การนำพาคนไทยให้พร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ทุกคนก้าวไปพร้อมกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นเหตุผลสำคัญให้ 'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เร่งขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งในเรื่องของการมอบนโยบายในการสร้างบริการดิจิทัลให้ประชาชนและที่สำคัญคือการผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างเทคโนโลยี 5G
ทันทีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกระทรวงดีอีเอส พล.อ.ประวิตร ก็ไม่รอช้าในการมอบนโยบาย 4 ด้าน ให้กับกระทรวงเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2562 ประกอบด้วย 1. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มรายได้ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร คนในพื้นที่ห่างไกล มีการนำ e-Commerce เข้ามาสนับสนุน2. วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ทันสมัย ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเร่งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ ให้บริการสาธารณสุขและการศึกษาทางไกลกับประชาชน
3. เตรียมคนไทยให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในระบบดิจิทัล ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สร้างความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รู้เท่าทันภัยออนไลน์และ 4. พัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมดิจิทัล รวมทั้งดึงดูดการลงทุนด้านดิจิทัลโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเร่งส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
***ให้คำมั่นรัฐหนุน 5G
ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างเทคโนโลยี 5G จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 'พล.อ.ประวิตร' ยังเดินหน้าสนับสนุนและผลักดัน พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ที่ยังลังเลอยู่ว่าการประมูลคลื่น 5G จะสร้างรายได้คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ และเร็วเกินไปที่ประเทศไทยจะลงทุน 5Gในตอนนี้หรือไม่
แต่จากเวที สัมมนา 'โรดแมป 5 จี ดันไทยนำอาเซียน' เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา เป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนเต็มที่ในการทำให้ 5G เกิดเป็นรูปธรรมเชิงพาณิชย์ สามารถต่อยอดบริการและใช้งานได้จริงในเศรษฐกิจระดับมหภาค โดยพล.อ.ประวิตร กล่าวว่า 'ผมในนามของรัฐบาล รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นภาพความร่วมมือร่วมใจอย่างเข้มแข็ง ของกระทรวงดีอีเอสและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคประชาชน ที่มีความตื่นตัวซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่มีพลังในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ทำให้รัฐบาลมีความมั่นใจว่า 5G จะเกิดขึ้นในปี 2563 ได้อย่างแน่นอน'
เขากล่าวว่า ในโลกปัจจุบัน ภาคการเงิน การธนาคาร การผลิต การเกษตร โลจิสติกส์ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้หลอมรวมไปสู่ยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมากขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยี 5G จึงถือเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญของโลก
นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5G ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทางสังคมช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษา การแพทย์สาธารณสุข และการยกระดับสวัสดิการทางสังคม โดยเทคโนโลยี 5G จะเชื่อมประสานระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทอย่างไร้พรมแดน ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการเข้าถึงทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลผ่านทางไกล เท่ากับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง
ดังนั้น รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อวางรากฐาน ต่อยอด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G มุ่งสู่การพลิกโฉมหน้าประเทศไทย ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคการเกษตรหรือภาคสาธารณสุข ทั้งนี้รัฐบาลได้เน้นเป็นสำคัญว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
คำกล่าวดังกล่าว เป็นสิ่งที่พล.อ.ประวิตร มั่นใจว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างแน่นอน ขอให้เอกชนมั่นใจ เพราะในรายชื่อของการเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาตินั้น มีพล.อ.ประวิตร นั่งเป็นรองประธาน
ที่สำคัญ พล.อ.ประวิตร ยังนั่งเป็นประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เมื่อการประชุมครั้งล่าสุด ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2562 ที่ห้องประชุมสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนของกระทรวงต่าง ๆ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ และปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ
โดยบอร์ดได้เห็นชอบแนวทางการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อน 5G ซึ่งมีแนวทางดำเนินงานสำหรับประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเตรียมการ จัดทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ การกำกับดูแล การกำหนดมาตรฐาน และแนวทางบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน 2.ระยะเปลี่ยนผ่าน 4G สู่ 5G ดำเนินการจัดสรรคลื่นฯ การทดสอบการวางโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมและมีเสถียรภาพ การส่งเสริมการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม วางมาตรการกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคและเตรียมด้าน Cyber Security และ 3.ระยะเปิดให้บริการโครงข่ายเชิงพาณิชย์ กำหนดนโยบายการจัดสรรและขยายคลื่นความถี่ให้สามารถใช้กับ 5G
