xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจแย่ ไอทีช่วยได้? (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย
ไม่ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยแค่ไหน แต่ผู้บริหารออราเคิล (Oracle) มั่นใจว่าเทคโนโลยีไอทีทั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ด้วยเครื่อง (ML) จะช่วยได้ โดยเฉพาะโอกาสใหม่ที่ธุรกิจจะเห็นได้เร็วกว่ายุคก่อนผ่านระบบวิเคราะห์ข้อมูล กลายเป็นระบบเศรษฐกิจแบบอิงประสบการณ์หรือ Experience Ecosystem ที่ธุรกิจจะแข่งขันได้ดีขึ้นเพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้รับการดูแลดีเท่าที่ควร

ทุกวันนี้ Oracle ย้ำว่า Experience Ecosystem เกิดแล้ว และบริษัทไม่ต้องลงทุนซื้อระบบราคาเกินล้าน แต่สามารถจ่ายเงินวิเคราะห์ข้อมูลได้หลักหมื่นบาทต่อเดือน และหยุดค่าใช้จ่ายได้ทันทีที่ไม่ต้องการใช้งาน รวมถึงสามารถกลับมาจ่ายเงินอีกครั้งได้เมื่อต้องการวิเคราะห์ข้อมูลในยามจำเป็น

หนึ่งในหลายสิ่งที่ Oracle ทำเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในยุคเศรษฐกิจฝืด คือการจุดพลุบริการชื่อ "Always Free" ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 40 ปีของบริษัท ที่เปิดให้ลูกค้าสามารถขยับไปใช้ฐานข้อมูลอัตโนมัติได้แบบไม่จำกัดเวลา ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนผลักดันธุรกิจ Oracle ไทยแบบก้าวกระโดดในช่วงปีหน้า

***รัฐบาลใหม่ลงทุนคึกคัก

ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย มองสถานการณ์ลงทุนในประเทศไทยขณะนี้โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือภาครัฐซึ่งเห็นชัดว่าหลังจากมีรัฐบาลใหม่ โครงการใหญ่ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้นเดินได้เร็วกว่าเดิม ซึ่ง Oracle เองก็จะมีโครงการใหญ่กับภาครัฐที่สามารถประกาศได้ต้นปีหน้า

"วันนี้ผู้บริหารงานราชการเห็นความสำคัญให้หน่วยงานย่อยได้ใช้งาน Cloud ภายในองค์กร โดยสามารถใช้ได้เลยแบบไม่ต้องขอตามกระบวนการอนุมัติแล้ว ช่วงหลังปีใหม่ Oracle จะประกาศความร่วมมือกับภาครัฐ ในการส่งบุคลากรและผู้ใช้ภาครัฐมากกว่า 2,000 คน เข้าไปอธิบายวิธีการใช้ Cloud เพื่อให้บุคลากรรัฐสามารถใช้งาน AI และ ML บริหารงานบริการประชาชนได้ดีขึ้น ถือเป็นมิติใหม่ที่โครงการเดินได้เร็วกว่าเดิม"

ส่วนที่ 2 คือเอกชน ทวีศักดิ์มองว่าปัจจุบันองค์กรใหญ่มีงบเกินหมื่นล้านบาทในการปรับธุรกิจเพื่อรับยุคดิจิทัลหรือดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน และองค์กรระดับกลางที่ยังลังเลกับการลงทุน ก็จะเริ่มเห็นความคุ้มค่า ซึ่งแม้จะยังขาดบุคลากร แต่การมีเทคโนโลยีที่ไม่ต้องใช้คนก็สามารถทำให้เริ่มต้นดิจิทัลทรานฟอร์เมชันได้เร็วขึ้น



"เทคโนโลยีที่ Oracle มี ปัจจุบันถูกลดราคาลงเหลือเดือนละประมาณ 50,000 บาท ตกปีละราว 600,000 บาท ลดลงจากเดิมที่ธุรกิจต้องลงทุนเกิน 10 ล้านบาท ซึ่งหากองค์กรสามารถลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสการแข่งขันได้ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า"

ทวีศักดิ์มองว่า 5G ในเมืองไทยจะทำให้เกิดโอกาสการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยที่ผ่านมากลุ่มสถาบันการเงินยังคงลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือหน่วยงานรัฐและกลุ่มค้าปลีก อย่างไรก็ตามกลุ่มบริษัทโทรคมนาคมกลับมีการลงทุนที่เบาบางลง ซึ่งคาดว่าเมื่อ 5G มา การลงทุนในกลุ่มนี้จะคึกคักยิ่งกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร Oracle ชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ดีจนต้องรัดเข็มขัดนั้นเกิดขึ้นแล้วกับบางธุรกิจไทย จากเดิมองค์กรต้องเตรียมงบลงทุนหลักสิบล้าน และรู้สึกว่ายุ่งยากต้องเรียนรู้ แต่วันนี้มีฐานข้อมูลเทคโนโลยีอัจฉริยะ Autonomous Data Warehouse บน Cloud ที่ผู้ใช้จะสามารถคลิกเพื่อรับรายงานในรูปกราฟ แล้วรับผลวิเคราะห์ข้อมูลได้เลยโดยไม่ต้องรอแผนกไอที

"ถ้าไม่เอา AI เข้ามา ธุรกิจอาจจะสร้างประสบการณ์ใหม่ไม่ได้ และยิ่งในยุคที่มีสงครามการค้า เทคโนโลยีจะช่วยได้แน่นอน" ทวีศักดิ์ระบุ "การวิเคราะห์ข้อมูลนี้จะทำให้บริษัทเห็นพฤติกรรมลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่ได้ดูแลเป็นพิเศษ กลายเป็น Experience Ecosystem ที่ธุรกิจสามารถมองหาประสบการณ์ใหม่ ที่จะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ซึ่งไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ธุรกิจก็จะอยู่รอด หากธุรกิจคิดและใช้ความรู้สึกในมุมมองลูกค้าแล้วนำเทคโนโลยีมาจับ"

ทวีศักดิ์ยกตัวอย่างว่าการวิเคราะห์ข้อมูลบนคลาวด์ทำให้เกิดบริการใหม่ เช่น บริการประกันภัยรถยนต์ที่สามารถยกเลิกได้ในวันที่ไม่ได้ขับขี่ หรือธุรกิจสายการบินที่สามารถพยากรณ์ความเสี่ยงขาดทุนได้ในช่วงที่การท่องเที่ยวซบเซาลง ยังมีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เริ่มเห็นการเช่าซื้อ โดยขณะนี้เริ่มมีโปรแกรมจ่ายเงินค่าซื้อรถเฉพาะวันที่ใช้งาน เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งจะคุ้มค่าและปลอดภัยกว่า

"ลักษณะนี้คือ Experience Ecosystem ซึ่งเป็นกลไกที่จะทำให้ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจโลกที่ท้าทายมากขึ้น" ทวีศักดิ์อธิบาย "ธุรกิจอาจจะคิดโมเดลเหล่านี้เองได้ แต่จะเห็นได้เร็วขึ้นถ้าวิเคราะห์ข้อมูล"

ทวีศักดิ์ยอมรับว่าในต่างประเทศ Experience Ecosystem เกิดขึ้นโดยที่ยังมีบางกฎหมายจำกัดจนทำให้บริการขยายตัวไม่ได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย เช่น บริการเติมน้ำมันถึงบ้าน จะต้องมีถังดับเพลิงติดตามมาด้วย เบื้องต้นเชื่อว่า Experience Ecosystem ใช้เวลาพัฒนาไม่นานในแง่เทคโนโลยี แต่การบอกให้พนักงานปรับขั้นตอนการดำเนินงาน มักจะใช้เวลามากกว่า

"แต่ไม่ว่าอย่างไร ถ้าธุรกิจกำลังหนีตาย ยังไงก็ต้องมีบริการลักษณะนี้ออกมา"

***ปีหน้าขยาย Cloud

สำหรับปีหน้า Oracle ระบุว่าจะจัดตั้งศูนย์ข้อมูล Data Center Cloud มากขึ้นในปี 2020 เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีมากที่สุด 25 แห่ง แต่ CEO Oracle ประกาศว่าจากปัจจุบันที่มีคลาวด์โลเคชัน 16 แห่ง ปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 36 แห่ง โดยสิงคโปร์จะเป็นแห่งที่ 20 ที่ บริษัทจะเปิดตัวในปีหน้า

