การประชุมเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาต่อสาธารณะ “โครงการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย” ได้รับเกียรติจาก พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ให้เกียรติเป็นประธาน
รศ.ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยเรื่องนี้ว่า เพื่อสำรวจและวิเคราะห์พฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทยในทุกช่องทางหลัก ได้แก่ การบริโภคสื่อภาพเคลื่อนไหว การบริโภคสื่อทางเสียง การบริโภคสื่อออนไลน์ การบริโภคสื่อสิ่งพิมพ์ การบริโภคสื่อในโรงภาพยนตร์ การบริโภคสื่อกลางแจ้งและสื่อกลางแจ้งแบบเคลื่อนที่ได้ ตลอดจนวิเคราะห์และเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและแนวโน้มในการบริโภคสื่อของไทยในอนาคต ทำให้การศึกษาในครั้งนี้เป็นผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคสื่อของไทยที่ครอบคลุมทุกประเภทสื่อ และเป็นเจ้าล่าสุด
การศึกษาใน “โครงการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย” นี้ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการร่วมกับสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ใช้วิธีการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ โดยแบ่งพื้นที่เป็น 5 ภูมิภาคตามเกณฑ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งมีพื้นที่จังหวัดที่ตกเป็นตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้จำนวน 26 จังหวัด
ผลการสำรวจที่เป็นไฮไลท์คือเรื่อง Digital Divide ที่เกิดจากความแตกต่างด้านอายุ (Generation Divide) รายได้ และระดับการศึกษา รวมทั้งการพยากรณ์แนวโน้มในอนาคตว่า การเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอล (Digitalization) ในการบริโภคสื่อของไทยจะเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากประชากรสูงอายุของไทยจะยังคงมีความต้องการรับสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่
ทั้งนี้ ผลการสำรวจสามารถสรุปเป็นประเด็นค้นพบที่สำคัญ (Key Findings) หลายประเด็น เช่น การบริโภคสื่อของไทยมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเจเนอเรชัน ปัจจัยด้านรายได้และการศึกษามีผลต่อความแตกต่างของพฤติกรรมการบริโภคสื่อ สื่อสิ่งพิมพ์ถือเป็นสื่อที่สะท้อนสถานการณ์ Digital Disruption มากที่สุด และจากการพยากรณ์โดยใช้ Cohort Study พบว่า การลดลงของอัตราการเกิดและการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทย ทำให้การเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอลในการบริโภคสื่อในอนาคตเป็นไปอย่างช้าๆ และกลุ่มผู้สูงอายุจะยังคงมีความต้องการรับสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่
ผลจากการสำรวจครั้งนี้ทำให้สังคมได้รู้ว่าปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคสื่อของไทยเป็นอย่างไรและเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้ และส่วนธุรกิจจะได้เตรียมตัวในอนาคตได้อย่างถูกต้อง