สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ได้เร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการใช้ชีวิต ซึ่งเร่งให้ภาคธุรกิจเกิดการทำ Digital Tranformations ฝั่งผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าถึงบริการทางออนไลน์มากขึ้น
อีกภาคส่วนที่ถือเป็นหน้าด่านสำคัญในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือการนำเทคโนโลยีไปช่วยทาง ด้านสาธารณสุขก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์นี้อาจจะเห็นการนำ AI มาใช้ประมวลผลร่วมกับระบบคลาวด์ เพื่อใช้วินิจฉัยโรคต่างๆ หรือการทำ Telemedicine เพื่อใช้การรักษาทางไกลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์
แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยได้เริ่มให้บริการเครือข่าย 5G ที่ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่เปิดใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์ ซึ่งแน่นอน ว่าในช่วงแรกที่เปิดให้บริการ ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 5G ถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่ลงทุนไว้เพื่อใช้งานในอนาคต 1-2 ปีข้างหน้าเพียงแต่โอเปอเรเตอร์ในไทย ก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องเข้ามาให้บริการ ซึ่งล่าสุด เอไอเอส (AIS) ก็ประกาศความสำเร็จในการติดตั้งโครงข่าย 5G ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แม้ว่าจะเผชิญกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้เกิดความยากลำบากในการติดตั้งสถานีฐานก็ตาม
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส ให้ข้อมูลว่า ในการติดตั้งเครือข่าย 5G ก่อนหน้านี้ จะเห็นการเร่งติดตั้งเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศเป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งจะได้ภาพในส่วนของการทำการตลาด
เมื่อเอไอเอส เป็นผู้นำในตลาดนี้ ยังไงก็ต้องเร่งขยายโครงข่ายให้รองรับ แม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องลูกข่ายที่รองรับการใช้งาน 5G อยู่หลักแสนเครื่องก็ตาม ประโยชน์ของการติดตั้งโครงข่าย 5G ก็คือการที่อุป กรณ์เครือข่ายยุคใหม่สามารถนำมาให้บริการ 4G ได้ด้วย ทำให้ลูกค้าที่ใช้งานโครงข่าย 4G กว่า 60% ได้ประโยชน์ตรงนี้ด้วย จึงมีการเร่งติดตั้งโครงข่ายในช่วงที่ผ่านมา
“ต้นทุนในการติดตั้งโครงข่าย 5G สูงกว่าเดิม 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับโครงข่าย 4G แต่ก็มีข้อดีคือทำให้คาปาซิตี้ที่รองรับการใช้งานเพิ่มขึ้น 8-10 เท่า ซึ่งถ้ามองในระยะยาวแล้วจะคุ้มค่ามากกว่า เพราะยังสามารถนำไปใช้งานด้านอื่นได้’
ในจุดนี้ ทำให้ประเทศไทยมีความโชคดีที่ 5G เข้ามาพร้อมให้บริการในช่วงโควิด-19 ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดใช้งานทางด้านการแพทย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานได้จริง แม้ว่าหลายๆ เทคโนโลยีจะเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 4G แล้วแต่พอมี 5G จะทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น
แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนในการสร้างรายได้เพิ่มเติม นอกเหนือจากการใช้งานโครงข่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่เอไอเอส ก็พร้อมที่จะเดินหน้าร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อปูทางให้กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กรในอนาคต สามารถสร้างรายได้จาก การให้บริการ 5G ได้ ทำให้ในช่วงแรกนี้ จะได้เห็นการเข้าไปร่วมกับทุกภาคธุรกิจ เพื่อนำ 5G ไปใช้งาน ซึ่งล่าสุดได้เข้าไปร่วมกับทาง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์บนเครือข่าย 5G เพื่อสร้างความเท่าเทียมทาง บริการด้านสาธารณสุขของคนไทย
