xs
xsm
sm
md
lg

กสท โทรคมนาคม ตั้งเป้า พนักงานทำงานที่บ้าน 70% รับมือ โควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กจญ.กสท โทรคมนาคม คาดให้พนักงานทำงานอยู่บ้าน 70% เพื่อช่วยหยุดเชื้อ โควิด-19 รับมีอุปสรรคในการทำงานผ่านระบบเทคโนโลยีบ้าง แต่เชื่อว่าหลังพ้นวิกฤตคนจะใช้อีบิสิเนสในการทำงานมากขึ้น

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงวิธีการรับมือโควิด-19 ภายในองค์กร ว่า สถานการณ์นี้เริ่มตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 2563 ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อธุรกิจมากเหมือนกัน เพราะบริษัทเป็นภาครัฐและมีหน้าที่ในการให้บริการงานโทรคมนาคมภาครัฐด้วย ขณะเดียวกันก็ดูแลภาคธุรกิจด้วย จึงต้องมีการปรับหลายเรื่อง แม้ว่าบริษัทคือบริษัทเทคโนโลยีแต่เมื่อต้องใช้เทคโนโลยีในการทำงานแบบเต็มรูปแบบก็มีปัญหาเหมือนกันทั้งด้านการใช้เครื่องมือในการทำงานและตัวของพนักงานบริษัทเองในการใช้เครื่องมือ

บริษัทจึงมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด -19 โดยเฉพาะ เริ่มตั้งแต่ในส่วนของพนักงานเองที่จะเข้ามาทำงาน บริษัทได้ปิดพื้นที่เข้าออกเหลือช่องทางเดียว ทั้ง 3 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากนั้นจึงกรองคนด้วยการวัดไข้ก่อนเข้าสำนักงาน และงดการประชุม รวมถึงมีการซักประวัติด้วย แต่ก็กรองได้ระดับหนึ่ง ก็จะมีบางคนที่หลุดเข้ามา แต่ก็มาบอกภายหลังทันที ก็รีบนำคนที่เกี่ยวข้องออกและทำความสะอาดทันที ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็มีคนที่มีความเสี่ยงอยู่จำนวนหนึ่ง ที่มาจากสนามมวย ก็ได้สั่งการให้ตรวจหาเชื้อ แต่พบว่าเป็นลบ

สำหรับลูกค้าที่จ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ยังคงสามารถใช้บริการได้ ส่วนที่เข้ามาที่ศูนย์บริการ บริษัทมีการปิดบางศูนย์ คือ ในห้างสรรพสินค้า ส่วนที่ยังเปิดก็มีการกรองลูกค้าเช่นเดียวกับที่ทำในสำนักงานเพื่อป้องกันความเสี่ยง และมีการเพิ่มการเว้นระยะห่างในการให้บริการแล้ว

ส่วนพนักงานของบริษัท เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีนโยบาย work form home หรือทำงานที่บ้านแล้วพร้อมเครื่องมือในการทำงาน ซึ่งต้องเริ่มดูก่อนว่าพนักงานแผนกไหนที่สามารถทำงานที่บ้านได้บ้าง มีจำนวนเท่าไหร่ และดูเทคโนโลยีที่ใช้ หากเป็นการประชุม บริษัทมีเครื่องมือในการประชุมทางไกลอยู่แล้ว คือ แคท คอนเฟอร์เร้นซ์ ให้บริการทั้งภายในและภายนอก โดยขณะนี้มีจำนวนการทำงานที่บ้านประมาณ 30-40% คาดว่าจะเพิ่มเป็น 70% เพราะบางสายงานยังทำได้ยากเพราะเป็นผู้ต้องอยู่หน้างาน เช่น การทำงาน 24 ชั่วโมง จึงต้องมีการทำงานของพนักงานแบบเป็นกะ เขาก็จะแก้ปัญหาด้วยการทำงานเป็นคู่ คนหนึ่งทำงานที่ทำงาน อีกคนทำงานที่บ้าน นอกจากนี้มีการจำลองด้วยว่า หากพื้นที่นั้นไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ จะมีการหาพื้นที่สำรองในการทำงานด้วย

