xs
xsm
sm
md
lg

AIS ร่วม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พัฒนาโรงพยาบาลต้นแบบการรักษาผ่าน 5G

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอไอเอส (AIS) เดินหน้านำเทคโนโลยี 5G เสริมศักยภาพวงการแพทย์ และสาธารณสุข หลังร่วมมือ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 5G Telemedicine เต็มรูปแบบ พร้อมยกเป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งการรักษาผ่าน 5G แห่งแรกของไทย ภายใต้แนวคิด “5G ที่จับต้องได้ เพื่อทุกชีวิต”

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (จำกัด) มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส มีความมุ่งมั่นในการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาช่วยเหลือสังคมไทย ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะโครงข่าย 5G ที่เร่งดำเนินการเพื่อเข้าไปช่วยเหลืออุตสาหกรรมต่างๆ

“เอไอเอสต้องการเข้าไปช่วยเหลือสังคมให้ผ่านพ้นภัยโควิด-19 ด้วยการนำเทคโนโลยี พลังคน และพันธมิตรสำคัญของแพทย์ และโรงพยาบาลที่มาร่วมกันเรียนรู้ และพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วย ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้คนไทย เข้าถึงบริการทางการแพทย์ ภายใต้แนวคิด 5G ที่จับต้องได้ เพื่อทุกชีวิต”

ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้เข้าไปสนับสนุนทีมแพทย์ และโรงพยาบาล ทั้งการเข้าไปติดตั้งเครือข่าย 5G ส่งมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 23 ตัวให้แก่โรงพยาบาล 22 แห่งครบถ้วนแล้ว เพื่อเข้าไปช่วยลดข้อจำกัด และสร้างความเท่าเทียมทางบริการด้านสาธารณสุขของคนไทย

ล่าสุด ได้เข้าไปร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเทคโนโลยี 5G มายกระดับการรักษาในรูปแบบของ การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเต็มรูปแบบ (5G Total Telemedicine Solutions) ตั้งแต่การทำให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ทำงาน และแสดงผลได้รวดเร็ว และแม่นยำขึ้น


ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผล AI บนเครือข่าย 5G สำหรับเครื่อง CT Scan ปอด การมอบหุ่นยนต์บริการ 5G Robot for Care ให้เป็นผู้ช่วยตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วนโควิด-19 ตลอดจนการนำแอปฯ เกี่ยวกับบริการพบแพทย์ออนไลน์ เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาแพทย์ทางไกลจากที่บ้าน โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล

จนถึงการนำ 5G มาสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Smart Class Room ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมสู่วงการแพทย์ไทยหลังยุคโควิด-19

สำหรับ 5G Total Telemedicine Solutions ประกอบด้วย 1.CT Scan ปอดบนเครือข่าย 5G ที่ช่วยให้สามารถส่งไฟล์ขนาดใหญ่ขึ้นไปประมวลผลบนคลาวด์ ด้วยการนำภาพไปเปรียบเทียบกับปอดของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ให้ผลแม่นยำถึง 96% ช่วยลดระยะเวลาทำงานของบุคลากรทางการแพทย์จากเดิม 1 ชั่วโมง เหลือ 30 วินาที


2.หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G Robot for Care ด้วยการนำเทคโนโลยีอินฟาเรด ตรวจวัดอุณหภูมิ การนำ 3D Mapping มากำหนดแผนที่เส้นทางเดินเข้าหาผู้ป่วย Telemedicine ระบบปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่าน Video Call ช่วยหลีกเลี่ยงการเข้ามาสัมผัส หรือใกล้ชิดผู้ป่วยโดยตรง

3.สนับสนุนสมาร์ทดีไวซ์ เครือข่าย และแอปพลิเคชัน แบบครบวงจร เพื่อให้บริการปรึกษาแพทย์ทางไกล โดยเชื่อมต่อศูนย์บริการ COVID-19 Call Center ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กับแอปพลิเคชัน “ME-MORE” (มีหมอ) ซึ่งเป็นแอปฯ พบแพทย์ออนไลน์ ที่ให้คนไข้หรือผู้สงสัยว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถปรึกษาแพทย์ทางไกลจากที่บ้าน

4.นำ 5G ไปช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Smart Class Room ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อให้มีการเรียนการสอนต่อเนื่องในช่วงที่มี Social Distancing

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวเสริมว่า การยกระดับบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อให้เป็นโมเดลต้นแบบของการนำเทคโนโลยี 5G มาสนับสนุน จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการดูแลและตรวจรักษาผู้ป่วยในช่วงโควิด -19 ให้ดียิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น