จุดเริ่มต้นของความร่วมมือในครั้งนี้ คือการที่ เอไอเอส ได้ประกาศแคมเปญอย่าง AIS สู้ภัยโควิด-19 ขึ้นมา พร้อมทุ่มงบประมาณ 100 ล้านบาท ในการพัฒนาหุ่นยนต์เข้าไปช่วยเหลือในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แก่โรงพยาบาล 22 แห่งที่ใช้เป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วย จากนั้นจึงต่อยอดในการนำเทคโนโลยี 5G มายกระดับการรักษาในรูปแบบของโซลูชันทางการแพทย์ครบวงจร (5G Total Telemedicine Solutions) ให้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว
วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า จากขั้นตอนในการตรวจคัดกรองผู้ป่วย ด้วยการนำ 5G มาช่วยในการส่งภาพ CT Scan ปอดของผู้ที่มีความเสี่ยง ก่อนนำระบบวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยเพื่อเปรียบเทียบกับภาพปอดของผู้ที่ติดเชื้อ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น ซึ่งให้ผลที่แม่นยำถึง96%
ข้อดีของการนำ 5G มาช่วยก็คือ ทำให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัด ที่ปัจจุบันเอไอเอส ได้ติดตั้งโครงข่ายขยายครอบคลุมพื้นที่สำคัญๆ ในบริเวณตัวเมือง และกำลังเร่งติดตั้งเพิ่มเติมตามโรงพยาบาลต่างๆ จะช่วยให้สามารถส่งภาพ CT Scan ที่ไฟล์ภาพมีไฟล์ขนาดใหญ่เข้ามายังศูนย์กลาง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลได้ทันที
“จากเดิมขั้นตอนในการส่งภาพ CT Scan จะใช้การส่งข้อมูลจากโรงพยาบาลต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพฯ ด้วยการส่งแผ่นซีดีเข้ามาให้แพทย์วินิจฉัย แต่พอเป็น 5G ก็จะสามารถส่งข้อมูลผ่านโครงข่ายได้ทันที บนมาตรฐานความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูล”
นอกจากนี้ ยังช่วยลดระยะเวลาในการทำงานของ บุคลากรทางการแพทย์จากเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมง ในการเปรียบเทียบภาพ CT Scan แต่เมื่อใช้งาน AI จะใช้เวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้น ทำให้ช่วยคัดกรองเบื้องต้นได้เร็วขึ้น
ปัจจุบัน เริ่มมีโรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่นำระบบคัดกรองนี้ไปใช้งานแล้ว อย่างโรงพยาบาลบ้านหลวง จังหวัด น่าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่โครงข่าย 5G เข้าไปให้บริการแล้ว ส่วนโรงพยาบาลอื่นๆก็จะทยอย นำโซลูชันเหล่านี้ไปนำเสนอเพื่อนำไปให้บริการต่อไป ถัดมา เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาผู้ป่วย เพื่อการลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เอไอเอส พัฒนา 5G Robot for Care ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นหุ่นยนต์ตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งจะติดตั้งทั้งระบบควบคุมเส้นทางเดินของหุ่นยนต์ไปยังเตียงผู้ป่วย จนถึงใช้ในการสื่อสารผ่านระบบวิดีโอคอลระหว่างแพทย์ และผู้ป่วย ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยได้
ขณะเดียวกัน เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้ จึงได้มีการนำสมาร์ทดีไวซ์เข้าไปสนับสนุน พร้อมการติดตั้งโครงข่ายเพิ่มเติมภายในโรงพยาบาล เพื่อให้รองรับการใช้งานแอปพลิเคชันปรึกษาแพทย์ทางไกลผ่านระบบ Telemedicine ทำให้คนไข้สามารถพบหมอได้ โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
สุดท้าย เพื่อช่วยให้นักศึกษาคณะต่างๆ ในวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สามารถศึกษาได้ต่อเนื่องในช่วงที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ด้วยการนำ 5G มาใช้สนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Smart Class Room
จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลต้นแบบในการนำ 5G มาใช้งานครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชัดเจนของโครงข่าย 5G ซึ่งถูกเร่งให้ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยให้คนไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน