คนไทยฮิตดูไลฟ์สดขายของ "เอ็มเซเว่นทีน" (M17) คาดตลาดการค้าผ่านการไลฟ์สดหรือไลฟ์คอมเมิร์ซ (Live-Commerce) ไทยจะครองสัดส่วนราว 10% ของตลาดการค้าบนอีมาร์เก็ตเพลสและโซเชียลมีเดียรวมกัน เบ็ดเสร็จเชื่อปีนี้มูลค่ารวมทะลุ 236,000 ล้านบาท มีโอกาสขยายตัวเกิน 2 เท่าในปีหน้า
นางนิธินันท์ อัศวทร Thailand Country Head บริษัท เอ็มเซเว่นทีน เซอร์วิสเซส ไทยแลนด์ กล่าวว่าโอกาสงามที่รอ ทำให้ M17 ปักธงเปิดตลาดไลฟ์คอมเมิร์ซในไทย หลังจากทำสถิติเป็นผู้ให้บริการ Live Streaming รายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ขยายฐานหลังจากต้นสังกัด M17 Group ทำรายได้รวมมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2019 ใช้เวลา 4 ปีก่อตั้งธุรกิจที่ไต้หวันปี 2015 จนมีศิลปินและ influencer ระดับท็อปในเอเชีย 3 หมื่นราย ปัจจุบันมีสาขาในญี่ปุ่น ฮ่องกง อเมริกา สิงคโปร์ ไทย และดูไบ
"จุดยืนของบริษัทคือการเป็น one stop service ซึ่งรองรับทั้งบริษัททั้งใหญ่และขนาดเล็กมุ่งเน้นตอบปัญหาทั้งด้านไลฟ์สดและโลจิสติกส์ บางร้านไม่สะดวกไลฟ์เอง เราจะมีคนไปไลฟ์ให้ และไม่ใช่ไลฟ์แบบน่ารัก แต่เป็นไลฟ์ที่ขายของได้"
นายอรรถพล สินฉลอง Marketing & Business Development Director บริษัท เอ็มเซเว่นทีน เซอร์วิสเซส ไทยแลนด์ กล่าวว่าเหตุผลที่บริษัทมองประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลัก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศขนาดใหญ่เหมือนที่ M17 บุกตลาดญี่ปุ่นมาแล้ว ขณะเดียวกันไทยก็ถูกมองว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจมากในธุรกิจวิดีโอ เนื่องจากประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้งานเติบโตมากทั้งด้านการใช้อินเตอร์เน็ตและประชากร บนปัจจัยเสริมด้าน 4G และ wifi ทำให้การเข้าถึงแอปเกิดขึ้นได้เร็ว ประกอบกับคนไทยมีนิสัยอยากรู้อยากลอง เปิดรับแอปใหม่จนทำให้มียอดวิวสูงบน Facebook และ YouTube
M17 มั่นใจว่าไลฟ์คอมเมิร์ซจะเป็นเทรนด์แรงในปี 2020 เห็นได้ชัดจากรายใหญ่อย่าง Taobao สามารถทำยอดขายเกิน 50% จากการไลฟ์สดเพื่อขายสินค้า ยังมี "บังซัน" หนุ่มปักษ์ใต้จากไทยที่สามารถไลฟ์สดจนขายสินค้าอาหารทะเลได้มากกว่า 20 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าไลฟ์คอมเมิร์ซไม่ใช่วิดีโอที่เน้นชมตลก แต่สามารถทำเงินได้จริง
บริษัทมองว่า 3 ปัจจัยที่ทำให้ไลฟ์คอมเมิร์ซไม่เติบโตเต็มที่ในประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมาคือ 1. การเป็นตลาด social commerce มาก่อนทำให้หลายบริษัทต้องเทเงินทุนจ้างแอดมินจนไม่มีทรัพยากรขยายไปทำไลฟ์คอมเมิร์ซ 2. หลายบริษัทยัง "ไลฟ์ไม่เป็น" และส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการที่ไม่อยากออกหน้ากล้อง ทั้งที่ในจีนและไต้หวันมีบริการไลฟ์ถึงร้าน ทำให้ตลาดเติบโต 3. การรับโอนเงินเองทำให้มีปัญหาสลิปปลอม และความล่าช้าในการคอนเฟิร์มสินค้า
