เปิดมุมมอง ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ในช่วงวิกฤตโควิดที่เลวร้าย กลับมีสิ่งดีๆที่ซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโอกาสสำคัญให้คนไทยกลับมาสามัคคี มารักกัน รักประเทศชาติ รักสถาบัน ที่อดีตเคยมีแต่คนเรียกร้องแต่ไร้การตอบสนอง ผ่านกระบวนการประมูลคลื่น 5G ชนิดต้องทุบกำแพงทองแดงผนังเหล็ก ต่อสู้กับแนวความคิดต่อต้านที่ว่าทำไมต้องรีบประมูลคลื่น เร็วเกินไปหรือไม่ ในขณะที่ยูสเคสยังไม่เกิด แต่วันนี้ 5G กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเด็ดที่ทำให้ภาคสาธารณสุขไทยเหนือกว่าประเทศอื่นในโลก จนคนไทยในต่างแดนต่างดิ้นรนกลับประเทศยามนี้
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)กล่าวถึงการประมูลคลื่น 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาว่าถือเป็นโชคดีของประเทศไทยอย่างมากที่สามารถจัดประมูลคลื่น 5G และสามารถเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนก.พ. ได้สำเร็จ เพราะเกิดก่อนช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่หลายๆประเทศต้องล็อกดาวน์ รวมทั้งประเทศไทย หากการประมูลล่าช้าไปกว่านั้น ประเทศไทยคงไม่มีคลื่นความถี่อีกจำนวนหลายร้อยเมกะเฮิรตซ์ มาใช้ในยามที่รัฐบาลต้อง การให้ประชาชนอยู่บ้านและทำงานที่บ้านแทนที่จะออกนอกบ้าน เพราะเสี่ยงกับการแพร่กระจายเชื้อโรค
การประมูลคลื่น 5G วันที่ 16 ก.พ. เรียกได้ว่าต้องสู้กับแรงต้านรอบด้านอย่างภาคเอกชนเองก็คิดว่า 4G ยังใช้ไม่คุ้มค่ากับที่ลงทุนไปจำนวนมาก ทำไมต้องรีบประมูล 5G ยูสเคสการใช้งานจริงก็ยังไม่เห็น ไม่รู้แม้กระทั่งวิธีจะเรียกเก็บเงินจากลูกค้าหรือแนวคิดของนักวิชาการก็เห็นไม่ต่างกันมากนักว่าเร็วเกินไปที่จะประมูลคลื่น 5G จะมีก็แต่ ‘ฐากร’ ที่เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องรีบเดินหน้า 5G
‘สิ่งที่ผมคิดไว้ตั้งแต่ปลายปี 61 ต่อเนื่องถึงปี 62 จนมาประมูลคลื่น 16 ก.พ. เราคาดการณ์มาโดยตลอดว่าถ้าประเทศไทยไม่มี 5G ความคิดที่เราจะเป็นผู้นำเปลี่ยนผ่านอะไรต่างๆมันคงยากที่จะแข่งกับประเทศอื่น โดยเฉพาะความจำเป็นเกี่ยวกับชีวิต ความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชนเอง’
ฐากร กล่าวย้ำว่า ‘วันนี้ทุกคนเห็นแล้ว 16 ก.พ.ที่เราประมูลไป เรียกได้ว่าเป็นวินาทีสุดท้ายของประเทศแล้ว หากเราไม่ได้ประมูลคลื่นดังกล่าว คลื่นความถี่ที่ประมูลหลายร้อย MHz ที่มีการใช้งานวันนี้ก็คงไม่ถูกนำมาใช้งาน เมื่อเกิดวิกฤตโควิดแล้ว เราคงใช้งานอินเทอร์เน็ตที่หมุนติ้วไปเรื่อยๆ แต่วันนี้เห็นการใช้งานอย่างสะดวก มีบริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตหรือโอทีที (Over The Top-OTT) มี Grab, YouTube Facebook มีอะไรที่ใช้งานเยอะแยะ แต่ไม่ได้ทำให้การใช้งานมีปัญหาสะดุด เพราะว่ามันมีคลื่นความถี่ที่จัดสรรไปเมื่อ 16 ก.พ.ไปรองรับพอดี’
นอกจากนี้ 5G ยังเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ กล่าวคือ 1.ภาคสาธารณสุข จะเห็นระบบบริการโรงพยาบาลอัจฉริยะ (smart hospitals) ที่ใช้ IoT sensor ช่วยคัดกรองผู้ป่วย มีแอปพลิเคชั่นวินิจฉัยโรค และประมวลผล Big Data เพื่อประเมินความเสี่ยง และช่วยประกอบการตัดสินใจของแพทย์ที่ให้การรักษาจากทางไกลผ่านระบบ Tele-medicine
‘คนในต่างจังหวัด อยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็สามารถรักษากับคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญได้ โดยไม่ต้องเดินทางเข้าตัวจังหวัด’
2.การสร้างรายได้ที่จะเกิดขึ้นในชนบทก็จะมีเรื่องสตาร์ทอัปต่างๆที่เรียกว่าเศรษฐกิจชุมชนจะมีงานใหม่ๆเกิดขึ้น
3.เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาจะเกิดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยผู้เรียนเข้าถึงบทเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตเชื่อมกับระบบคลาวด์ คอมพิวติ้งได้อย่างไร้พรมแดน มีการใช้งาน VR(Virtual Reality)และ AR (Augmented Reality)ช่วยในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบเสมือนจริง
‘เราจะเห็นภาพการเรียนการสอนที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องมาเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว จะมีการเรียนออนไลน์ จนสามารถออกปริญญาบัตรให้ได้ในอนาคตข้างหน้า’
4.เกี่ยวกับเรื่องเกษตรกรรมของประเทศ สมาร์ทฟาร์มมิ่งต่างๆที่จะต้องเกิดขึ้น
