xs
xsm
sm
md
lg

'สุรางคณา ' โบกมือลา ETDA สู่การเป็น สตาร์ทอัป พันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'สุรางคณา' เผยจุดอิ่มตัวทำงาน ETDA 9 ปี มั่นใจองค์กรเดินหน้าสู่ปีที่ 10 ได้ภายใต้กฎหมายใหม่ ขอผันตัวออกมาตั้งบริษัท สตาร์ทอัป รูปแบบใหม่ ที่จะกลายเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของเมืองไทย พร้อมโชว์ผลงาน 9 ปี ETDA ขับเคลื่อนงานด้านอี-คอมเมิร์ซ แบบมีนัยสำคัญ

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA หน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตนเองได้ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ ETDA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2562 หลังจากที่ทำงานในองค์กรดังกล่าวมาเป็นเวลา 9 ปี พร้อมด้วย นางสาวจิตใส เก่งสาริกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และ นายสรณันท์ จิวะสุรัตน์ รองผู้อำนวยการ เพื่อไปตั้งบริษัทใหม่ คือ บริษัท บีเทค เทคคอมพานี จำกัด โดยมีแผนจะเปิดตัวบริษัทในวันที่8 ม.ค. 2563

สำหรับบริษัทดังกล่าว ตนเองและทีมงานตั้งใจว่าจะเป็นบริษัทสตาร์ทอัป บริษัทแรกของเมืองไทยที่เป็นยูนิคอร์น เนื่องจากรูปแบบของบริษัทนั้นจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมการทำงานสตาร์ทอัปแบบเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่าสตาร์ทอัปในเมืองไทย ยังคงเป็นเพียงแค่ซอฟต์แวร์ เฮาส์ ไม่ใช่ เทคคอมพานี ดังนั้นจึงไม่สามารถสร้างลิขสิทธิ์และต่อยอดได้ จึงมักจะเห็นว่าสตาร์ทอัปเมืองไทยมักเป็นเพียงแค่การทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ เพื่อขายบริษัททิ้งให้บริษัทรายใหญ่ หรือ ต่างชาติ อยู่เสมอ

สาเหตุที่สตาร์ทอัปของไทยไม่เติบโตและแข่งกับต่างชาติไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ที่การไม่มีนายทุนเพราะต้องยอมรับว่านายทุนคนไทยมีจำนวนมากที่พร้อมจะลงทุนกับสตาร์ทอัป แต่เขายังไม่เห็นความต่างที่จะต่อยอดได้ ดังนั้น สตาร์ทอัปของเราจะเป็นทีมที่ทำงานกับทีมต่างๆ เบื้องต้นจะมีประมาณ 10 ทีม ซึ่งเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน อาทิ บล็อกเชน , การทำบัญชี, การคิดค้นนวัตกรรม เพื่อทำหน้าที่ในการซื้อสตาร์ทอัปที่น่าสนใจและต่อยอดเป็นลิขสิทธิ์ต่อไปได้ โดยที่เจ้าของผลงานมีสิทธิ์เป็นผู้บริหารร่วม เพื่อให้มีจุดโฟกัสในการทำงานต่อเนื่อง และเมื่อบริษัทมีกลุ่มสตาร์ทอัปที่รวมตัวกันก็จะทำให้สามารถบริหารจัดการด้านสิทธิประโยชน์และภาษีได้ เพื่อลดข้อด้อยของกฎหมายไทยที่ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ดังกล่าวได้ ทำให้สตาร์ทอัปต้องไปจดทะเบียนที่ประเทศสิงคโปร์เพราะต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี

นางสุรางคณา กล่าวว่า แม้ว่าตนเองจะไม่ได้เป็นผู้อำนวยการที่ ETDA แล้ว แต่ก็เชื่อมั่นว่าได้วางวัฒนธรรมองค์กรไว้อย่างมั่นคงแล้ว องค์กรจะยังไม่เปลี่ยนแปลงและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งนับตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งมาเมื่อปี 2554 จากองค์กรตาม พ.ร.ฎ. สู่องค์กรตาม พ.ร.บ. ในปี 2562 กับการเดินทางมาถึงปีที่ 9 และก้าวต่อไปในปีที่ 10 ที่จะเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง การทำงาน และโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งเรื่องบล็อกเชน (Blockchain) เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ แมชชีนเลิร์นนิง รวมทั้งเรื่องบิ๊ก ดาต้า (Big Data)

'งานทั้งหมดจะเร่งสปีดไม่ได้เลย หากขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างเรื่องกฎหมาย ซึ่งการมีทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2562 ทำให้บทบาทของ ETDA ชัดเจนขึ้น สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมทางออนไลน์ของประเทศ'

ที่ผ่านมา ตลอดเกือบ 9 ปี ETDA ได้ขับเคลื่อนงานสำคัญมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เช่นงานกลุ่มสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ที่ ETDA ทำมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเทศไทย, การสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต, ข้อมูลด้าน e-Payment และ e-Trading and Service เพื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ของธุรกรรมออนไลน์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ETDA ได้มีส่วนรวมในการขับเคลื่อนชุดกฎหมายดิจิทัลกับกระทรวงดีอีเอสจนเกิดผลเป็นรูปธรรมทั้งหมดในปี 2562 พร้อมจัดทำมาตรฐาน ที่ถือเป็นแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับระดับสากล เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างกันได้ รวมทั้งพัฒนาบริการที่สอดคล้องกับมาตรฐานข้างต้น เช่น ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือ หรือ TEDA (Trusted Electronic Document and Authentication) ช่วยในการแปลงแบบฟอร์มราชการเดิมให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ที่นำข้อมูลมาใช้ต่อได้ กำหนดแนวทางว่า การลงนามเอกสาร การจัดเก็บเอกสารระยะยาว ที่เป็น e-Document ว่าจะต้องทำอย่างไร

อีกทั้งยังมีบริการประทับรับรองเวลา (e-Timestamping) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ e-Document ทำให้มั่นใจว่าข้อมูลนั้นสร้างขึ้น ณ เวลาใด โดยอาศัยกลไกการอ้างอิงเวลาของคนกลาง

นอกจากนี้ยังพัฒนามาตรฐานข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ใบเพิ่มหนี้/ลดหนี้อิเล็กทรอนิกส์ ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ (e-Invoice) และใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อย่างย่อให้กรมสรรพากรด้วย รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ด้วยการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการทำอีคอมเมิร์ซ ตลอดจนจับมือกับภาคการศึกษา ในการผลักดันให้นิสิตนักศึกษาเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดออนไลน์

'งานสำคัญที่จะเร่งเดินหน้าในการก้าวไปสู่ทศวรรษที่สองของ ETDA คือ การเตรียมพร้อมประเทศให้รับความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น โดยมี 2 ธุรกิจบริการที่ควรผลักดันให้มีการกำกับดูแลโดยเร็ว คือ การกำกับดูแลผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนอกจากการยกระดับของผู้ประกอบการแล้ว ยังทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างระบบในทางเทคนิคของผู้ให้บริการแต่ละราย และการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลหรือ Digital ID ซึ่งปัจจุบันถือเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อขั้นตอนการทำธุรกรรมทางออนไลน์ของประชาชนซึ่งจำเป็นต้องดูแลให้ระบบน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย และรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น บล็อกเชนได้'


กำลังโหลดความคิดเห็น