เจตนาดี แต่ประสงค์ร้าย ในเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกัน สนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ทำงานที่บ้าน องค์กรผู้บริโภค ท้วงกสทช.เพิ่มเน็ตให้ประชาชน 10GB เอื้อประโยชน์เอกชน แนะให้ลดค่าบริการดีกว่า ด้านโอเปอเรเตอร์ตอกกลับหากให้ลดค่าบริการ ทำไมไม่ลดค่าคลื่นที่ประมูลมาสูงบ้างล่ะ ยันมาตรการกลืนเลือดเพิ่มเน็ต ทำเอกชนเสียหายมากกว่า 5,000 ล้านบาท แต่ยินดีทำเพื่อชาติ ถามกลับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยช่วยอะไรประชาชนบ้างในภาวะเช่นนี้
จากกรณีองค์กรผู้บริโภคตั้งคำถามว่าการที่กสทช.สนับสนุนนโยบายรัฐบาลให้ประชาชนทำงานที่บ้านด้วยการเพิ่มปริมาณอินเทอร์เน็ตมือถืออีก 10 GB เป็นระยะเวลา 30 วัน และปรับเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้าน เป็น 100 Mbps โดยเปิดให้ประชาชนขอรับสิทธิตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.เป็นการเอื้อประโยชน์โดยตรงแก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ส่วนประชาชนก็อาจมีเพียงบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ในลักษณะพลอยได้เท่านั้น
แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหรือโอเปอเรเตอร์ กล่าวว่าหากมาตรการดังกล่าวที่หวังว่าการเพิ่มเน็ตอีก 10 GB เพราะต้องการจูงใจให้ประชาชนอยู่บ้านสกัดเชื้อโควิด -19 ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) และให้ใช้เงินสนับสนุนจากงบกองทุน วิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ถูกกล่าวหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์เอกชน ในด้านโอเปอเรเตอร์เองทั้งๆที่ยอมกลืนเลือด เพื่อช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาล แต่กลับถูกโจมตีว่าเกิดการเอื้อประโยชน์กัน ถือเป็นการกล่าวหาที่รุนแรงกับกสทช.และโอเปอเรเตอร์ ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนในภาวะเช่นนี้
ในมุมของโอเปอเรเตอร์เอง ได้ออกมาชี้แจงก่อนหน้านี้แล้วว่าโอเปอเรเตอร์กระอักเลือด โดน 2 เด้ง แต่ถือเป็นการร่วมกันสนับสนุนนโนบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนทำงานที่บ้าน และไม่ใช่เป็นการที่กสทช.เอาเงินมาอุดหนุนเอื้อประโยชน์เอกชนแต่อย่างใด โดยที่เรียกว่าโอเปอเรเตอร์โดน 2 เด้งคือ 1.การเพิ่มเน็ต 10 GB โดยกสทช.สนับสนุนด้วยเงิน 100 บาทต่อเลขหมาย เป็นการขายต่ำกว่าทุนมาก เพราะในตลาดแพ็กเสริมสูงสุด 8 GB 30 วันราคา 599 บาท ยิ่งมีคนลงทะเบียนใช้มากเท่าไหร่ โอเปอเรเตอร์ก็ขาดทุนมากเท่านั้น เพราะทุก 1 เลขหมายโอเปอเรเตอร์ขาดทุน 500 บาท และ 2.ลูกค้าที่เคยซื้อแพ็กเสริมแต่ละเดือนก็จะไม่ซื้อเพิ่ม เพราะได้จากกสทช.แล้ว ซึ่งทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ คำนวณรวมกันแล้วคาดว่าเสียหายกว่า 5,000 ล้านบาท
ทุก 1 เลขหมายที่เพิ่มความเร็วเน็ต 10 GB ถือเป็นการกินเนื้อตัวเอง ใครที่คิดว่าเป็นการเอื้อประโยชน์โอเปอเรเตอร์ ต้องคิดใหม่ เอาตัวเลขมากางพิสูจน์กันก็จะเห็นได้ชัดเจน แต่ที่โอเปอเรเตอร์ยอมก็เพราะเป็นระยะสั้นแค่ 30 วัน และทุกโอเปอเรเตอร์ ต้องการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ให้คนอยู่บ้าน ทำงานจากบ้าน ไม่ใช่เหมือนที่บางหน่วยงานคิด หรือ พยายามจับผิดว่ากสทช.เอื้อประโยชน์เอกชน
‘อยากถามว่ามูลนิธิเคยช่วยอะไรประชาชนบ้างในภาวะเช่นนี้ แล้วเน็ต 10GB ถ้าต้องซื้อราคาเท่าไหร่ ถ้ากสทช.มาบังคับให้โอเปอเรเตอร์ลดราคา ผมก็อยากถามกลับว่าตอนประมูลคลื่นทำไมตั้งราคาแพง ทำไมไม่แจกหรือลดราคาบ้าง’
ทั้งนี้มาตรการเพิ่มเน็ต 10 GB ให้ประชาชน คาดว่าจะใช้เงินจากกทปส.ประมาณ 3 พันล้านบาท และจะให้เฉพาะผู้ใช้บริการปัจจุบันเท่านั้น ไม่รวมคนที่ซื้อซิมการ์ดเบอร์ใหม่แต่อย่างใด โดยในวันที่ 10 เม.ย.2563 จะเริ่มให้ประชาชนกดรหัส USSD ไปยังโอเปอเรเตอร์ที่ต้องการ ด้วยการกด *170* ตามด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก #โทร.ออก หลังจากนั้นใช้เวลาไม่เกิน 3-5 นาที ในการตรวจสอบว่าประชาชนจะไม่ใช้สิทธิ์เกิน 1 สิทธิ์ ก็จะสามารถใช้งานได้ทันที โดยมีระยะเวลา 30 วัน
สำหรับเน็ตบ้านนั้น ผู้ให้บริการจะอัปสปีดให้เป็น 100 Mbps หรือความเร็วตามคาปาซิตี้ที่สามารถทำได้ ทันที่ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.2563 เป็นระยะเวลา 30 วัน โดยกทปส.จะอุดหนุนให้ครัวเรือนหรือพอร์ตละ 50 บาท ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 150 ล้านบาท