"สาเหตุที่ Oracle ยังไม่ลงทุนตั้ง Data Center ในไทย เป็นเพราะตลาดไทยยังเน้น Private Cloud ซึ่งระบบของบริษัทสามารถทำงานร่วมกับ Data Center ในต่างประเทศได้โดยไม่มีความหน่วง โดยก่อนหน้าที่จะมี Data Center ในสิงคโปร์ องค์กรไทยสามารถใช้ Public Cloud ของ Oracle โดยเชื่อมต่อจากญี่ปุ่นได้แบบไม่มีปัญหา"


ปัจจุบัน สัดส่วนลูกค้าไทยที่ใช้ Private Cloud กับ Oracle มีจำนวนราว 70% ขณะที่ 30% เป็น Public Cloud จุดนี้ผู้บริหารระบุว่านับในแง่จำนวนลูกค้า ไม่ใช่ปริมาณงานหรือเวิร์กโหลด โดยฐานลูกค้าราว 50% เป็นภาครัฐ

ทั้งนี้แผนการลงทุนในธุรกิจคลาวด์ของ Oracle ถูกประกาศในงาน Oracle Open World 2019 ซึ่งมีข่าวใหญ่คือการเปิดตัวระบบ Public Cloud รุ่นที่ 2 หรือ Gen 2 ที่สามารถรองรับระบบอัตโนมัติแบบไม่ต้องกลัวล่ม เพราะระบบสามารถพยากรณ์ความเสี่ยงล่วงหน้าได้ 2 ชั่วโมง และเมื่อเห็นพฤติกรรมน่าสงสัยก็จะสามารถปิดกั้นและเพิ่มทรัพยากรได้อัตโนมัติ

นอกจากระบบที่สามารถดักจับพฤติกรรมน่าสงสัยล่วงหน้าได้แบบไม่ต้องใช้แรงงานคน Oracle ยังเปิดตัวความร่วมมือกับคู่แข่งอย่าง Microsoft และ VMware ซึ่งทำให้ระบบ Azure และ VMware สามารถคุยกับแพลตฟอร์ม Oracle ได้ทันที

อีกโครงการสำคัญที่ถูกประกาศในงานนี้คือบริการ Always Free ซึ่งผู้บริหาร Oracle ประเทศไทยหวังให้คนไทยทุกคน ทั้งนักศึกษา องค์กรขนาดใดก็ได้ มาทดลองใช้ Autonomous Database ซึ่งสามารถทำแอปพลิเคชั่น และทดสอบกับฟังก์ชัน AI ได้เลย

"เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 40 ปีของบริษัท ครั้งนี้เราเปิดให้ใช้ฟรีตลอดไม่กำหนดระยะเวลา และถ้าต้องการเพิ่มขึ้นก็จะนับเป็นเครดิต ถือเป็นโครงการที่ Oracle ให้สิทธิพิเศษมูลค่าหลักแสน สูงกว่าคู่แข่งมากกว่า 2-3 เท่าตัว"


การให้สิทธิทดลองใช้ฟรีเช่นนี้ ถูกมองว่าเป็นความพยายามของ Oracle ที่ต้องดิ้นรนเพิ่มฐานลูกค้าที่เป็นองค์กรขนาดกลางและองค์กรเกิดใหม่ ซึ่งหนีไปใช้บริการที่มีภาพลักษณ์ราคาสบายกระเป๋ามากกว่า แม้ปัจจุบัน Oracle จะการันตีว่าตัวเองเติบโตมากกว่า 339% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยบอกว่าธุรกิจที่เติบโตส่วนใหญ่เป็น ERP Cloud ผลจากการซื้อบริษัท NetSuite ผู้ให้บริการ ERP Cloud กับองค์กร SMB ซึ่งทำให้องค์กรเล็กสามารถจ่ายเงินค่าระบบ ERP หลักหมื่นต่อเดือน ลดข้อจำกัดเรื่องการลงทุนซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์หลายล้านบาท

