xs
xsm
sm
md
lg

"ฐากร"เตือนรัฐบาลป้องกันระบบ OTT จะกลืนกินศก.ชาติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 - "ฐากร"ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาล รับมือวิกฤตโควิด-19 หวั่นเกิดการล่าอาณานิคมด้านเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ ผ่านระบบ OTTที่มีบริการหลากหลายรูปแบบตอบสนองชีวิตวิถีใหม่ ชี้ถึงเวลาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เสนอรัฐบาลเร่งทำ 3 เรื่องป้องกัน OTT กลืนกินเศรษฐกิจไทย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วิกฤตการณ์เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้พฤติกรรมของประชาชนและสังคม เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าวิถีชีวิต และกิจกรรมเศรษฐกิจของไทย จะเปลี่ยนแปลง ด้วยเทคโนโลยี 5G ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า มาวันนี้เกิดขึ้นจริงเร็วกว่าที่คิดหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การทำงานแบบ Tele-work หรือทำงานที่บ้าน (work from home)ที่ใช้ระบบสื่อสารความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ การประชุมทางไกลแบบ real-time และ interactive พร้อมกันหลายคน โดยไม่ต้องอยู่ที่เดียวกัน ตอบสนองนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม ระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospitals) การรักษาทางไกล (Tele-medicine)รวมทั้งการศึกษาออนไลน์(Online education)

"นอกจากคนเริ่มตอบรับชีวิตดิจิทัลที่เร็วกว่าที่คาดไว้มากแล้ว โควิด-19 ยังทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่ไม่ใช่การใช้กำลังเข้ายึดประเทศ แต่เป็นการล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยี ผ่านบริการ OTT"

OTT(Over The Top)หรือบริการสื่อสาร แพร่ภาพ และกระจายเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันทำรายได้มหาศาล เมื่อเทียบกับเงินลงทุนจำนวนเพียงน้อยนิด เพราะอาศัยวิ่งบนเครือข่ายมีสายและเครือข่ายไร้สาย โทรศัพท์มือถือที่ผู้ให้บริการลงทุนหลายแสนล้านบาท เกือบจะเรียกได้ว่าทำธุรกิจจับเสือมือเปล่า OTT ที่โด่งดังในประเทศไทย ประกอบไปด้วย YouTube, Facebook, Grab, Lazada, Shopee,Line ซึ่งแพลตฟอร์ม OTT เหล่านี้ เป็นของต่างชาติทั้งสิ้น

"การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ แทบจะทั้งหมดขับเคลื่อนผ่าน OTT ไม่ว่าจะซื้อของออนไลน์ก็ผ่านลาซาด้า อาลีบาบา อะเมซอน ถ้าจะหาความบันเทิงสนุกสนาน ดูหนัง ก็เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป ถ้าเป็นเรื่องอาหารก็สั่ง แกร็บ ไลน์แมน ทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ ถ้าคนไปใช้บริการ ก็ต้องจ่ายเงินผ่านไปยังต่างประเทศเกือบทั้งหมด วันนี้รัฐบาลอัดฉีดเงินให้ประชาชน อยากถามว่าประชาชนใช้จ่ายเงินที่เป็นการซื้อสินค้าภายในประเทศตัวเอง โดยไม่ผ่าน OTT มีกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราคิดว่าประชาชนได้เงิน 5,000 บาท ซื้ออาหารผ่านการสั่งแกร็บ ก็เป็น OTTถ้าซื้อสินค้าผ่านลาซาด้า ก็เป็น OTT ดูเฟซบุ๊ก ยูทูป ดูหนังเน็ตฟลิกซ์ ก็เป็น OTT ทั้งหมด"

วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ทั้งหมดเลย คนจะหันมาใช้ด้านดิจิทัลมากยิ่งขึ้น พอจะซื้อของก็ไม่ต้องใช้เงินสด แต่ใช้ผ่านวีซ่า หรือมาสเตอร์การ์ด ซึ่งก็เป็นของสหรัฐอเมริกา หรือของต่างชาติอยู่ดี ทั้งหมดเป็นการก้าวสู่ สังคมไร้เงินสด หรือ cashless society ตามการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล

นายฐากร ระบุว่า อยากฝากเตือนรัฐบาลไว้ 3 เรื่อง คือ 1. ต้องรีบกำกับดูแลบริการ OTT อย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่รีบกำกับ OTT ถึงรัฐบาลจะเติมเงินลงไปมากเท่าไรก็ตาม แต่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยากมาก เพราะเงินจะไหลออกต่างประเทศหมด ตามพฤติกรรมประชาชนที่ตอบรับวิถีดิจิทัล ที่รวดเร็วจนคาดไม่ถึง

