xs
xsm
sm
md
lg

กฟน.จับมือ กิจการร่วมค้าฟอร์ทและยิบอินซอย เปลี่ยนมิเตอร์อัจฉริยะมูลค่ากว่าพันล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กิจการร่วมค้าฟอร์ทและยิบอินซอย ร่วมกับ กฟน. ลงนามสัญญา “โครงการ Smart Metro Grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งอนาคตสำหรับเมืองมหานคร” มูลค่ากว่า 1,149 ล้านบาท หวังนำข้อมูลวิเคราะห์และวางแผนการบริการได้แบบเรียลไทม์ นำร่อง เปลี่ยนมิเตอร์แบบอัจฉริยะเฟสแรก 33,265 ชุด คาดแล้วเสร็จภายในปี2565

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า กฟน.ได้ลงนามสัญญาจัดทำ “โครงการ Smart Metro Grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งอนาคตสำหรับเมืองมหานคร” กับกิจการร่วมค้าฟอร์ทและยิบอินซอย เพื่อเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเก่าให้เป็นมิเตอร์แบบอัจฉริยะ หรือ smart meter เพื่อทำหน้าที่รับ-ส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์จากผู้ใช้งานไปยัง กฟน. แบบเรียลไทม์ ภายใต้งบประมาณจำนวนกว่า 1,149 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดย กฟน.ได้นำร่องใช้ระบบ smart meter ไว้ที่ 33,265 ชุด ซึ่งกระจายไปยังทั้งกลุ่มผู้ใช้งานตามบ้านที่อยู่อาศัย ภาคอุตสาหกรรม และ คอนโดมิเนียม

โครงการนี้นอกจากจะช่วยให้ทราบถึงพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า และเก็บข้อมูลพร้อมบันทึกการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก smart meter ทั้งปัจจุบันและย้อนหลังเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบแล้ว ยังสามารถหาสาเหตุของปัญหาเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงยังตรวจสอบการลักลอบใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ข้อมูลที่ละเอียดและเที่ยงตรงจาก smart meter จะถูกนำมาวิเคราะห์ว่าระบบไฟฟ้าอาจจะมีปัญหาที่พื้นที่ใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถวางแผนและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงนำมาใช้ในการวางแผนระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับระบบไฟฟ้าในอนาคตที่มีความซับซ้อน และสอดรับกับแผนพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ ของรัฐบาล

ด้านนายพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FORTH) กล่าวว่า กฟน.ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าของฟอร์ทมาโดยตลอด เมื่อมีการปรับเปลี่ยนมิเตอร์แบบใหม่บริษัทก็มีความพร้อมในการจัดหาโซลูชันการทำงานมาให้ด้วยโดยการผสานความเชี่ยวชาญกับบริษัท ยิบอินซอย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่วางระบบไอทีให้กับกฟน.มาโดยตลอด เช่นกัน กิจการร่วมค้าฟอร์ทและยิบอินซอย จึงร่วมลงทุนเป็นกิจการร่วมการค้าในอัตรา 50:50ในการต่อยอดโครงการนี้

ขณะที่นางมรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยิบอินซอย กล่าวว่า การสื่อสารข้อมูลแบบสองทางทั้งรับและส่ง ทำให้สามารถตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้าและความต้องการใช้ได้หลากหลาย อาทิ แบ่งตามกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มลูกค้าขนาดเล็ก เช่น บ้านที่อยู่อาศัย ธุรกิจขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ระดับโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งการใช้ไฟฟ้าเป็นช่วงเวลา ในแต่ละวันอีกด้วย จุดนี้เองจะทำให้ กฟน. ทราบถึงพฤติกรรมความต้องการใช้ไฟฟ้าและจัดหาพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจุดจ่ายไฟฟ้าที่สำคัญ เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งให้บริการตามถนนหนทางทั่วไป เป็นต้น รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถต่อยอดระบบไปเป็นบริการอื่นๆที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนต่อไปในอนาคต


ขณะที่นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออราเคิล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ออราเคิลเป็นผู้จัดหา Oracle Utility Software Solution เพื่อการทำงานแบบครบวงจรตามข้อกำหนดของโครงการ กฟน.ตั้งแต่ระบบฮาร์ดแวร์หลังบ้าน รวมถึงการเก็บข้อมูล ประมวลผล วิเคราะห์และคาดการณ์ข้อมูลด้านการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้งานเพื่อให้กฟน.นำไปวางแผนทั้งด้านการบริหารจัดการ การบริการลูกค้า ตลอดจนการเป็นแต้มต่อในการแข่งขันในอนาคตด้วย ซึ่งทั้งฟอร์ทและยิบอินซอยต่างเป็นพันธมิตรทางการค้ากับออราเคิลอยู่แล้ว ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน

สำหรับโซลูชันเฉพาะทางที่ออราเคิลทำในโครงการนี้ เริ่มตั้งแต่ ระบบ Oracle SUN H/W มีความสามารถในการเก็บข้อมูลและความเสถียรสูง, ซอฟต์แวร์สื่อกลางออราเคิล (Oracle Middleware) ในการรวบรวมข้อมูลที่มาจากแหล่งต่างๆที่แตกต่างกันไว้ในที่เดียว, ฐานข้อมูลออราเคิล (Oracle Database) รวมถึง การวิเคราะห์สาธารณูปโภค (Utilities Analytic) ,ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสาธารณูปโภค (Utilities Network Management System : OMS) และ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการตรวจวัดสาธารณูปโภค (Utilities Meter Data Management System : MDMS) เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ ทำให้ในอนาคตผู้ใช้งานก็จะสามารถดูข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบมิเตอร์อัจฉริยะของกฟน.ยังรองรับการแข่งขันในอนาคตด้วย โดยเฉพาะโครงการอีอีซี ที่จะมีการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการไฟฟ้าสามารถเข้าไปให้บริการในพื้นที่ดังกล่าวได้ หาก กฟน. มีระบบมิเตอร์อัจฉริยะก็จะมีแต้มต่อในการแข่งขัน หรือ หากในอนคตประเทศไทยมีแนวคิดเหมือนประเทศสิงคโปร์ เช่น หนึ่งมิเตอร์ ย้ายค่ายได้ คือ มิเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว สามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ ก็จะยิ่งทำให้ผู้ใช้งานเปลี่ยนผู้บริการได้ง่ายขึ้น ไม่ผูกขาดเหมือนก่อน หรือแม้แต่เทรนด์การใช้โซลาเซลทดแทนไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้น กฟน.ก็จะสามารถนำข้อมูลที่เก็บได้ วิเคราะห์และคาดการณ์เพื่อวางแผนการลงทุนในอนาคตได้ เพื่อให้ลงทุนเฉพาะพื้นที่ที่มีการใช้งานสูง และสามารถวางแผนการซื้อไฟฟ้าจำนวนมากได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น