สารพัดปัญหา ไม่จบไม่สิ้น 'พุทธิพงษ์' ไม่สน ข้ออ้างทีโอที ขีดเส้นภายใน 3 เดือนต้องได้ข้อสรุปเพิ่มความเร็วฟรีไวไฟโครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน หากทำไม่ได้จะเร่งเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมโครงการ หวังเดินหน้าให้ประชาชนใช้งานเร็วที่สุด พร้อมตั้งคณะทำงานสอบความผิดพลาดโครงการเช่าใช้เน็ตสาธารณะทีโอที ที่ทำให้ สดช. หลังพบสอดไส้สัญญา 2 ฉบับ ไม่ตรงกับสัญญาที่อัยการสั่ง เป็นเหตุให้กระทรวงฯไม่สามารถตรวจรับงานได้
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากปัญหาการใช้งานฟรีไวไฟตามจุดให้บริการหมู่บ้านละ 1 แห่ง ในโครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ที่มีการใช้งานได้ไม่เพียงพอ หรือ บางพื้นที่ไม่สามารถใช้งานได้นั้น ตนได้เร่งให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบโครงการนี้หาข้อสรุปในการเพิ่มความเร็วของไวไฟ จากเดิมอยู่ที่ 30 /10 Mbps ต่อจุด เป็น 200 /100 Mbps ภายใน 3 เดือนนี้ ซึ่งไม่ควรมีการคิดค่าบำรุงรักษาเพิ่มเติมตามที่ทีโอทีเสนอ หากทำไม่ได้ กระทรวงฯจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมประมูลโครงการนี้ไปทำแทน
ก่อนหน้านี้กระทรวงฯมีแนวคิดให้ทีโอทีติดตั้งไวไฟเพิ่ม 10,000 จุด เพื่อแก้ปัญาในบางพื้นที่ที่ไวไฟไม่สามารถรองรับปริมาณการใช้งานได้เต็มที่ แต่ที่ผ่านมาเห็นผลงานทีโอทีจากการทำโครงการเน็ตประชารัฐทั้งที่ทำกับกระทรวงดีอีเอสเองและที่ทำโครงการเน็ตชายขอบกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีปัญหาอยู่ จึงมิอาจวางใจ้ให้ทีโอทีดำเนินโครงการต่อได้ ขณะที่มีบางฝ่ายเปิดเผยข้อมูลว่าโครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ที่บอกว่าประหยัดงบประมาณรัฐที่ให้มา 13,000 ล้านบาท แต่ใช้เพียง 10,000 ล้านบาทนั้น ก็เป็นตัวเลขที่เกินจริง ทั้งๆที่ต้นทุนอยู่ที่ 7,000 ล้านบาทเท่านั้น
'นอกจากนี้ ตนเองยังได้สั่งการให้ นายภูเวียง ประคำมินทร์ รองปลัดกระทรวงดีอีเอส เป็นประธานในการตรวสอบการทำโครงการเน็ตชายขอบระหว่างทีโอทีและกสทช.ที่มีปัญหาไม่สามารถตรวจรับงานได้ อย่างใกล้ชิด'
ขณะเดียวกันยังได้ตั้งคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่ ทีโอที ทำสัญญากับกระทรวงดีอีเอส ในการทำบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความเร็ว 100 /50 Mbps จำนวน 10,000 จุด ตามศูนย์ดิจิทัลชุมชน ด้วยการเช่าใช้บริการแห่งละ 3,500 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน ในโครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน งบประมาณ 2 ล้านบาท ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) แต่ไม่สามารถเซ็นการจ่ายเงินได้ เนื่องจากพบว่ามีสัญญาอยู่ 2 ฉบับที่ไม่เหมือนกัน
สัญญาแรกที่ให้ทีโอทีดำเนินการคือมีการกำหนดเสปกของอุปกรณ์ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ทีโอที ขอเปลี่ยนสเปกเป็นอีกแบบหนึ่งที่ไม่ตรงกับสัญญาแต่อ้างว่าเป็นสเปกที่ดีกว่า กระทรวงฯจึงไม่ควรคัดค้านในเมื่อได้ของดีกว่า แพงกว่า ในงบประมาณเดิม ทำไมถึงไม่เอา ทำให้กระทรวงฯต้องนำสัญญาการแก้ไขสเปกตามที่ทีโอทีเสนอไปให้อัยการสูงสุดตีความและเห็นชอบว่าทำได้ ส่งกลับให้สดช. ว่าจ้างทีโอทีดำเนินการได้
ทว่า เมื่อดำเนินการไปแล้ว กลับพบว่ามีสัญญาอีกฉบับหนึ่งที่มีการแก้ไขระยะเวลาโครงการไม่ตรงกับสัญญาที่ส่งให้อัยการสูงสุดตีความ สอดไส้เข้ามาให้กระทรวงฯเซ็นรับงาน เพื่อให้ตรงกับระยะเวลาที่ทีโอทีดำเนินการไปก่อนหน้าที่จะมีการเซ็นสัญญา โดยมีลายเซ็นของผู้บริหาร สดช.ในยุคนั้นคือ นางปิยะนุช วุฒิสอน เลขาธิการสดช.อยู่ด้วย ทำให้กระทรวงฯไม่สามารถเซ็นรับงานได้จนกว่าจะตรวจสอบหาความจริงก่อน หากตนเองไม่ตั้งกรรมการสอบ ตนเองจะมีความผิดตามมาตรา 157 ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่