากรย้ำว่า สิ่งที่ต้องรีบทำตอนนี้เพื่อป้องกันเสถียรภาพทางการเงินไทย และกระตุ้นกิจกรรมเศรษฐกิจไปพร้อมกัน คงไม่ใช่การจำกัดช่องทางการใช้จ่ายเงิน แต่เป็นการกำกับดูแลวิธีการให้ใช้จ่ายเงินใน OTT มากกว่า เพราะ OTT รายใหญ่ๆ ของต่างชาติจะเก่งเรื่องการใช้ข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานในการสร้างยอดการใช้จ่ายได้ไม่ยาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องเร่งมือใช้งานกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลที่ออกมาใหม่อย่างเร็ว จะเกียร์ว่างไม่ได้อีกต่อไป เพราะเห็นแล้วว่าคนที่กระตุ้นการใช้เงินและสามารถกำหนดขอบเขตการใช้เงินของคนไทยได้ดีกว่ารัฐบาลคือกลุ่มยักษ์ใหญ่ OTT ต่างชาติทั้งนั้น

นอกจากนั้น ต้องเร่งสร้างหน่วยงานที่มาดูแลเรื่องเงินดิจิทัลบน OTT โดยให้คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจและมีพลังในการติดตามเทคโนโลยี เข้าไปมีบทบาทสำคัญด้วย รวมทั้งต้องเร่งทำความร่วมมือกับต่างประเทศเพราะการชำระค่าสินค้าบริการเชื่อมโยงกันทั้งโลก อาจจะเริ่มจากเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีข้อตกลงเรื่องการชำระเงินกับไทยก่อนก็เป็นหนทางริเริ่มที่น่าเป็นไปได้

‘การถ่ายเทเงินสดจากบัญชีธนาคารเข้าสู่ e-Wallet ของ OTT ต่างชาติ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเงินไทย ซึ่งเราต้องรีบหาทางกำกับดูแล ป้องกันไว้ ก่อนที่จะสายเกินไป’ฐากรกล่าวสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น