จากกลุ่มตัวอย่าง 113 องค์กรไทย พบว่าองค์กรที่มีการจัดตั้งทีมงานและเริ่มดำเนินการพัฒนาระบบ AI บนความรู้ความเข้าใจ AI ในชั้นดีนั้นมีสัดส่วนเพียง 11.60% เท่านั้น ตัวเลขนี้ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มใหญ่ 49.11% ที่เริ่มส่งบุคลากรเข้าอบรม และ 30% ที่เริ่มมีบุคลากรผ่านการอบรมบ้างแล้ว โดยองค์กรที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจใน AI และไม่เคยมีบุคลากรผ่านการอบรม AI เลยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.93%
รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) กล่าวถึงผลการสำรวจบุคลากรขององค์กรไทยในช่วงกันยายน 2019 โดยมีกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 113 รายจากองค์กรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และโรงงานอุตสาหกรรม ว่าธุรกิจไทยเริ่มนำ AI เข้ามาใช้งานในหลายด้าน ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า การแนะนำสินค้าให้ลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง การตรวจสอบการฉ้อโกงทางการเงิน การให้คำแนะนำการลงทุนในสถาบันการเงินผ่านระบบอัตโนมัติ และการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์
นอกจากนี้ยังมีการใช้ AI เพื่อป้อนข้อมูลจำนวนมากแบบอัตโนมัติ การใช้งานประมวลผลภาษา เช่น การแปลภาษา หรือการทำ Chatbot รวมถึงเทคโนโลยีจดจำใบหน้า
“3 งานที่องค์กรไทยนำ AI มาใช้มากที่สุดคือระบบแชตอัตโนมัติ Chatbot, ระบบป้อนข้อมูลอัตโนมัติ RPA (Robot Process Automation) และอันดับที่ 3 คือด้านการตลาด การแบ่งเซ็กเมนต์ของผู้บริโภค”
การสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างไทยเกิน 60% ตั้งใจทำ Chatbot ระบบ AI ขณะที่ 49% ต้องการพัฒนาระบบ RPA ใกล้เคียงกับระบบ Marketing/ Customer Segmentation ที่ครองส่วนแบ่ง 48% โดยส่วนใหญ่ 64.29% ระบุว่าจะเลือกใช้กูเกิลคลาวด์ (Google Cloud) เป็นระบบคลาวด์เมื่อองค์กรต้องการลงทุนด้าน AI รองลงมาเป็นคลาวด์มาตรฐานเปิด หรือ Opensource อีก 48.21% และไมโครซอฟท์อาซัวร์ (Microsoft Azure) ราว 41.07% ขณะที่อะเมซอนเว็บเซอร์วิสเซส (Amazon Web Services) ครองอันดับ 4 ด้วยสัดส่วน 38.39%
องค์กรไทย 11% เข้าใจ AI ดี
การสำรวจชี้ชัดว่าองค์กรไทยเกือบครึ่งหนึ่ง (49.11%) มีความรู้ความเข้าใจ AI ในระดับเริ่มต้น ขณะที่ 30.36% มีความรู้ความเข้าใจ AI ในระดับพอใช้ ถือว่า 2 กลุ่มนี้มีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับองค์กรที่มีความรู้ความเข้าใจ AI ในชั้นดีเพียง 11.60% ด้านองค์กรที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจใน AI เลยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.93%
อย่างไรก็ตาม 74.11% ของกลุ่มตัวอย่างไทยยอมรับว่า AI จะมีผลกระทบทำให้อุตสาหกรรมในธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยมีเพียง 16.07% เท่านั้นที่คิดว่ามีผลเพียงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือตอบว่าไม่แน่ใจหรือคิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มการดำเนินการด้าน AI ขององค์กรไทยส่วนใหญ่เป็นการจ้างบุคคลภายนอก (outsource) ราว 40.18% รองลงมาเป็นการดำเนินการเองในบริษัท (in house) 32.14% นอกจากนี้ 17.86% ของกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีจัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูป
เมื่อถามว่ามีการนำ AI มาใช้ในองค์กรหรือยัง กลับพบว่ามีองค์กรเพียง 10.70% เท่านั้นที่ใช้งาน AI แล้ว ขณะที่อีก 25.9% ระบุว่ากำลังอยู่ในแผนดำเนินการ และ 39.29% กำลังดำเนินการศึกษา ซึ่งหากมีการนำ AI ไปประยุกต์ใช้ในองค์กร ราว 60.71% เลือกทำ Chatbot ตามมาด้วยระบบอัตโนมัติ RPA 49.11% รองลงมาเป็นระบบแบ่งกลุ่มลูกค้า ระบบจดจำใบหน้า ระบบป้องกันการล่อลวง ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล และระบบอื่นๆ
ในภาพรวม การสำรวจชี้ว่าผู้บริหารระดับสูงในองค์กรไทย 50% เห็นความสำคัญของการนำ AI มาประยุกต์ใช้เป็นพิเศษ ขณะที่ 35.1% ตอบว่าสำคัญปานกลาง และ 14.29% ยังไม่ให้ความสำคัญและยังไม่มีการกล่าวถึง AI ในองค์กร
Digital Transformation ปีหน้าเปลี่ยนชัด
ผลสำรวจความพร้อมด้าน AI ขององค์กรไทยนี้สอดคล้องกับแนวโน้มดิจิทัลปี 2020 ที่สถาบันมองว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมุมมองของ Digital Transformation โดยเทรนด์ที่สถาบันเห็นคือการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่อุตสาหกรรมมักมองเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่เมื่อเทรนด์เทคโนโลยีในยุคนี้ยังคงต่อยอดบนเทคโนโลยีชื่อเดิมและไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด ประเด็นจึงอยู่ที่การนำไปใช้งานมากกว่า
“Digital Transformation ปี 2020 จะมีอะไรมากกว่าแค่เทคโนโลยี เทรนด์คือการทำ Digital Transformation โดยเน้นประเด็นสำคัญอื่น เช่นการโฟกัสที่การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร การสร้างแผนกหรือหน่วยธุรกิจใหม่ การจัดการองค์กร การพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้า และการยกระดับความคิดของผู้นำ ส่วนที่แตกต่างคือการเอาเทคโนโลยีมาจับใน 6-7 เรื่องนี้ กลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจควรทำในอนาคต”
ทิศทางของวงการ Digital Transformation ปี 2020 เรื่องการเน้นให้ความสำคัญกับองค์ประกอบรอบด้านจะถูกนำมาเจาะลึกในงานสัมมนาประจำปีที่สถาบันไอเอ็มซีจัดขึ้นเป็นปีที่ 7 ในหัวข้อ “Digital Trends 2020 : The 7 Elements of Digital Transformation” ไขเคล็ดลับการทำ Digital Transformation ให้ประสบความสำเร็จ บรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในหลายแวดวง ระหว่างวันที่ 17 - 18 ธันวาคม 2562 เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด ถนนรัชดาภิเษก (MRT ห้วยขวาง)