ตลาดสำนักงานยังไม่สะเทือนแม้ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก ไตรมาสแรกมีอาคารสำนักงานใหม่เพิ่ม 3 โครงการ พื้นที่ 57,071 ตร.ม. แต่หากไว้รัสระบาดยาวถึงไตรมาส 3 กระทบหนักแน่ แนะเจ้าของอาคารลดค่าเช่า-บริการ 3-6 เดือน ช่วยบรรเทาภาระผู้เช่า
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง แม้ว่าในประเทศจีนซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโรคระบาดจะมีผู้ติดเชื้อน้อยลง แต่ไวรัสกลับไปแพร่ระบาดในยุโรปและหนักหนาสาหัสกว่าในจีนมาก ซึ่งหากการแพร่ระบาดเนิ่นนานออกไปยิ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหนักมากขึ้น จากเดิมที่คาดหวังว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดภายในไตรมาสแรกหรือไม่เกินเดือนพฤษภาคม มาถึงวันนี้เริ่มไม่มั่นใจว่าจะลากยาวไปถึงสิ้นไตรมาส 2 หรือยาวนานออกไปอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อให้รักษาตัวรอดให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้
เมื่อพิจารณาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในขณะนี้ เชื่อว่าทุกฝ่ายได้รับผลกระทบกันทั่วหน้าและต้องประคองตัวเองให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้ อย่างน้อยๆ เราก็ผ่านไตรมาส 1 ของปีมาแล้ว สิ่งที่ทั้งนักวิชาการ กูรูทั้งหลาย แนะนำคือ การชะลอการลงทุนใหม่เพื่อไม่ให้เจ็บตัวมากนัก การหันมาเน้นระบายสะต๊อกเก่าที่มีอยู่เพื่อสร้างกระแสเงินสดหมุนเวียน ก่อนหน้านี้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยลบมาแล้ว ทำให้ได้มีการปรับตัวมาสักระยะหนึ่ง การกระจายการลงทุนไปในธุรกิจที่สร้างรายได้ระยะยาวก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของหลายบริษัท อาคารสำนักงานให้เช่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเซกเมนต์อื่นๆ ของอสังหริมทรัพย์
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2563 แม้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งพบว่าหลายหน่วยงานมีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 ลงมาอยู่ที่ติดลบ 5.3% จากเดิมที่ประเมินว่าขยายตัว 2.8% โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงและกระทบเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทำให้การส่งออก การบริโภคได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีการหดตัวแรง
ไตรมาส 1/63 มี สนง.เปิดใหม่ 3 โครงการ
แต่สำหรับภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2563 พบว่า อุปทานพื้นที่สำนักงานรวมในกรุงเทพมหานครยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 8.857 ล้านตารางเมตร จากการเปิดตัวของโครงการอาคารสำนักงาน จำนวน 3 แห่ง ซึ่งบางโครงการมีการเลื่อนการเปิดตัวมาจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ สปริงทาวเวอร์ บนถนนพญาไท โดยมีพื้นที่เช่า 27,255 ตารางเมตร ทิปโก้ ทาวเวอร์ 2 บนถนนพระราม 6 โดยมีพื้นที่เช่า 14,238 ตารางเมตร และทีอาร์อาร์ ทาวเวอร์ บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์โดยทั้ง 3 โครงการมีพื้นที่รวมทั้งหมด 57,071 ตารางเมตร
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีความต้องการพื้นที่สำนักงานรวมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 45,000 ตารางเมตร โดยพบว่า โค-เวิร์กกิ้ง สเปซ สถาบันทางการเงิน รวมถึงหน่วยงานของภาครัฐบางส่วนเป็นผู้ที่เข้าใช้พื้นที่ของอาคารสำนักงานมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มผู้เช่าส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่า 3,000 ตารางเมตร จึงส่งผลให้อาคารสำนักงานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมาบางโครงการมีการใช้พื้นที่ไปแล้วกว่า 80% และคาดการณ์ว่ากลุ่มผู้เช่าเหล่านี้จะยังคงเป็นผู้เช่าหลักของอาคารสำนักงานในอนาคต