*** หลังโควิดไทยจะเปลี่ยนไป
ฐากร ย้ำว่าในวันนี้สิ่งที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า อันนี้ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคการเงิน ภาคการธนาคาร ภาคการขนส่งต่างๆจะต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอนเมื่อมี 5G เกิดขึ้น แต่ต้องมองภาพเศรษฐกิจเล็กชุมชนพวกนี้ต้องเกิดผลกระทบแน่ ซึ่งเห็นว่าถ้าวันนี้ไม่มี 5G จะทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้ ไทยจะเป็นประเทศที่ไปไม่ถึงฝันสักที ทำให้ต้องผลักดันให้เกิด 5G ให้ได้
เขาระบุว่าในช่วง 2-3 ปีที่เคยบรรยายในเวทีต่างๆทั้งในและต่างประเทศว่าการพัฒนาเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าวิถีชีวิตและกิจกรรมเศรษฐกิจของไทยจะเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี 5Gในอีก 4-5 ปีหรือในช่วงปี 2567-2568 แต่มาวันนี้มันเกิดขึ้นจริงเร็วกว่าที่คิดหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบ Telework หรือทำงานที่บ้าน (Work from Home) ที่ใช้ระบบสื่อสารความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ การประชุมทางไกลแบบ Real-time และ interactive พร้อมกันหลายคนโดยไม่ต้องอยู่ที่เดียวกัน ตอบสนองนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospitals) และ การรักษาทางไกล (Tele-medicine) + การศึกษาออนไลน์ (Online education) – VR / AR มาใช้ interactive classrooms and Cloud based online courses + เศรษฐกิจดิจิทัลแบบไร้คนกลาง ส่งตรงถึงบ้าน point to point – ห้างสรรพสินค้าไม่จำเป็น ไม่มีก็ซื้อขายกันได้ + การชำระเงิน + banking ที่ไม่ต้องเดินทางไปธนาคาร(Mobile banking) การเกษตรอัจฉริยะ smart farming
‘โควิด กำลังจะสร้างประเทศไทยยุคใหม่ ขอให้คนไทยปรับเปลี่ยนชีวิตให้เร็ว ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด’
ในช่วงวิกฤตโควิดในประเทศไทย นอกจากจะเห็นการนำประโยชน์ 5G มาใช้ในภาคสาธารณสุขอย่างชัดเจนโดยเฉพาะการใช้หุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปฎิบัติงานในโรงพยาบาลแล้ว ในวันนี้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้รับการยอมรับและชื่นชมทั่วโลกแล้วว่าดีกว่าหลายๆประเทศที่พัฒนาแล้ว
ในมุมมอง ‘ฐากร’ เห็นว่าช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะเปลี่ยนแนวคิด มุมมอง ที่อดีตประเทศไทยเคยประสบปัญหาสมองไหล เพราะคนไทยมีความพยายามอยากไปทำงานหรือใช้ชีวิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันตกด้วยความต้องการรายได้ที่มากขึ้น ความเชื่อที่ว่ามีสวัสดิการที่ดี และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า
แต่ในยามวิกฤต จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆเหล่านี้มีการเลือกปฎิบัติ ปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และปฎิเสธการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคโควิดทั้งกับคนในประเทศตัวเองและคนต่างชาติ ในขณะที่ประเทศไทย รักษาฟรี รัฐบาลดูแลทั่วถึง
‘ผมยืนยันได้เลย ระบบสาธารณสุขประเทศไทยอยู่ในมาตรฐานโลกอันดับต้นๆ ทำให้ทุกคนอยากจะกลับมาอยู่เมืองไทย ความจำเป็นพื้นฐานของคนไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย ความจำเป็นพื้นฐานคือสิ่งที่อำนวยความสะดวกสามารถทำให้อยู่รอด และทำให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข วันนี้สิ่งที่คนไทยคิดคืออยากจะอยู่อย่างมีความสุข โดยความจำเป็นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคต่างๆ’
ฐากร กล่าวว่า สิ่งที่ผมมองมากไปกว่านั้นคือประเทศไทย เราเรียกร้องความสามัคคีความรักชาติให้เกิดขึ้น เราเรียกร้องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยเองหรือคนไทยที่อยู่ต่างแดน ที่ผ่านมาเราเรียกร้องอย่างไร แต่ความคิดที่แตกต่างไปก็ยังมีอยู่ ขยายวงออกไปเป็นจำนวนมากด้วย อย่างไปอยู่ประเทศโน้นก็เห็นว่าดีกว่าประเทศไทย ไปอยู่อเมริกาก็ว่าดีกว่าอยู่ประเทศไทย ไปอยู่อังกฤษก็ว่ารายได้เยอะ ความเป็นอยู่ดีกว่าประเทศไทย คนจำนวนมากก็ดิ้นรนอยากไปอยู่ตามคำร่ำลือที่เกิดขึ้น
‘มาในวันนี้วิกฤตโควิดก็ถือว่าเป็นโอกาส ทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่าสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง กลับมาถึงเราแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงดีที่สุดและเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ วันนี้ยารักษาโรคของเราคือด้านสาธารณสุข ของเรามีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่นๆ วันนี้คนไทยทุกคนเรียกร้องอยากจะกลับประเทศทั้งนั้น เพราะฉะนั้นความสมัครสมานสามัคคีเกิดขึ้นแล้วในวันนี้ ผมว่าใช้เงินหลายล้านล้าน ก็ซื้อเรื่องพวกนี้ไม่ได้ วันนี้ต้องถือว่าโควิดเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างโอกาสให้คนไทยกลับมารักกัน รักชาติ รักสถาบัน’