"เพราะฉะนั้น ต้องรีบตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรง จะผ่านคณะกรรมการดีอี ผ่านกระทรวงดีอีเอส รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ก็ต้องรีบแล้ว กสทช. เป็นหน่วยงานที่ดูแลได้เพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ คิดแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว โควิดทำให้คนหันมาใช้ดิจิทัลเร็วกว่าที่คิดไว้อีก 5 ปี ขอเรียนรัฐบาลว่า เรื่อง OTTต้องรีบกำกับ แล้วต้องเป็นนโยบายผ่านการขับเคลื่อนร่วมกัน"

2. นอกจากต้องเร่งกำกับ OTTแล้ว ประเทศไทยจะต้องมีแพลตฟอร์ม OTT เป็นของตัวเอง หรือที่เรียกว่า National OTT Platform ในขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศสิงคโปร์ มีแกร็บ มาเลเซีย มีไอฟลิกซ์ อินโดนีเซีย ก็มี Go-Jek แพลตฟอร์มดังกล่าวนอกจากทำรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศแล้วยังสกัดไม่ให้เงินรั่วไหลออกนอกประเทศอีกด้วย

3. ถ้าไทยยังไม่มี OTTระดับชาติเป็นของตัวเอง รัฐบาลควรสนับสนุนและยกระดับการซื้อขายสินค้าตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ผ่านจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน เพราะเป็นการซื้อขายตรง โดยไม่ต้องผ่าน OTT ให้ขยายไปทั่วประเทศ จะช่วยป้องกันเงินรั่วไหลออกนอกประเทศได้

"ในช่วงโควิด ถ้ายังไม่มีแพลตฟอร์มของเราเองในตอนนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญ สนับสนุนยกระดับ จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ให้เป็นแพลตฟอร์มระดับชาติไปก่อน ทำอย่างนี้เงินที่เติมให้ประชาชนเป็นแสนล้านบาท ก็จะหมุนวนอยู่ในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจแข็งแรง ไม่อย่างนั้นเงินที่เติมให้ประชาชน 3 เดือน ก็จะไหลออกนอกประเทศผ่าน OTTเกือบทั้งหมด ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจของเรา"

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของ OTTในขณะนี้ สำนักงาน กสทช. เสนอร่าง เอกสาร OTT Initiative ในเวทีสภาหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Telecommunication Regulators’ Council: ATRC)เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจ OTTในภูมิภาคอาเซียน ให้เกิดการแข่งขันและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ เอกสารอยู่ระหว่างการปรับปรุงโดยจะมีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน ผู้ให้บริการ OTT และหน่วยงานกำกับดูแลในแต่ละประเทศอาเซียน ในเดือนสิงหาคม 2563 นี้ ประเทศไทย โดยสำนักงาน กสทช. เป็นเจ้าภาพ คาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ไม่เกินต้นปี 2564

เนื้อหาในร่างเอกสารที่เสนอจะเน้นการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติ และร่วมกันส่งเสริมและกำกับดูแลธุรกิจ OTT ที่ให้บริการในประเทศสมาชิกอาเซียน ในด้านการป้องกันการใช้ช่องทาง OTTกระทำผิดกฎหมาย และการส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงข่ายที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ OTT ในอาเซียน

หลังจากนั้นแล้ว ประเทศไทยควรจะเริ่มสร้าง National OTT Platform สำหรับสินค้าและบริการที่จะเกิดขึ้นใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงจากเดิมหลังโควิด หลายประเทศทำมานานแล้ว เช่น จีน ที่สร้างแพลตฟอร์มอาลีบาบา (Alibaba)เป็นแพลตฟอร์มทำได้แทบจะทุกอย่างและแทนที่กิจกรรม Offline Economy เกือบหมดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างกัน ไปจนถึงชำระเงิน และส่งออก นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ญี่ปุ่น มี Line ที่เริ่มจากส่ง Text แทน SMS ทุกวันนี้ดู TVได้ ใช้เป็นกระเป๋าเงิน ชำระเงินตามจุดต่างๆ และซื้อสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันได้ครบ จบในแพลตฟอร์มเดียว สำหรับประเทศอื่นๆในอาเซียน ก็จะมีบริการ OTT ของตนเอง อย่างสิงคโปร์ ที่มี แกร็บ มาเลเซีย มีไอฟลิกซ์ อินโดนีเซียมี OTTชื่อGo-Jek จะมีแต่ประเทศไทย ที่ไม่มีแพลตฟอร์ม OTTระดับชาติเป็นของตัวเอง

"วันนี้คำถามของผมคือ ถ้าเราคิดว่าเงินที่รัฐบาลเติมลงไปเพื่อให้ขับเคลื่อนหมุนเวียนเศรษฐกิจของประเทศ แต่มันหายออกไปนอกประเทศผ่าน OTT เห็นชัดได้ว่า ถ้าเราไม่แก้ปัญหา OTT ประเทศเราจะตกเป็นเมืองขึ้นของโลกเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่เป็นการล่าอาณานิคมยุคใหม่ในโลกดิจิทัลด้วยการใช้ OTT เป็นเครื่องมือนี่แหละ" นายฐากร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น