"บริษัทจึงต้องการแก้ไขปัญหา 3 เรื่องนี้ด้วยการเปิดบริการ 2 แอปพลิเคชันหลัก ได้แก่ Hands Up และนักไลฟ์ (NakLive) จุดยืนของ Hands Up คือการเป็นศูนย์กลางระหว่างนักไลฟ์ นักช็อป และร้านค้า บริษัทจะจัดหาทีมงานไปไลฟ์ให้ที่ร้าน ขณะเดียวกันก็เพิ่มความสะดวกให้นักช้อปเพราะไม่ต้องรอตอบการแชท โดยสามารถพิมพ์แฮชแท็กระหว่างดูไลฟ์แล้วไปที่หน้าจ่ายเงินค่าสินค้าได้เลย"
ทะลุ 2 แสนล้านบาท
ในภาพรวม ผู้บริหารเชื่อว่ามูลค่าตลาดไลฟ์คอมเมิร์ซของไทยในปีนี้จะคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ส่วน e marketplace และ social commerce ซึ่งรวมเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของตลาดรวมออนไลน์มูลค่า 3 ล้านล้านบาท เมื่อคำนวณมาแล้วพบว่าตลาดไลฟ์คอมเมิร์ซไทยในปีนี้มีโอกาสขยายตัวสูงถึง 236,000 ล้านบาท และอาจเติบโตอีก 2 เท่าในปีหน้า เนื่องจากตลาดไทยยังเล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดจีนและไต้หวัน
ปัจจัยเสริมให้ตลาดไลฟ์คอมเมิร์ซไทยขยายตัว ประกอบด้วย 2 ส่วน คือตลาดยังใหม่ มีโอกาสสูงที่จะขยายตัว และการที่หลายบริษัทต้องปรับตัวด้านบุคลากรเพื่อตอบกระแสไลฟ์คอมเมิร์ซ จุดนี้เห็นได้ชัดเมื่อบางบริษัทเกิดการถกเถียงกันในหน่วยงาน ว่าไลฟ์คอมเมิร์ซไม่ใช่ส่วนงาน e commerce ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่งานของฝ่ายขาย รวมถึงไม่ใช่งานของฝ่ายการตลาด
"การเกิดขึ้นของบริษัทอย่าง M17 จึงเป็นทางออกที่หลายบริษัทรู้สึกดีว่ามีช่องทางให้ดำเนินการแล้ว"
ในเฟสถัดไป M17 วางแผนให้นักไลฟ์เซ็นสัญญากับบริษัท โดยปัจจุบัน บริษัทไม่เพียงทำรายได้จากการให้บริการไลฟ์ แต่ยังมีค่าบริการซอฟต์แวร์หลังร้าน และค่าธรรมเนียมต่อทรานแซคชั่น ทั้งหมดนี้บริษัทยืนยันว่า M17 เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในไทย มีการจ่ายภาษีส่วนของรายได้บริษัท เบื้องต้นตั้งเป้าดึงร้านค้าเป็นลูกค้าให้ได้ 3,000 รายในปีแรก บนจำนวนนักไลฟ์ในไทย 400 ราย ที่จะเพิ่มจากหลัก 100 คนในมือขณะนี้
ตัวเลข 3,000 ร้านค้าไทยถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับฐานลูกค้าที่ M17 มีในไต้หวันราว 7,000 ร้านค้า จุดนี้ผู้บริหารเชื่อว่าไทยเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงเนื่องจากทุกฝ่ายกำลังผลักดันไลฟ์คอมเมิร์ซ โดยเฉพาะผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ทั้ง Lazada และ Shopee ที่ต่างก็สนับสนุนการไลฟ์ เชื่อว่าโลกจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ด้านไลฟ์คอมเมิร์ซในปีนี้
ถัดจากประเทศไทย M17 มีแผนจะเปิดตัวที่เวียดนามและอินโดนีเซีย
"นักไลฟ์" อาชีพใหม่?