"เราตั้งใจทำ CSR เมื่อผลประกอบการดีขึ้นจึงอยากตอบแทนสังคม" ทวีศักดิ์กล่าว "สิ่งที่โครงการนี้ให้จะไม่ใช่แค่ดาต้าเบส แต่เป็นการให้ตัวประมวลผลด้วย เปรียบเทียบเท่ากับการให้เซิร์ฟเวอร์ ซึ่งถ้าจะต้องพัฒนาแอปพลิเคชั่นก็สามารถทำได้ครบหมดโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ เราอยากให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักศึกษาและองค์กรทั่วไปได้รู้ว่า Oracle ไม่ได้แพงอย่างที่คิด ของเราดีแต่ไม่แพงอย่างที่เข้าใจกัน และวันนี้เทคโนโลยีไปไกลมากโดยไม่ต้องจ่ายแพงแล้ว"

ท่ามกลางเสียงที่มองว่า Oracle ลูกค้าหด แต่ Oracle โชว์ตัวเลขว่าสามารถเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าได้ 12,000 ราย ซึ่งเป็นลูกค้าใหม่ ทั่วโลกในช่วงเวลา 5 ปี กลุ่มนี้ใช้บริการ On Premise หรือการติดตั้งระบบคลาวด์ของตัวเองในองค์กร แต่ตัวเลขนี้ยังน้อยกว่าจำนวนผู้ใช้บริการ Cloud ใหม่ที่มากกว่า 32,000 ราย บนอัตราการเติบโตของบริษัท 106%


ผู้บริหารยอมรับว่าการแข่งขันสูงในตลาด Data Center วันนี้มีส่วนทำให้ Oracle ต้องปฏิวัติตัวเอง จุดนี้ทวีศักดิ์ในฐานะ MD Oracle ที่รับตำแหน่งครบ 11 เดือน มองว่าความท้าทายในปีที่ 2 คือการผลักดันแนวคิด Experience Ecosystem ให้ทีมงานคนไทยสามารถสร้างประสบการณ์กับลูกค้าโดยไม่ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียว

"ถือเป็นความท้าทายใหม่ของผม เพราะตัวเทคโนโลยีเรามีเกินความต้องการ แต่สิ่งที่จะโฟกัสมากขึ้น คือการให้ลูกค้าเลือกเราเพราะประสบการณ์ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ Oracle มอบให้กับพนักงานทั่วโลกต้องโฟกัสในปีหน้า"

เป้าหมายปีหน้าที่ทวีศักดิ์มองนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ Oracle ประกาศในงาน Oracle Open World ผู้บริหารมองว่าสิ่งที่จะช่วยประเทศไทยได้มากคือ Private Cloud รูปแบบใหม่ที่จะตอบโจทย์ธุรกิจไทยได้มาก ส่วนที่ 2 คือฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริหารบริษัทไทยเช่นจะมีเครื่องมือครบทั้งด้าน AI และ ML จะมียูสเคสในไทยมากขึ้นซึ่งจะทำให้ตลาดขยายตัวมากขึ้น และส่วนที่ 3 คือ Always Free ซึ่งจะช่วยปรับลดความกลัวขององค์กรลงไปได้มาก

จากการพูดคุยกับองค์กรใหญ่ ทวีศักดิ์ระบุว่าองค์กรใหญ่มองสงครามการค้าเป็นเรื่องปกติ เพราะหากไม่มีสงครามราคาหรือวิกฤตการณ์อื่นทางเศรษฐกิจ ก็มักจะมีเรื่องอื่นที่ต้องปรับหรือดำเนินการอยู่แล้ว

"ไม่ใช่ว่าองค์กรใหญ่ไม่กังวล แต่เป็นเพราะองค์กรใหญ่มีกลไกจัดการอยู่แล้วและมีมาตรการในการชะลอการลงทุนได้ทันที แต่ในองค์กรกลางอาจจะยังมีการปรับพนักงานออก ขณะที่องค์กรเล็กอาจจะต้องปรับตัวมากขึ้น"

ทั้งหมดจึงวนกลับมาที่เทคโนโลยี ในฐานะตัวช่วยที่ธุรกิจส่วนใหญ่คิดถึง.
กำลังโหลดความคิดเห็น