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่าได้มีการให้อำนาจกับผู้บริหารแล้วในการพิจารณาและยืดหยุ่นในการทำงานว่าส่วนไหนต้องทำงานที่บ้านบ้าง มีการผ่อนปรนกฎระเบียบ การทำงานที่บ้าน บริษัทก็มีการเช็คยอดเวลาทำงานแบบออนไลน์ด้วยผ่านเว็บไซต์ของบริษัทที่มีระบบ VPN ในการป้องกันเพื่อความปลอดภัยของระบบในการทำงานด้วย ซึ่งผู้บริหารต้องมีหน้าที่ในการดูแล ตรวจสอบว่าลูกน้องของตนเองทำงานอยู่ที่บ้านจริง เพื่อให้ทุกคนอยู่บ้าน มีความรับผิดชอบต่อสังคม หากไม่อยู่บ้านต้องแจ้งผู้บริหาร การทำงานที่บ้านคือการเปลี่ยนสถานที่จากที่ทำงานเป็นที่บ้านแต่ยังต้องทำงานเต็มเวลา ดังนั้นจึงต้องมีความเชื่อใจกัน หากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิด

จากการทดลองทำงานที่บ้านมาประมาณ 3-4 วัน ก็พบปัญหาอุปสรรคของพนักงานในการใช้เทคโนโลยีเพราะอุปกรณ์ในการประชุมเมื่อมีการดาวน์โหลดพร้อมกันระบบก็มีปัญหาบ้างก็ต้องค่อยๆปรับ อีกเรื่องคือความคล่องในการใช้งาน เนื่องจากแต่ละคนมีขีดจำกัดในการใช้งานแตกต่างกัน อายุก็เป็นผลต่อการใช้งาน ยาก ง่าย แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้มองว่าเป็นเรื่องท้าทาย ทำให้รู้ว่ามีความพร้อมหรือไม่ในการใช้เทคโนโลยี ในส่วนของการประชุมคณะกรรมการบริษัทก็เช่นกันจะเกิดขึ้นคือการประชุมทางไกล ซึ่งต้องดูข้อกฎหมายว่าสามารถทำได้ ก็ต้องเตรียมตัวทั้งระบบจริง และระบบแบ็กอัป ซึ่งเป็นระบบของเอกชนที่รองรับอยู่

“สิ่งที่สำคัญของการใช้เทคโนโลยีคือต้องออกแบบให้ใช้งานง่าย เพราะการไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีจะหมดไปหากมีการพัฒนาให้มีการใช้งานง่าย หากมีการปรับการใช้งานผิดพลาดก็จะน้อยลงซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมกันพัฒนาต่อไป”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์นี้เบาบางลง เชื่อว่าการทำงานของประชาชนจะเปลี่ยนไป การขับเคลื่อนองค์กรด้วยอีบิสิเนสจะมีมากขึ้น เมื่อมีความเคยชินจะรู้ว่ามีความสะดวกสบาย ซึ่งขณะนี้คนเริ่มมีการใช้แอปพลิเคชันในการจ่ายเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการจับเงินสด รวมถึงคนมีอายุด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทางการตลาดในอนาคตอย่างแน่นอน อีกประการคือ คนจะเริ่มเลือกเก็บเฉพาะของที่จำเป็นต่อชีวิต สิ่งไม่จำเป็นจะเลิกสะสม ตลอดจนเรื่องการพบปะสังสรรค์กันจะเลิกการใช้แก้วร่วมกัน

พ.อ.สรรพชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทเป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านโทรคมนาคมให้กับภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมามีการขอใช้บริการกันมาอยู่แล้ว และจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริษัทจะมีการขยายความจุเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้วย และ บริษัทก็มีอุปกรณ์ที่รองรับตามพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล อยู่แล้ว เพราะอุปกรณ์ทุกอย่างอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด นอกจากนี้บริษัทจะมองถึงการทำงานร่วมกับฝ่ายไอทีของแต่ละกระทรวง เพื่อวางระบบให้และสอนการทำงานในครั้งเดียวให้ทำงานได้ทันที เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ว่าทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์แบบนี้ต้องทำระบบให้ทุกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการทำ แต่จำเป็นต้องทำ รวมถึงระบบที่รองรับในสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีการรวมข้อมูลเข้าด้วยกันเพื่อให้มีช่องทางกลางในการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ ซึ่งปัจจุบันทุกคนต่างมีแอปพลิเคชันในการช่วยกันรายงาน ทำให้บางครั้งข้อมูลไม่เรียลไทม์ ทำให้สังคมเกิดความสับสน ซึ่งอนาคตต้องมีการหารือกันว่าบริษัทจะช่วยสร้างโครงสร้างด้านโทรคมนาคมอย่างไรในการช่วยให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุดไม่ใช่เทคโนโลยี แต่คนที่ทำได้คือคน ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้คนทำงานง่ายขึ้น ดังนั้นคนทุกคนต้องช่วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น