สิ่งที่น่าจับตามองนับจากนี้คือการเกิดขึ้นของอาชีพนักไลฟ์ ซึ่งมีค่าตัวการไลฟ์เป็นชั่วโมง ผู้บริหารระบุว่าไลฟ์คอมเมิร์ซจะแข่งขันกันที่จำนวนฐานผู้ติดตามของนักไลฟ์ รวมถึงทักษะการขายซึ่งไม่เน้นความสวยหล่อแต่เน้นความสนุกเฮฮา
สินค้าหลักที่ควรไลฟ์นั้นกว้างมาก ผู้บริหารยกตัวอย่างจีนที่มีการไลฟ์เพื่อขายสินค้าราคาแพงอย่างรถเบนซ์จนถึงสินค้าราคาถูกระดับ 10-20 บาท จุดนี้ยอมรับว่าบางครั้งผู้บริโภคดูแล้วซื้อไม่รู้ตัวบางครั้งได้แรงบันดาลใจจากการเล่นเกมหรือการดูไลฟ์เพลิน
ในมุมของบริษัท M17 ไม่มองอีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada และ Shopee รวมถึง Taobao เป็นคู่แข่ง แต่บริษัทมองว่าร้านค้าเอสเอ็มอีไทยกำลังจะมีคู่แข่งสำคัญบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากสินค้าบน 2 แพลตฟอร์มนี้กำลังกลายเป็นกองทัพสินค้าจีน และบริษัทจีนกำลังเริ่มจ้างคนไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้จนลูกค้าคิดว่าเป็นบริษัทไทย ตรงนี้หากเอสเอ็มอีไทยไม่ลุกขึ้นมาปรับกลยุทธ์ให้สามารถทำไลฟ์หรือมีตัวตนบนโซเชียลที่แข็งแกร่ง ก็อาจถูกบริษัทจีนตีตลาดได้
M17 ยกตัวอย่างว่าไลฟ์คอมเมิร์ซทำให้อัตราการขายสำเร็จมีโอกาสเพิ่มขึ้นสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เบื้องต้น บริษัทมีนโยบายไม่รับร้านที่จำหน่ายสินค้าปลอม บนความท้าทายหลักคือการวางกลยุทธ์ให้ร้านค้าตามเป้าหมายการเป็น one stop service ซึ่งบริษัทยังต้องให้ความรู้กับร้าน ว่าไม่สามารถนำสินค้ามาขายทั้งหมดในการไลฟ์ครั้งเดียว
จากที่เพิ่งเปิดตัว 2 สัปดาห์ในไทย M17 มีร้านค้าเป็นลูกค้าไทยมากกว่า 20 รายประกอบด้วยบริษัททั้งขนาดใหญ่และเล็ก สำหรับประเทศไทย บริษัทจะโฟกัสที่ธุรกิจ live streaming และการทำ agency ผลิตเนื้อหาเอ็นเตอร์เทนเนท์ เพื่อขยายธุรกิจตามบริษัทแม่ ซึ่งสามารถส่งแอปพลิเคชัน 17LiveAF เป็นแอปฮิตอันดับ 4 ของโลกรองจาก Tiktok
ผู้บริหาร M17 เชื่อว่าไลฟ์คอมเมิร์ซจะยังไม่เข้าสู่ภาวะฟองสบู่ง่ายๆ เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้นและตลาดจีนเริ่มขยายตัวมาพักนึงแล้วโดยยังไม่มีสัญญาณให้เห็นว่าจะล่มสลาย ทั้งที่ชาวจีนใช้เวลาบนโทรศัพท์มือถือราว 5 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ไทยใช้เวลาบนมือถือมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีประชาชนน้อยกว่าแต่ก็เห็นโอกาสบนเทรนด์ที่กำลังมา ทำให้บริษัทวางเป้าหมายพัฒนาให้ระบบสามารถทำงานได้ง่ายที่สุด.