สำหรับในปี 2563 ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์สฯ คาดการณ์ว่า ภาคธุรกิจต่างๆ แม้จะไม่มีการว่าจ้างพนักงานใหม่เพิ่มมากนักในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวเป็นอย่างมาก และบางส่วนอาจมีการพยายามลดต้นทุนการเพื่อเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจและต่อธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การเช่าสำนักงานส่วนใหญ่เป็นสัญญาระยะยาวจึงทำให้ตลาดอาคารสำนักงานไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และเชื่อว่าในอนาคตหลายๆ บริษัทยังจำเป็นต้องขยายพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นเมื่อมีโอกาส เนื่องจากอาคารสำนักงานที่มีอยู่เดิมคับแคบกว่าที่ควร หรืออยากย้ายอาคารสำนักงานใหม่เพื่อให้สะดวกในการเดินทางมากขึ้นและเพื่อสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่ดีขึ้น และพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายบริษัทแม้จะมีพนักงานจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีแต่ไม่สามารถขยายออฟฟิศได้เนื่องจากอุปทานใหม่มีเข้ามาอย่างจำกัด ดังนั้น ภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานจะยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งในปีนี้ และค่าเช่าจะยังคงมีโอกาสปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ตลาด สนง.กระทบแน่หากไวรัสลากยาวถึงไตรมาส 3
ถึงแม้ว่าตลาดอาคารสำนักงานจะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างน้อยสำหรับในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ เนื่องจากโดยรวมแล้วในปีนี้อุปทานที่มีเหลืออยู่ในตลาดยังคงไม่เพียงพอหรือมีอย่างจำกัดเพื่อรองรับความต้องการของบริษัทต่างๆ ที่ต้องการย้ายอาคารสำนักงานใหม่ หรือขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาคารเกรดเอ
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์สฯ คาดการณ์ว่า หากหลังจากช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีเป็นต้นไปเป็นแล้ว สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ตลาดอาคารสำนักงานก็อาจจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากการสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยคาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดดังกล่าวอาจส่งผลกระทบให้มีคนว่างงานมากกว่า 6.5 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าผู้เช่าหลายรายที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องธุรกิจอาจปิดตัวลงจนต้องยกเลิกสัญญาเช่าหรือปรับลดขนาดพื้นที่ลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้สามารถประคับประคองธุรกิจไปได้
แนะเจ้าของลดค่าเช่า-ค่าบริการช่วยผู้เช่า
สำหรับการบรรเทาในระยะสั้นสำหรับผู้เช่า ผู้ประกอบการควรให้ส่วนลดค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าบริการ และค่าที่จอดรถ อย่างน้อย 3-6 เดือน โดยแบ่งตามประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ หรือให้สามารถแบ่งชำระค่าเช่า ค่าบริการรวมถึงขยายเวลาชำระเงินกำหนดเดิมออกไปโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อให้ผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นไปได้และเพื่อให้ผู้เช่ายังคงสามารถเช่าพื้นที่ต่อได้โดยไม่ยกเลิกสัญญาเช่า ส่วนผู้เช่าหากได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว ควรติดต่อผู้ให้เช่าเพื่อพูดคุยและหาแนวทางเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป หรือหากครบกำหนดต่อสัญญาอาจพิจารณาเป็นการต่อสัญญาระยะสั้นไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ต่อไป