การเดินหน้าผลักดันสนับสนุน 5Gที่ชัดเจนจากรัฐบาล ทำให้เอกชนมีความมั่นใจในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 5G ว่ารัฐบาลจริงจังในการลงทุนโครงการต่างๆด้วยการใช้เทคโนโลยี 5G อย่างแน่นอน แม้ว่าคณะกรรมการ 5G แห่งชาติ จะยังไม่มีการแต่งตั้งในขณะนี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดความสับสนว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเข้ามาก้าวก่ายเรื่องการประมูลคลื่น ดังนั้น พล.อ.ประวิตร จึงให้คำมั่นว่า เมื่อประมูลเสร็จ คณะกรรมการจะเกิดขึ้นทันที เพื่อให้ผู้ชนะการประมูลสามารถลงทุนเครือข่ายได้ทันทีภายในต้นเดือน มี.ค. 2563
***โอเปอเรเตอร์ขานรับประมูล 5G
การขับเคลื่อนนโยบาย 5G ของพล.อ.ประวิตร จึงกลายเป็นที่มาให้เอกชน 5 ราย ทั้ง 3 เอกชนเจ้าเดิมที่ตอนแรกยังมีทีท่าไม่มั่นใจในการเข้าร่วมประมูล ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ,บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด รวมถึง 2 รัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศอย่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ทำให้การประมูล 5G ครั้งนี้ เป็นการประมูลครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีผู้เข้าร่วมประมูลถึง 5 ราย
ที่สำคัญเพื่อเป็นการตอกย้ำว่า รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและพร้อมสนับสนุนให้เกิด 5G อย่างแท้จริง เป็นรูปธรรม พล.อ.ประวิตร ยังเดินทางมายังกสทช.พร้อมด้วยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส และคณะทำงาน เข้ามาหารือเรื่องการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ร่วมกัน ที่ กสทช. เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2563 เป็นครั้งแรก โดยย้ำว่า โครงการจัดประมูลคลื่น 5G นอกจากจะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจอย่างมากแล้ว สิ่งที่รัฐบาลมีความกังวลและห่วงใยมากที่สุดคือ นั่นคือจะนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้งานต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้โดยเร็วที่สุดได้เมื่อใด
รัฐบาลมีความมุ่งหวังว่า กสทช. ภาคเอกชน จะช่วยกันผลักดันให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี 5G โดยเร็ว โดยรัฐบาลเองพร้อมให้การสนับสนุนให้ กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการดำเนินการให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี 5G อย่างเต็มที่
'หลังจากที่กสทช.จัดประมูลคลื่น 5G วันที่ 16 ก.พ. 2563 เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติในทุกภาคส่วนทันทีเพื่อให้การต่อยอด 5G ในทุกภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด โดยคณะกรรมการชุดนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลคลื่นแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมาต้องขอชมการทำงานของกสทช.ว่า เป็นองค์กรที่จัดการประมูลคลื่นให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น'
***กรรมการ 5G แห่งชาติเร่งต่อยอดทุกอุตสาหกรรม
รัฐบาลต้องการเห็นการใช้งานเทคโนโลยี 5G เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านที่สำคัญอย่างยั่งยืน อาทิ ภาคสาธารณสุข รัฐบาลอยากให้เกิดระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) โดยเฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ในการรักษาทางไกลด้วยเทคโนโลยี 5G สำหรับ 4 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดัน โรคตา และผิวหนัง ประชาชนสามารถรับการวินิจฉัยโรคและขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าเดินทาง ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการทางการแพทย์
สำหรับภาคการเกษตร รัฐบาลต้องการให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง (smart farming) ในการวางแผนการผลิตและบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ภาคการศึกษา รัฐบาลส่งเสริมให้มีการยกระดับการศึกษา มาโดยตลอด และหวังว่า 5G จะเกิดประโยชน์ในการส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานสูงจากผู้เชี่ยวชาญและสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับอย่างทั่วกัน
ในส่วนของด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องการให้มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ โอกาส และรายได้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน การส่งเสริมให้มีสตาร์ทอัปในท้องถิ่นเพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพของชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มจากการพัฒนาจากชุมชนท้องถิ่นไปสู่ระดับชาติ โดยการพัฒนาจากฐานของศักยภาพของท้องถิ่น ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคชนบท ไปสู่ระดับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
แต่ทั้งนี้การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานของประชาชน อันเป็นรากฐานที่แข็งแรงของเศรษฐกิจไทยในอนาคตด้วย
การสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนเข้าร่วมประมูล 5G ถึง 5 ราย เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า การทำงานของ พล.อ.ประวิตร สามารถสร้างความมั่นใจให้กับเอกชนได้ว่า รัฐบาลมีความตั้งใจในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ยุค 5G อย่างแท้จริง