เปิดเส้นทางท่อร้อยสายทีโอที กว่า 2,500 กิโลเมตรใน กทม. ในรูปแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ www.totconduit.com ใครข้องใจเปิดดูรายละเอียดที่ ‘มรกต’ รอง กก.ผจก.ทีโอทีย้ำว่าจะรู้แนวท่อร้อยสายทีโอทีอยู่บนถนนเส้นทางไหน ระยะทางเท่าไหร่ ชนิดที่โอเปอเรเตอร์และผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม สามารถวางแผนล่วงหน้าในการนำสายสื่อสารลงดินได้ทุกขั้นตอน เน้นจุดเด่นทีโอทีสามารถให้บริการในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ค้ากำไรเกินควรที่ 4,825 บาทต่อซับดักส์กิโลเมตรต่อเดือน เหตุไม่ต้องสร้างท่อร้อยสายใหม่ ทำแค่ซ่อมแซมบำรุงรักษา ชี้จุดเด่นหากให้ทีโอทีทำตอนนี้ ใช้เวลาแค่ 2-3 เดือนต่อเส้นทาง ที่สำคัญเป็นการรักษาสภาพการจ้างงานในภาวะแรงงานตกยากยุควิกฤตโควิด-19
“จริงๆ ตอนนี้มีหลายหน่วยงานที่แสดงความประสงค์ที่อยากทำงานในส่วนนี้ ทีโอทีต้องบอกข้อเท็จจริงให้ฝ่ายนโยบายต่างๆ ให้รู้ว่าทีโอทีมีทรัพยากรตัวนี้อยู่ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนบริการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และลดเวลาในการก่อสร้างท่อร้อยสายใหม่ ที่ผ่านมาอาจไม่ทราบว่าทีโอทีมีทรัพยากรตรงนี้ ก็ต้องบอกให้ทุกคนเข้าใจ และพอเข้าใจตรงกัน การตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่เกิดความขัดแย้งของส่วนงานต่างๆ ที่ต้องเกี่ยวพันกัน การบอกข้อเท็จจริงให้รับรู้ ถ้าสงสัยก็สามารถลงตรวจสอบในพื้นที่ให้ชัดเจนก็ยิ่งดี” มรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าว
เขาระบุว่า ทีโอทีมีความพร้อมเรื่องท่อร้อยสายใต้ดินมานานแล้ว เพราะถนนในกรุงเทพฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 10 กว่าปีขึ้นไปเป็นแนวของท่อร้อยสายทีโอทีทั้งสิ้น จะมีก็แต่ถนนที่ตัดใหม่จริงๆ เท่านั้นที่อาจจะยังไม่มีแต่เป็นจำนวนไม่มาก ซึ่งตอนนี้ทีโอทีมีท่อร้อยสายคิดเป็นระยะทางทั้งหมดประมาณ 2,500 กิโลเมตร ที่ผ่านมาก็มีการดูแลซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ เพียงแต่อาจจะต้องทำเพิ่มในส่วนที่จะต้องขึ้นมาบนดินเพื่อต่อเข้าอาคารบ้านเรือนที่เรียกว่าไรเซอร์ ที่ต้องทำเพิ่มมากขึ้น เพราะความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยหรือการทำธุรกิจขยายตัวออกไป แต่ใช้เวลาไม่นาน สามารถทำในช่วงดึกๆ และการทำงานไม่มีผลกระทต่อการจราจรแต่อย่างใด เพราะทำในพื้นที่ไม่เกิน 50 ซม.หรือ 1 เมตรเท่านั้น
“เวลานี้มีประมาณ 2,500 กม. หมายถึงระยะถนน ถนนบางเส้นมีท่อทั้ง 2 ฝั่ง แนวท่อร้อยสายของทีโอทีเป็นช่องจราจรซ้ายสุด ฝาท่อเป็นฝาเหล็ก ซึ่งเป็นแนวท่อของทีโอทีส่วนใหญ่ แต่มีถนนบางเส้นที่แนวท่ออยู่ที่เดิมนั่นแหละ แต่ถูกมองเป็นช่วงเลนกลางของถนน เพราะถนนมีการขยาย เปิดซ้ายขวา มากขึ้นอีก 1-2 เลนซึ่งแนวท่อของเดิมไม่ได้ขยับทำให้มองว่าแนวท่ออยู่ช่วงกลาง แต่ถ้าถามว่ามีผลกระทบอะไรหรือไม่ ตอบได้ว่าไม่กระทบเพราะทำช่วงดึกมาก เช่น ตี 2 ถึงตี 4 ทำไม่นาน เปิดฝาท่อแล้วกั้นการจราจรนิดหนึ่ง แล้วทำการตัดถ่าย ก็ไม่กระทบการจราจรเท่าไหร่ เนื่องจากว่าเราไม่ได้ทำการสร้างใหม่ เพราะการสร้างใหม่ใช้เวลานานมาก หลายเดือนบางเส้นอาจจะถึง 6 เดือน กรุงเทพฯการจราจรทั้งวันทั้งคืน ถ้าเป็นการซ่อมรวมทั้งการทำไรเซอร์ ผมว่าแค่ 2 เดือนถ้าให้เราทำตามแผน ทำช่วงกลางคืน ทำทุกวัน 2 เดือนต่อถนน 1 เส้นก็น่าจะเสร็จ ทำพร้อมๆ กันได้หลายๆ จุด ยิ่งตอนนี้เป็นการสร้างงานด้วยยิ่งดีใหญ่ เป็นหนึ่งงานที่สร้างงานได้ดี”
การนำสายสื่อสารลงใต้ดินเข้าสู่ระบบท่อร้อยสาย จากเดิมที่เป็นการแขวนเสาพาดสาย เป็นนโยบายของรัฐที่ต้องการสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามให้กรุงเทพฯ สำหรับโครงการดังกล่าว กรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการโครงการท่อร้อยสายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มูลค่า 25,000 ล้านบาท ซึ่ง กสทช.ต้องเป็นผู้กำหนดราคากลางในการเช่าท่อร้อยสายแต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้เนื่องจากราคาที่กรุงเทพธนาคมเสนอสูงเกินไปและเป็นการคิดราคาที่ไม่ตรงกับที่ทีโอทีคิดกับเอกชน
ในขณะที่ มรกตกล่าวว่า ท่อร้อยสายหรือดักส์คือท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 นิ้ว ในนั้นจะมีหน่วยที่เล็กลงไปใส่ท่อได้ 3 ท่อเรียกว่า ซับดักส์ และใน 1 ซับดักส์ใส่ท่อได้อีก 3 ไมโครดักส์ ซึ่งไมโครดักส์เป็นหน่วยที่โอเปอเรเตอร์ทั้งหลายและผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่างๆ รวมทั้งรายย่อยมาเช่าใช้ ซึ่งทีโอทีได้ปรับลดราคาค่าเช่าลงอีก 50% เหลือเพียง 4,825 บาทต่อซับดักส์กิโลเมตรต่อเดือน เหตุที่ทีโอทีทำได้ต่ำ เนื่องจากทีโอที ใช้ท่อเดิมที่เป็นการร้อยสายทองแดง เปลี่ยนมาเป็นการร้อยสายเคเบิลใยแก้ว ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ใช่การสร้างท่อร้อยสายใหม่ ดังนั้นจะไปคิดราคาที่สูงเกินไปคงไม่ได้
“ขั้นตอนต่อไป เราอยากให้มีความชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้อาจจะมีความลังเลอยู่บ้างว่าเส้นทางไหนบ้างที่ทีโอทีมีท่อร้อยสายกันแน่ และเส้นทางไหนที่ไม่มี ซึ่งเราได้ทำแผนที่อิเล็กทรอนิกส์พร้อมทั้งใส่ข้อมูลทั้งหมดเข้าไปในนั้น ทุกหน่วยงานสามารถเข้าไปดูได้เลย ไม่ได้เป็นข้อมูลที่ปิดอะไร ทำเป็นเว็บไซต์ไว้เข้าไปดูได้ เช็กได้เส้นทางใดมี เป็นระยะทางเท่าไหร่ พิกัดอาจไม่ได้บอกหมด แต่บอกว่าถนนเส้นไหน ระยะทางเท่าไหร่มีรายละเอียดทั้งหมด โอเปอเรเตอร์ก็สามารถวางแผนในการใช้งานได้ว่าอยากเอาสายลงดินได้เลย เวลาทำเราสามารถร้อยสายให้หมด หรือให้ท่อเปล่าๆ เป็นไมโครดักส์แล้วให้โอเปอเรเตอร์เอาสายไฟเบอร์ไปร้อยเอง”
ทั้งนี้ ข้อมูลรายละเอียดเส้นทางของท่อร้อยสายทีโอที สามารถดูได้จาก www.totconduit.com ซึ่งตอนนี้ยังไม่ถึงกับเปิดให้คนทั่วไปดูได้ แต่คนในวงการที่เกี่ยวข้องจะได้รับยูสเซอร์เนมและพาสเวิร์ดสามารถเข้าไปดูได้ ซึ่งจะมีทั้งโอเปอเรเตอร์และผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่างๆ รวมทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กรณีที่ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่ามีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานจำนวนกว่า 2,000 กิโลเมตร สามารถทำโครงการท่อร้อยสายในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้นั้น ตนเองได้ให้ทีโอทีแสดงหลักฐานชัดเจนออกมาว่ามีพื้นที่ตรงไหนบ้างไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เนื่องจากเรื่องนี้มติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ได้เห็นชอบไปแล้วให้กรุงเทพมหาครเป็นผู้ดำเนินการ หากมีก็ต้องแจ้ง และแสดงหลักฐานให้ชัดเจน หากไม่มีก็ให้กรุงเทพมหานครดำเนินการต่อไป เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่ควรยื้อ ซึ่งกรุงเทพมหานครก็กำลังดำเนินการอยู่แล้ว
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า มติบอร์ดดีอีล่าสุดระบุให้ กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบโครงการท่อร้อยสายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2,450 กิโลเมตร เนื่องจากทีโอทีไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าทีโอทีมีท่อพร้อมสำหรับทำโครงการตามจำนวนดังกล่าวจริง ดังนั้น หากทีโอทีต้องการทำต้องแสดงหลักฐานต่อบอร์ดดีอีเพื่อเปลี่ยนแปลงมติบอร์ด ทั้งนี้โดยส่วนตัวเชื่อว่ากรุงเทพมหานครต้องเดินหน้าและยึดมติบอร์ดที่เคยมีมติมาแล้ว
สำหรับโครงการนำระบบสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ โดยจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 4 จุด ใน 4 พื้นที่พร้อมกัน ประกอบด้วย พื้นที่ 1 กรุงเทพเหนือ ระยะทางประมาณ 620 กิโลเมตร นำร่องที่จะดำเนินการบริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระรามที่ 1-ถนนเพชรบุรี รวม 1.4 กิโลเมตรพื้นที่ 2 กรุงเทพตะวันออก ระยะทางประมาณ 605 กิโลเมตร เส้นทางนำร่องบริเวณถนนรัชดาภิเษก จากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ประตู 2 และประตู 3 ถึงซอยรัชดาภิเษก 7 และซอยประชาสันติ และบริเวณถนนเทียมร่วมมิตร จากถนนรัชดาภิเษกถึงหน้าอาคารไซเบอร์เวิลด์ (CW Tower) รวม 1.95 กิโลเมตร
พื้นที่ 3 กรุงธนเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ระยะทางรวม 605 กิโลเมตร เส้นทางนำร่องบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 68 จากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10 รวม 1.7 กิโลเมตร และพื้นที่ 4 กรุงธนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรี และฝั่งพระนคร เช่นเดียวกัน รวมระยะทาง 620 กิโลเมตร โดยเส้นทางนำร่อง ได้แก่ บริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 ระยะทาง 1.9 กิโลเมตร