เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ รายงาน (8 ธ.ค.) ผลการสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า 80% ขององค์กรการกุศลจำนวน 103 แห่งในฮ่องกง ประสบภาวะขาดทุนตั้งแต่เดือนมิถุนายน ด้านนักสังคมสงเคราะห์ว่าความเสียหายจากการประท้วงทำให้ชีวิตผู้ด้อยโอกาส ลำบากยากยิ่งขึ้นและอันตรายขึ้น
สื่อฮ่องกง ได้สัมภาษณ์ ลุงเฮงชายวัย 69 ปี ชายไร้บ้านซึ่งเคยได้รับไข่ต้มและกล้วยเพื่อทานเป็นอาหารค่ำจากองค์กรการกุศลในท้องถิ่นทุกคืน และเขาจะหลับนอนบนถนนในมงก๊ก
แต่ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน อาหารตามปกติของเขาไม่มีให้บริการแล้ว เนื่องจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและการหยุดชะงักของการจราจรในฮ่องกง
เจฟ รอตเมเยอร์ ผู้บริหารสูงสุดของ ImpactHK ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ส่งอาหารและสิ่งจำเป็นให้กับคนไร้บ้านของฮ่องกงรู้จักลุงเฮงเป็นอย่างดี
“เขาอยู่คนเดียวตลอดเวลาและทนทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้า แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นคนที่น่ารักและใจดีจริงๆ” รอตเมเยอร์ กล่าว
รอตเมเยอร์ และทีมงานอาสาสมัคร 12 ถึง 20 คนมักจะตระเวนทั่วเมืองทุกคืน ให้อาหารคนไร้บ้านและผู้ด้อยโอกาสต่างๆ จำนวน 1,500 มื้อต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงขึ้น ตำรวจปะทะจับกุมผู้ประท้วงหัวรุนแรงในมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยจีน ทีมงานอาสาสมัครจึงถูกบังคับให้ยกเลิกการเดินทางไปราวร้อยละ 10 เป็นเวลาสองสัปดาห์เนื่องจาก
“ผู้คนเป็นฝ่ายเดินทางมาที่ศูนย์อาหารของเราเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ดังนั้นเราจึงต้องเพิ่มการบริการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รอตเมเยอร์ตัดสินใจย้ายคุณลุงเฮงไปที่แฟลตในไถ่กว็อกสุ่ย หลังจากที่เขาป่วยและได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาที่ถูกยิงระหว่างการปฏิบัติการของตำรวจ
ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ฮ่องกงอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ผู้ประท้วงหัวรุนแรงมักทำลายสิ่งอำนวยความสะดวกบนถนนและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน
ความวุ่นวายทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม รวมถึงกลุ่มคนชายขอบ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
“เราไม่ค่อยนึกถึงคนไร้บ้านที่มีชีวิตยากลำบาก พวกเขาเป็นชุมชนที่ถูกลืมและถูกทอดทิ้งเสมอ” รอตเมเยอร์กล่าวและยอมรับว่า “การประท้วงส่งผลกระทบต่อทุกคนในฮ่องกง แต่คนกลุ่มนี้ยิ่งจะทุกข์ทรมานมากขึ้น”
นายจอห์น ลี รัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของฮ่องกง กล่าวว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิ้นเดือนตุลาคม สัญญาณไฟจราจร 460 ชุด และไฟถนน 40 ชุดถูกทำลาย ทางเดินระยะทางรวม 45.6 กม. และบล็อกปูพื้นประมาณ 2,900 ตารางเมตรถูกรื้อทำลาย
รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ชายอายุ 68 ปี ในรถเข็นไฟฟ้า โดนรถบรรทุกชนเสียชีวิตที่ถิ่นโส่ยไว อุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นที่ทางแยกเหตุจากสัญญาณไฟจราจรชำรุดรอการซ่อมหลังจากผู้ประท้วงทำลายเสียหาย
เทเรซา ลี นักสังคมสงเคราะห์สมาคมคนตาบอดแห่งฮ่องกง กล่าวว่า ทางเท้าและอิฐที่เสียหาย ราวโลหะกั้นทางที่ขาดหายไป ตลอดจนร่องรอยการทำลายทำให้ชีวิตประชากรผู้พิการของฮ่องกงยิ่งลำบากและเสี่ยงความปลอดภัยขึ้น
“ลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ บนท้องถนนและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเสียหายหลายแห่ง ทำให้คนพิการไม่สะดวกในการเดินทาง บางครั้งไม่กล้าไปไหนอยู่คนเดียวในบ้าน” นักสังคมสงเคราะห์กล่าว
“คนตาบอดอาจก้าวพลาดสะดุดเข้าไปในร่องอิฐปูพื้นที่หายไป หรือไม่รู้ว่าต้องเลี้ยวเมื่อไหร่ เพราะไม้เท้าของพวกเขาจะไม่แตะราวเหล็กตามทางเท้า ฯลฯ”
ลี กล่าวว่าเมื่อเดือนที่แล้วองค์กรของเธอต้องยกเลิกการฝึกอบรมทั้งหมดสำหรับคนตาบอด 120 คน
“สิ่งที่เราทำได้คือการทำให้แน่ใจว่าคนพิการที่อาศัยอยู่ในสถานที่ของเราปลอดภัยและได้รับการดูแลและตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับความต้องการของผู้รับบริการที่อาศัยอยู่ในบ้านของพวกเขา” ลีกล่าว
ยายหว่อง อายุ 75 ปี ผู้ความบกพร่องทางสายตาและความทุกข์ทรมานจากอาการปวดหลังอย่างต่อเนื่อง ใช้ชีวิตช่วงประท้วงอยู่ตามลำพังในย่านเก่าแก่ของไส่วานโฮ ต้องลำบากมากขึ้น แม้เพียงเพื่อไปรอบ ๆ ชุมชนซื้อของชำและไปที่ศูนย์ชุมชนท้องถิ่นเพื่ออ่านหนังสือพิมพ์
“ด้วยสัญญาณไฟจราจรที่แตกและไม่ได้รับการซ่อมแซมเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทุกครั้งที่ฉันข้ามถนน บางครั้งมันก็ยากที่จะเห็นรถที่รีบหักเลี้ยวมา” เธอกล่าวและว่า “เรามักจะถูกคิดถึงเป็นลำดับท้ายๆ ในสังคมเสมอ แม้กระทั่งในเวลาปกติ เราไม่มีเสียงและไม่มีใครสนใจ”
ภาวะการเงินเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่องค์กรเอกชนท้องถิ่นเผชิญเนื่องจากการประท้วง จากการสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยสภาธุรกิจเพื่อสังคมแห่งฮ่องกงพบว่า 80% ของผู้ประกอบการเพื่อสังคม 103 รายที่สัมภาษณ์ได้บันทึกผลขาดทุนตั้งแต่เดือนมิถุนายน
องค์กรประมาณ 27% กล่าวว่าพวกเขาจะเลิกจ้างพนักงานคนพิการด้อยโอกาสบางส่วน ในขณะที่ร้อยละ 21 กล่าวว่าพวกเขาจะลดเวลาทำงานของพนักงานจากกลุ่มฯ เหล่านี้
ชุง ไวเส่ง เลขานุการของหอการค้ากล่าวว่า "กิจการเพื่อสังคมมากมาย ตั้งแต่ร้านกาแฟและร้านอาหารไปจนถึงธุรกิจค้าปลีก ล้วนจ้างคนตาบอดหูหนวกและคนพิการชาวฮ่องกง"
“ร้านที่จ้างคนพิการเหล่านั้นจำนวนมากอยู่ในสถานี MTR และตามมหาวิทยาลัยที่กลายเป็นจุดไฟประท้วง” ชุงกล่าว “การปิดสถานีบ่อยครั้งและมหาวิทยาลัยปิดเทอมของโรงเรียนก่อนกำหนด ทำให้หลายคนต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากด้วยรายได้ที่ลดลงและค่าใช้จ่ายสูง”