นายภัทรชัย กล่าวต่อว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ผ่านมา แต่ยังพบว่าอุปทานพื้นที่สำนักงานรวมในกรุงเทพมหานครยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 8.857 ล้านตารางเมตร จากการเปิดตัวของโครงการอาคารสำนักงานจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สปริงทาวเวอร์ ทิปโก้ ทาวเวอร์ 2 และทีอาร์อาร์ ทาวเวอร์ โดยทั้ง 3 โครงการมีพื้นที่รวมทั้งหมด 57,071 ตารางเมตร และมีพื้นที่สำนักงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกราว 1.45 ล้านตารางเมตร โดยคาดว่าจะแล้วในเสร็จระหว่างปี พ.ศ.2563-2568 จากพื้นที่อาคารสำนักงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งหมดพบว่า ประมาณร้อยละ 58 ตั้งอยู่ในเขตศูนย์กลางธุรกิจ และร้อยละ 82 จะเป็นพื้นที่สำนักงานเกรดเอ
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า พื้นที่สำนักงานที่จะแล้วเสร็จในปี 2563 ยังคงมีอย่างจำกัด โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 นั้นมีพื้นที่สำนักงานที่แล้วเสร็จเพียงแค่ 57,071 ตารางเมตร ในขณะที่ไตรมาสที่ 2-ไตรมาสที่ 4 จะมีพื้นที่สำนักงานก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 329,255 ตารางเมตร โดยในปี 2564 และปี 2565 จะมีพื้นที่สำนักงานที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในแต่ละปีเพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ 368,032 ตารางเมตร และ 401,174 ตารางเมตร ตามลำดับ
แม้ว่าปัจจุบันอุปทานพื้นที่อาคารสำนักงานส่วนใหญ่ประมาณ 45% จะยังคงอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ แต่ยังมีอุปทานอีกกว่า 58% ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีราคาที่ดินที่ค่อนข้างสูงและหาที่ดินที่จะนำมาพัฒนาค่อนข้างยาก เช่น ถนนพระราม 4 สุขุมวิท สีลม หรือสาทร แต่นับจากช่วงกลางปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่นอกศูนย์กลางเขตธุรกิจกำลังเป็นทำเลใหม่ในการพัฒนาอาคารสำนักงานเนื่องจากราคาที่ดินที่ไม่สูงมากนักเหมาะสำหรับการพัฒนาอาคารสำนักงาน และทำเลเหล่านั้นยังคงขาดแคลนพื้นที่สำนักงานเกรดเอใหม่ๆ ที่เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เนื่องจากอาคารสำนักงานให้เช่าบนทำเลเหล่านั้นส่วนใหญ่ก่อสร้างแล้วเสร็จมามากกว่า 10 ปี และยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้เช่าที่จะสามารถเช่าได้ในระดับราคาที่ถูกลง เมื่อเทียบกับอาคารสำนักงานในเกรดเดียวกันในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ เช่น ถนนรัชดาภิเษก และพระรามที่ 9 พื้นที่ตามแนวถนนสุขุมวิทตอนกลาง-ปลายถนนพหลโยธิน และทำเลย่านบางนา-ตราด เป็นต้น โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเส้นทางใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
สำหรับราคาที่ดินที่ปรับขึ้นในพื้นที่ศูนย์กลางเขตธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาอาคารสำนักงาน แต่ยังพบว่านักลงทุนทั้งนักลงทุนต่างชาติและผู้ประกอบการไทยอีกเป็นจำนวนมากยังคงมองหาที่ดินศักยภาพในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจเพื่อนำมาพัฒนาอาคารสำนักงานให้เช่า แม้ว่าราคาที่ดินจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเพียงใด เนื่องจากพวกเขามองเห็นถึงโอกาสในการลงทุนบนทำเลนี้ ทั้งในเรื่องของอุปทานคงเหลือที่มีค่อนข้างน้อย รวมถึงราคาค่าเช่าที่ยังสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
ในระยะหลังจะเห็นได้ว่าบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัยหันมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้สม่ำเสมอ รวมถึงอาคารสำนักงานเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัย ทั้งจากการเข้าซื้ออาคารสำนักงานและนำมาปรับปรุงใหม่เพื่อที่จะสามารถปรับค่าเช่าให้เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการต่างชาติที่สนใจเข้าซื้ออาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดอาคารสำนักงานในประเทศไทยยังคงเติบโตและแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องท่ามกลางปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามากระทบ
สิ้นไตรมาส 1 พื้นที่ สนง.รวม 8.441 ล้านตร.ม.
ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มีอุปสงค์การใช้พื้นที่สำนักงานรวมทั้งสิ้น 8.441 ล้านตารางเมตร อัตราการเช่าโดยรวม อยู่ที่ 95.3% ซึ่งถือว่ายังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ทำเลย่านสุขุมวิทยังคงเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการใช้พื้นที่สูงสุดในย่านศูนย์กลางธุรกิจที่ 96.3% ในขณะที่พื้นที่รอบนอกฝั่งเหนือมีอัตราการใช้พื้นที่สูงสุดในพื้นที่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจที่ 99.1%
ความต้องการพื้นที่สำนักงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และอุปทานใหม่ๆ ที่ยังคงมีอยู่จำกัด เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราการเช่าสูงขึ้นใน 3 พื้นที่หลักในกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้แก่ พื้นที่ศูนย์กลางเขตธุรกิจ พื้นที่รอบเมืองฝั่งทิศตะวันออก และพื้นที่รอบเมืองฝั่งทิศเหนือ บริษัทต่างชาติและไทยหลายบริษัทในกรุงเทพมหานครยังคงมีความต้องการเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานเกรดเอ และบี ในพื้นที่ศูนย์กลางเขตธุรกิจ (CBD) และพื้นที่โดยรอบ แต่มีหลายบริษัทที่มีปัญหาในการหาพื้นที่ที่เหมาะสมตามความต้องการ ทำให้อาคารสำนักงานใหม่บางอาคารนอกพื้นที่ศูนย์กลางเขตธุรกิจ (CBD) มีความน่าสนใจสำหรับบริษัทที่ต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานมากกว่า 1,000 ตารางเมตร หรือหลายบริษัทเลือกที่จะต่อสัญญาระยะ สั้นเพื่อที่จะรออุปทานใหม่ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในอนาคต
อาคารสำนักงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างส่วนใหญ่มีการเปิดให้เช่าพื้นที่ล่วงหน้าโดยผ่านทางเอเยนซี และมีการปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ระยะของอัตราการเช่าที่วางไว้ ซึ่งหลายอาคารมีอัตราการเช่าพื้นที่ล่วงหน้าสูงกว่า 60% ก่อนที่อาคารจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากผู้เช่ามองว่าจะได้ราคาค่าเช่าที่ค่อนข้างถูกกว่าเมื่ออาคารก่อสร้างแล้วเสร็จ และยังคงมีพื้นที่ให้เลือกและได้ในขนาดพื้นที่ที่ต้องการ
โดยปกติการย้ายสำนักงานของผู้เช่าในกรุงเทพมหานครจะย้ายในพื้นที่เดิมหรือการขยายพื้นที่ก่อน หรือย้ายไปที่อาคารสำนักงานใหม่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีกว่า เนื่องจากบริษัทไม่ต้องการให้การย้ายสำนักงานมีผลต่อการเดินทางของพนักงาน รวมถึงลูกค้าจะสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย และอีกปัจจัยสำคัญคือเรื่องของภาพลักษณ์ขององค์กรก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้เช่าต้องการย้ายอาคารสำนักงานไปที่อาคารสำนักงานใหม่ๆ ที่มีระบบการจัดการที่ดี มีความทันสมัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ดีขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตของพนักงานและภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดี
แม้ไว้รัสระบาดค่าเช่า สนง.ยังปรับขึ้น 2.2%
ค่าเช่ายังคงมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะปรับขึ้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากพื้นที่ว่างมีน้อยลงในขณะที่ความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบว่า ค่าเช่าเฉลี่ยของอาคารสำนักงานเกรดเอในพื้นที่ศูนย์กลางเขตธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 1,115 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน โดยเฉพาะอาคารสำนักงานย่านลุมพินี พบว่า อัตราค่าเช่าเฉลี่ยในพื้นที่ลุมพินีปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,110 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน หรือปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าเช่าของพื้นที่สำนักงานในอาคารเกรดเอ ในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ประมาณ 900-1,600 บาทต่อตารางเมตร แต่ค่าเช่าสุดท้ายอาจจะต่ำลงมาอีกสัก 5-10% หรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองและขนาดของพื้นที่
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดหนักในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้ภาพพรวมของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเป็นอย่างมาก การลงทุนเกิดภาวะหยุดชะงัก แต่สำหรับภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานของกรุงเทพฯ พบว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภาคอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เนื่องจากโดยรวมแล้วในปีนี้อุปทานที่เหลืออยู่ยังคงไม่เพียงพอรองรับความต้องการของบริษัทต่างๆ ที่ต้องการย้ายอาคารสำนักงานใหม่ หรือขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาคารเกรดเอ